กษัตริย์ซาอุดีอาระเบียทรงแต่งตั้งคณะกรรมการปราบปรามการทุจริต พร้อมปรับคณะรัฐมนตรี หลังมีคำสั่งจับกุมเจ้าชาย 11 พระองค์ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต รวมถึงเจ้าชายอัลวาลีด บิน ทาลาล นักลงทุนรายใหญ่
สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบีย ทรงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เมื่อวานนี้ (4 พฤศจิกายน) โดยเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมาร ทรงเป็นประธานคณะกรรมการดังกล่าว และทรงมีอำนาจในการจับกุม ควบคุมตัว และไต่สวนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตได้อย่างเต็มที่
มกุฎราชกุมารบิน ซัลมาน ทรงสั่งจับกุมเจ้าชายทั้งหมด 11 พระองค์ ในข้อหาเกี่ยวพันกับการทุจริต โดยเจ้าชาย 4 พระองค์ทรงเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดปัจจุบัน และที่เหลือเป็นอดีตรัฐมนตรี ขณะที่เจ้าชายอัลวาลัด บิน ทาลาล ประธานบริษัทคิงดอม โฮลดิงส์ บริษัทด้านการลงทุนชื่อดังของซาอุดีอาระเบียที่มีหุ้นใหญ่ในหลายบริษัททั่วโลก เป็นหนึ่งในผู้ถูกสอบสวนในครั้งนี้ด้วย
สำนักข่าวอัลอาราเบียรายงานว่า มกุฎราชกุมารบิน ซัลมาน ทรงมีคำสั่งให้รื้อฟื้นการไต่สวนแผนบริหารจัดการงบประมาณที่ใช้ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมในนครเจดดาห์เมื่อปี 2009 (พ.ศ.2552) และงบประมาณที่ใช้ในการควบคุมและป้องกันไวรัสเมอร์สที่แพร่ระบาดในซาอุดีอาระเบียเมื่อปี 2012 (พ.ศ.2555) โดยทรงตรัสว่า การสอบสวนคดีทุจริตครั้งนี้จะเป็นการเอาผิดผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพราะไม่มีผู้ใดอยู่เหนือกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าชายหรือรัฐมนตรี
(มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ตรัสว่า "ไม่มีผู้ใดอยู่เหนือกฎหมาย" ไม่ว่าจะเป็นเจ้าชายหรือรัฐมนตรี)
ส่วนเดอะนิวยอร์กไทม์ส สื่อของสหรัฐฯ รายงานว่าสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานทรงมีพระราชกฤษฎีกาแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งใหม่ในรัฐบาล ซึ่งรวมถึงรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ ขณะที่เจ้าชายคาเล็ด บิน อัยยาฟ ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความมั่นคงแห่งชาติ แทนเจ้าชายไมเต็บ บิน อับดุลเลาะห์ ซึ่งดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาเป็นเวลานาน
สื่อสหรัฐฯ ประเมินว่าการจับกุมและปราบปรามเจ้าชายและรัฐมนตรีหลายรายในครั้งนี้จะทำให้มกุฎราชกุมารบิน ซัลมาน ทรงมีอำนาจในการบริหารประเทศอย่างรอบด้านมากขึ้น นับตั้งแต่พระองค์ทรงได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นองค์รัชทายาทแทนเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยการปรับเปลี่ยน ครม.ในครั้งนี้จะช่วยให้พระองค์ทรงเป็นผู้ควบคุมทั้งกองทัพ เศรษฐกิจ นโยบายต่างประเทศ และการจัดระเบียบสังคมได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น
ทั้งนี้ มกุฎราชกุมารบิน ซัลมาน ทรงเป็นพระโอรสในสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน และมีพระชนมายุเพียง 32 พรรษา ส่วนเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ ผู้ทรงเป็นอดีตรัชทายาท เป็นพระราชภาติยะ (หลาน) ของสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน และทรงมีพระชนมายุ 58 พรรษา
การเปลี่ยนรัชทายาทจากเจ้าชายบิน นาเยฟ เป็นเจ้าชายบิน ซัลมาน ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ในฐาอุดีอาระเบียและรัฐบาลอีกหลายประเทศ เพราะมกุฎราชกุมารพระองค์ปัจจุบันทรงมีนโยบายส่งเสริมความเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวของราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ แต่พระองค์ทรงถูกวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมระหว่างประเทศอยู่บ้าง เพราะทรงเป็นผู้ออกคำสั่งให้กองทัพซาอุดีอาระเบียเข้าร่วมในการปราบปรามกองกำลังติดอาวุธในประเทศเยเมน ซึ่งองค์กระหว่างประเทศระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษชน
เรียบเรียงโดย ตติกานต์ เดชชพงศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: