ไม่พบผลการค้นหา
คุณเคยอ่านนิยายแชตบนโมบายล์แอปฯ แล้วหรือยัง? ถ้ายัง คุณก็ไม่ใช่วัยรุ่นจริงๆ แล้วล่ะ!

คุณเคยอ่านนิยายแชตบนโมบายล์แอปฯ แล้วหรือยัง? 
ถ้ายัง คุณก็ไม่ใช่วัยรุ่นจริงๆ แล้วล่ะ!

นี่ไม่ใช่คำพูดเกินจริงเลย แต่ด้วยอัตราเร่งจากความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีลูกเล่นแพรวพราว ส่งผลให้เมื่อ 12 สัปดาห์ก่อน โลกหมุนมาถึงจุดที่แอปพลิเคชันอ่านนิยายชื่อ ‘จอยลดา’ ขยับขึ้นมาเป็นของเล่นชิ้นใหม่ที่บรรดามิลเลเนียลถูกจริต และเข้าไปสิงสถิตอยู่เป็นจำนวนมาก 

หากพูดให้จำเพาะเจาะจงก็คงต้องบอกว่า ‘จอยลดา’ เป็นคลังนิยายออนไลน์น้องใหม่ไฟแรงที่ดังด้วยรูปแบบการเล่าเรื่องราวผ่านบทสนทนาของตัวละครในแชตรูม ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีของการกระตุ้นสัญชาตญาณความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ อารมณ์เหมือนกำลังแอบดูแชตหลุดของใครสักคนอยู่ อาจจะดูแปลกสำหรับนักอ่านที่ยังโปรดปรานกลิ่นกระดาษอยู่ เพราะเนื้อเรื่องแหกขนบด้วยข้อความสั้น ๆ บนหน้าจอสมาร์ตโฟน ผู้อ่านเพียงแค่แตะปุ่มเพลย์บนจอทัชสกรีน ข้อความก็จะทยอยไหลออกมาให้เสพอรรถรสผ่านบทสนทนาที่ง่ายและเร็ว ไม่ต้องเสียเวลาพร่ำเพ้ออารัมภบท หรือโชว์ลีลาลุ่มลึกให้สิ้นเปลืองค่าเน็ต

 


แน่นอนว่า จอยลดามาฉีกกรอบการอ่านนิยายไทยแบบเดิม แล้วชวนให้ใคร่ครวญถึงปรากฏการณ์อ่านรัว ๆ รวดเดียวจบ ที่สะท้อนไลฟ์สไตล์การสื่อสารกันแบบรวดเร็วของคนรุ่นใหม่ในปี 2017 ที่มีภารกิจแชตเป็นกิจวัตรประจำวันอยู่แล้ว

มากไปกว่านั้น จอยลดายังมีฟังก์ชั่นเลือกระดับความเร็วการไหลผ่านตา ทำให้นักอ่านพร้อมใจกันใช้เวลาชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่าหมดไปกับเรื่องราวประหลาด ๆ ซึ่งกำเนิดจากผู้คนธรรมดา ๆ ที่สามารถ ‘สร้าง’ คอนเทนต์จนกลายเป็นนักเขียนนิยายได้ง่าย ๆ แม้ยืนอยู่บนรถไฟฟ้า

 

อนาคตการอ่านนิยายสมัยใหม่

หลังจากดาวน์โหลดแอปฯ จอยลดามาสอดส่องความสัมพันธ์สักระยะ วอยซ์ทีวีไม่ลังเลที่จะต่อสายถึง หมู-ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ซีอีโอหนุ่มของอุ๊คบี (Ookbee) ผู้อยู่เบื้องหลังแอปฯ นิยายแชตรายแรกของประเทศไทย เพื่อถามหาจุดกำเนิดของ ‘ความสนใจใหม่’ ที่กำลังเป็นกระแสฮือฮา 

ณัฐวุฒิเล่าเท้าความให้ฟังว่า ก่อนจะพัฒนาแอปฯ จอยลดา อุ๊คบีพยายามปรับตัวตามไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่อยู่ตลอด ทำให้มีแพลตฟอร์มเกี่ยวกับการเขียนนิยาย และเขียนการ์ตูนออนไลน์อยู่แล้วคือ สตอรี่ล็อก อุ๊คบีคอมิกส์ และธัญวลัย ซึ่งทั้งหมดเกิดจากความเชื่อว่า คนรุ่นใหม่ไม่ได้อ่านน้อยลง แถมยังอ่านเพิ่มขึ้น เพียงแค่พวกเขาไม่ได้อ่านนิยายเป็นเล่มเหมือนก่อน แต่เลือกที่จะใช้เวลาหมดไปกับการอ่านคอนเทนต์บนสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์แทน ดังนั้นแอปฯ ที่จะประสบความสำเร็จต้องตอบโจทย์ แก้ปัญหา หรือเสนอสิ่งที่คนส่วนใหญ่กำลังต้องการ และนั่นดูจะเป็นหมัดเด็ดของจอยลดาที่ทำให้นักอ่านดำดิ่งจนไม่ยอมปล่อยมือจากสมาร์ตโฟนตั้งแต่ตื่นจนหลับ

“เพราะในอนาคตตัวหนังสืออาจจะไม่ได้พิมพ์ออกมาเป็นเล่มอีกต่อไป เนื่องจากทุกคนมีสมาร์ตโฟนติดตัวตลอดเวลา รวมถึงรูปแบบการเขียนก็เปลี่ยนไปมาก การเขียนข้อความสั้น ๆ ทำให้สะดวก และเข้าใจง่ายมากกว่า แอปฯ จอยลดาเลยถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นอนาคตของการอ่านนิยายสมัยใหม่ และทำให้เหมาะกับความเป็นปัจจุบัน"

“อย่างไรก็ตาม รูปแบบการเขียนแชตอาจจะเป็นเพียงแค่ก้าวแรก เพราะบางคนอาจจะไม่ได้มองจอยลดาเป็นนิยาย แต่เป็นประสบกาณ์การเล่าเรื่องมากกว่า ดังนั้น ความฝันของผมเลยอยากทำให้จอยลดาพัฒนามากไปกว่าแค่รูปแบบแชตด้วยซ้ำ” ณัฐวุฒิกล่าว

 

 

ส่วนด้านอัตราเติบโตของแอปฯ จอยลดาก็มีแนวโน้มน่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะนับเป็นโปรดักส์ไฟแรงสุดของอุ๊คบี ด้วยตัวเลขจำนวนนิยายทั้งหมด 190,000 เรื่อง 1,100,000 ตอน จากนักเขียนกว่า 100,000 คน และยอดผู้ใช้งานประมาณ 250,000 คนต่อวัน ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 3 เดือน ขณะเดียวกันมันยังสนับสนุนให้กับนักเขียนอิสระมีรายได้แบบบทต่อบท ไม่แพ้การเขียนหนังสือเป็นเล่มของสำนักพิมพ์ต่าง ๆ เลย 

ทว่าท่ามกลางจักรวาลอันกว้างใหญ่ของจอยลดา ข้อความนับหมื่นล้านคำจะมีหน่วยนับเป็น ‘จอย’ โดยหนึ่งกล่องข้อความที่เด้งออกมาบนหน้าแชตจะมีค่าเท่ากับหนึ่งจอย คล้ายกับยอดวิวแบบเรียลไทม์ ยิ่งใครมีอำนาจจอยมากเท่าไหร่ นั่นหมายถึงรายได้เป็นกอบเป็นกําที่จะไหลเข้าสู่กระเป๋า ซึ่งจะตัดยอดทุกวันในเวลาเที่ยงคืน แต่ปัจจุบันรายได้อาจจะยังน้อยมากอยู่ เนื่องจากเปิดให้ใช้บริการกันแบบฟรี ๆ ซึ่งอนาคตนักอ่านอาจจะเห็นโฆษณาโผล่มารบกวนจิตใจสักนิดหน่อย เพื่อแลกเป็นเงินให้นักเขียนมีกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานต่อไป

 

 

แฟนฟิคเกาหลียึดครองพื้นที่สูงสุด

ขณะเดียวกันความสดใหม่ของแอปฯ นิยายแชตทำให้ ปอนด์จ้า-สุธาสินี เลิศวัชระสารกุล นักเขียนฟรีแลนซ์วัย 27 ปี ได้เริ่มทำความรู้จักกับจอยลดาผ่านทางโซเชียลมีเดียเมื่อเดือนก่อน โดยเธอประเดิมอ่านข้ามวันข้ามคืนด้วย ‘ไพรเวทหวี’ ฟิคเกาหลีที่แต่งจากแฟนคลับของรายการโปรดิวซ์ 101 จนถูกแชร์กระหน่ำบนไทม์ไลน์ และปัจจุบันเธอยังอ่านนิยายแชตไปแล้วกว่า 40 เรื่อง ซึ่งหากนับเป็นจำนวนจอยก็คงเดินหน้าเข้าสู่หลักสิบล้าน 

“อ่านไป กินข้าวไป มารู้ตัวอีกทีก็ถึงเวลานอนอีกรอบแล้ว คือตอนแรกที่อ่านไพรเวทหวียังไม่รู้จักตัวละครเลย แต่ผู้แต่งเก่งมากที่เลือกใช้ตัวละครทั้งหมดจากรายการโปรดิวซ์ 101 เรียลลิตีค้นหาเกิร์ลกรุ๊ปของประเทศเกาหลีใต้ ทำให้เรื่องมีความสมจริงสูง เป็นธรรมชาติ ดึงนักอ่านกลุ่มมัธยมที่เป็นแฟนฟิคเกาหลีเข้ามาได้เยอะมาก” สุธาสินีกล่าว

 

 

น่าแปลกใจตรงที่ แม้จอยลดาจะเป็นแอปฯ นิยายแชตที่สร้างขึ้นมาเสิร์ฟนักอ่านหลากสาย หลายรส แต่ฟิคเกาหลีกลับยึดครองพื้นที่สูงสุด ๆ โดยสัดส่วนมากเกินครึ่งของนิยายแชต ซึ่งสุธาสินีให้ความเห็นว่า จริง ๆ แล้วจอยลดามีความลิงก์กับทวิตเตอร์อยู่มาก โดยผู้คนส่วนใหญ่ที่อ่านจอยลดาจะเป็นติ่งเกาหลีบนทวิตเตอร์ และจอยลดาเคยเป็นกระแสบนหน้าทวิตเตอร์ประมาณว่า หลังจากคนอ่านจอยลดาแล้วทำให้การอ่านนิยายแบบเดิม ๆ เปลี่ยนไป เพราะรูปแบบที่เป็นบทสนทนาล้วน ๆ ได้ทำลายจินตนาการของนักอ่านอยู่เหมือนกัน 

เมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่างการอ่านนิยายแบบเดิม ๆ และนิยายแชตบนจอยลดา คำตอบคือ นิยายแบบเดิมทำให้ได้อารมณ์ ความรู้สึก และคิดไปพร้อมกับตัวละคร แต่จอยลดาให้ความรู้สึกเหมือนกำลังแบบอ่านแชตของคนอื่น สอดรู้สอดเห็นเรื่องของคนอื่น หรือเป็นส่วนหนึ่งในกรุ๊ปแชตที่เพื่อนกำลังคุยกันสนุกมาก ๆ และนั่นเป็นความฟินของนักอ่านรุ่นใหม่ แต่พออ่านไปสักพักมันก็จะโหยหาการอ่านนิยายแบบเดิม

“หลังจากเข้าไปคลุกตัวอยู่กับจอยลดามาสักระยะหนึ่ง พอหันกลับมาอ่านนิยายที่พรรณาฉาก หรือบรรยายตัวละคร ทำให้รู้สึกเหมือนตัวเองสมาธิสั้นลง แต่อีกมุมหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า นิยายแบบเดิม ๆ ยังคงตอบโจทย์เรื่องอารมณ์ ความรู้สึก ได้ครบทุกกระบวนท่า” 

 

ศาสตร์แห่งการสอดรู้สอดเห็น

บางคนอาจมองว่า เรื่องของคนอื่นน่าสอดรู้สอดเห็นตรงไหน ไร้สาระ เอาเวลาไปสร้างความก้าวหน้าให้กับตัวเองยังดีเสียกว่า แต่ฟากของ เมย์-ธิดาพร พฤกษมาศวงศ์ คอมมูนิตี้ เมเนเจอร์ ผู้ดูแลแอปฯ จอยลดา แสดงทัศนะว่า นิยายรูปแบบแชตเรื่องที่กำลังได้รับความนิยมมาก อย่าง ‘กุเชอร์รี่’ นิยายวายที่จำลองชีวิตตัวละครมาจากวงเคป๊อป เอ็นทีซี (NCT) ซึ่งมีปมอะไรบางอย่างที่ทำให้นักอ่านสงสัย และอยากติดตามต่อไปเรื่อย ๆ ด้วยความที่พวกเขายังไม่แน่ใจ ว่าแท้จริงแล้วตัวละครที่ ‘เชื่อมโยง’ กับชีวิตจริงจะต้องเจอกับอะไร ส่งผลให้เกิดเป็นความน่าตื่นเต้น อยากรู้อยากเห็น

โดยเฉพาะในกลุ่มหนุ่มสาวสายเผือกที่มีอินเทอร์เน็ตเป็นแกนสมอง และโซเชียลมีเดียเป็นเส้นเลือดใหญ่ พวกเขากระหายอารมณ์สอดรู้สอดเห็นเรื่องของคนที่ตนเองชื่นชอบ จนบางครั้งมีการไปคอมเมนต์กันในไอจีส่วนตัวของศิลปินกันจริง ๆ บวกกับรูปแบบที่เป็นเหมือนการนำแคปแชตมาแชร์กัน ยิ่งช่วยให้กระแสของจอยลดาแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันมีคนเข้ามาจอยกันมากถึง 800 ล้านครั้งต่อวัน

 

 

นอกจากต้องรับมือกับความท้าทายที่เกิดจากการแข่งขัน ยังมีการเผชิญหน้ากับแรงกดดันเรื่องลิขสิทธิ์ที่ผู้ดูแลแอปฯ อ่านนิยายแชตต้องให้ความสนใจอีกด้วย 

“ทุกแพลตฟอร์มที่เผยแพร่นิยายบนออนไลน์น่าจะกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาคล้าย ๆ กันคือ การละเมิดลิขสิทธิ์ บางครั้งผู้ใช้งานก็ละเมิดกันเอง ซึ่งในฐานะผู้ดูแลแพลทฟอร์มเราต้องพยายามดูแล และพิสูจน์ความจริง เพื่อให้ทั้งนักเขียน และนักอ่านสบายใจกันทุกฝ่าย"

"ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ของจอยลดาเป็นเด็ก ๆ วัยมัธยม ซึ่งพวกเขาอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์ดีเท่าไหร่ พอเห็นเรื่องไหนดังก็แต่งตามจนเกินไปกว่าคำว่า ‘แรงบันดาลใจ’ เสียอีก และด้วยความที่เป็นแอปฯ ที่วัยรุ่นให้ความสนใจล้นหลาม ดังนั้น เนื้อหา รูปภาพ แนวลามกอนาจารก็ต้องคอยตรวจสอบด้วย โดยเบื้องต้นเป็นการขอความร่วมมือให้ผู้ใช้งานมาช่วยกันตรวจสอบ บวกกับมีทีมงานคอยสอดส่องอีกทางหนึ่งด้วย” ธิดาพรกล่าวทิ้งท้าย

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog