ไม่พบผลการค้นหา
ผู้นำสหรัฐฯ เตรียมเดินทางเยือน 5 ประเทศในเอเชีย เพื่อผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศ และหารือมาตรการกดดันเกาหลีเหนือให้ยุติโครงการขีปนาวุธและนิวเคลียร์ แต่อดีตทูตเกาหลีเหนือแปรพักตร์ระบุว่าเรื่องนี้ 'เป็นไปได้ยาก'

ผู้นำสหรัฐฯ เตรียมเดินทางเยือน 5 ประเทศในเอเชีย เพื่อผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศ และหารือมาตรการกดดันเกาหลีเหนือให้ยุติโครงการขีปนาวุธและนิวเคลียร์ แต่อดีตทูตเกาหลีเหนือแปรพักตร์ระบุว่าเรื่องนี้ 'เป็นไปได้ยาก'

นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 3-14 พฤศจิกายน เพื่อหารือด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเมือง แต่นักวิเคราะห์คาดว่า ประเด็นสำคัญที่สุดคือการหามาตรการกดดันเกาหลีเหนือให้ยุติโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธ ซึ่งนายทรัมป์จะเจรจากับผู้นำแต่ละประเทศที่เขาเดินทางไปเยือน โดยเฉพาะจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเมื่อเกิดสถานการณ์ตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี

อย่างไรก็ตาม นายแทยงโฮ อดีตเอกอัครราชทูตเกาหลีเหนือประจำอังกฤษ ซึ่งแปรพักตร์ไปยังเกาหลีใต้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ได้อภิปรายสถานการณ์ด้านเกาหลีเหนือที่สถาบันซีเอสไอเอส (CSIS) ซึ่งเป็นศูนย์ศึกษาด้านยุทธศาสตร์และนโยบายระหว่างประเทศในกรุงวอชิงตันดีซีของสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ (1 พฤศจิกายน) โดยเขาระบุว่า เกาหลีเหนือจะไม่มีทางยุติโครงการพัฒนาศักยภาพนิวเคลียร์และขีปนาวุธ เพราะนายคิมจองอึนซึ่งดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุด จำเป็น ต้องใช้อาวุธอานุภาพร้ายแรงในการสร้างอำนาจต่อรองทั้งระหว่างประเทศและภายในประเทศ

นายแทระบุว่าก่อนหน้านี้ ผู้ดำรงตำแหน่งอาวุโสในกองทัพเกาหลีเหนือส่วนใหญ่มองว่านายคิมขาดความชอบธรรมที่จะสืบทอดอำนาจจากนายคิมจองอิลผู้เป็นบิดา ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมไปเมื่อปี 2012 เพราะเขาเป็นลูกชายคนที่ 3 จึงไม่ใช่ผู้สืบทอดอำนาจลำดับแรก แต่เป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับนายคิมจองอิลมากที่สุด อีกทั้งขณะนั้นเขายังมีอายุได้ประมาณ 28 ปี ซึ่งถือว่าน้อยมาก และยังไม่ได้เรียนรู้ประสบการณ์การทำงานจากบิดามากนัก การปกครองประเทศของนายคิมจองอึนในระยะแรกจึงไม่ได้รับความร่วมมือจากคนในรัฐบาลและกองทัพ เขาจึงสั่งกวาดล้างผู้ต่อต้านด้วยวิธีการรุนแรงในปี 2013 โดยผู้ที่ถูกกำจัดรวมถึงญาติผู้ใหญ่ของเขาเองด้วย

นอกจากนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศลิเบียเมื่อปี 2011 ซึ่งมีการลุกฮือต่อต้านมูอัมมาร์ กัดดาฟี อดีตผู้นำเผด็จการ เปิดทางให้ประเทศตะวันตกเข้าไปแทรกแซงทางการเมือง รวมถึงปรากฎการณ์ 'อาหรับสปริง' ที่นำไปสู่การขับไล่รัฐบาลในประเทศอาหรับ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นายคิมจองอึนไม่อาจล้มเลิกโครงการขีปนาวุธและพัฒนานิวเคลียร์ได้ เพราะจะทำให้เกาหลีเหนือไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ กับการแทรกแซงจากภายนอก 

ถ้าหากนานาประเทศต้องการช่วยเหลือประชาชนเกาหลีเหนือให้รอดพ้นจากการปกครองที่ไม่เป็นธรรม นายแทแนะนำให้ใช้การศึกษาและอำนาจทางวัฒนธรรม หรือ Soft Power จะได้ผลมากกว่าการกดดันทางทหารหรือทางเศรษฐกิจ เพราะจะช่วยทำให้คนในประเทศเปลี่ยนแปลงทัศนคติและหันมาตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว โดยเขาได้ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตรง ซึ่งลูกของเขาได้รับการศึกษาในโลกตะวันตกมาตลอด การจะพาครอบครัวกลับไปใช้ชีวิตที่เกาหลีเหนืออีกจึงเป็นเรื่องยาก เขาจึงตัดสินใจแปรพักตร์จากเกาหลีเหนือ แม้ว่าจะมีตำแหน่งทางการทูตระดับสูงและได้ประจำการอยู่ในอังกฤษก็ตาม

ด้านสำนักข่าวเคซีเอ็นเอของเกาหลีเหนือ เผยแพร่แถลงการณ์ของรัฐบาลที่ตอบโต้สถานีโทรทัศน์อาซาฮีของญี่ปุ่น ซึ่งรายงานว่าการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ใต้ดินครั้งที่ 6 ของเกาหลีเหนือในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งยังทำให้เกิดดินถล่มปิดอุโมงค์ใต้ดินในกรุงเปียงยางซึ่งถูกใช้เป็นสถานที่ทดสอบระเบิด และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 ราย แต่เคซีเอ็นเอระบุว่า สื่อญี่ปุ่นรายงานข้อมูลเท็จ โดยจงใจบิดเบือนความก้าวหน้าด้านนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวรอยเตอร์ได้สอบถามความคิดเห็นประชาชนใน 5 ประเทศที่เป็นเป้าหมายการเดินทางเยือนของทรัมป์ในครั้งนี้ พบว่าประชาชนในแต่ละที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันออกไป โดยชาวจีนจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยที่ทรัมป์บอกว่าจะสร้างอเมริกาให้ยิ่งใหญ่ เพราะในอนาคตจีนน่าจะยิ่งใหญ่กว่าอเมริกา ทรัมป์จึงน่าจะทำความเข้าใจจีนให้มากกว่านี้ 

ส่วนชาวฟิลิปปินส์มองว่าทรัมป์กับนายโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ มีนิสัยคล้ายกัน น่าจะเข้ากันได้ดี เช่นเดียวกับชาวเวียดนามที่ระบุชอบอุปนิสัยเปิดเผยของทรัมป์ ขณะที่ชาวเกาหลีใต้ค่อนข้างดีใจที่ทรัมป์ไปเยือน เพราะสองประเทศจะได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น เพื่อเผชิญหน้ากับภัยนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือไปพร้อมกัน แต่ชาวญี่ปุ่นอยากให้ทรัมป์หารือกับผู้นำญี่ปุ่นเรื่องสันติภาพ และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดสงครามมากกว่า 

เรียบเรียงโดย ตติกานต์ เดชชพงศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog