ไม่พบผลการค้นหา
ฉีกกฎเวทีประกวดนางงาม เมื่อผู้จัดยกเลิกการบอกสัดส่วนของผู้เข้าประกวดขณะเดินโชว์ชุดว่ายน้ำ แต่เปลี่ยนไปพูดถึง 'สถิติอาชญากรรมทางเพศ' ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศเปรูแทน

ฉีกกฎเวทีประกวดนางงาม เมื่อผู้จัดยกเลิกการบอกสัดส่วนของผู้เข้าประกวดขณะเดินโชว์ชุดว่ายน้ำ แต่เปลี่ยนไปพูดถึง 'สถิติอาชญากรรมทางเพศ' ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศเปรูแทน

เวทีประกวด 'มิสเปรู' จัดขึ้นที่กรุงลิมา เมืองหลวงของเปรู ตั้งแต่ช่วงค่ำวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่การเปลี่ยนเงื่อนไขในการเดินแบบชุดว่ายน้ำบนเวที ทำให้การประกวดมิสเปรูปีนี้เป็นที่สนใจจากสื่อตะวันตกเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการใช้เวทีนางงามรณรงค์ต่อต้านการก่ออาชญากรรมและใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง โดยเฉพาะในประเทศเปรู ซึ่งมีสถิติอาชญากรรมทางเพศสูงเป็นอันดับ 2 ของกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ รองจากโบลิเวีย

สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานด้วยว่า ผู้เข้าประกวดแต่ละคนพูดถึงสถิติอาชญากรรมและความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในพื้นที่ต่างๆ แทนการบอกสัดส่วนของตัวเอง โดยยกตัวอย่างตัวแทนกรุงลิมาที่เปิดเผยว่า สถิติอาชญากรรมที่เกิดกับผู้หญิงในกรุงลิมาตลอด 9 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนถึง 2,202 คดี ขณะที่ผู้ประกวดรายอื่นๆ พูดถึงสถิติการก่อความรุนแรงต่อผู้หญิงโดยเฉลี่ย พบว่า ร้อยละ 81 ของผู้ก่อเหตุละเมิดทางเพศเด็กผู้หญิง คือบุคคลใกล้ชิดหรือบุคคลในครอบครัว และร้อยละ 80 ของผู้หญิงเปรูทั้งหมดเคยถูกลวนลามขณะเดินอยู่บนท้องถนน

เจสสิกา นิวตัน ประธานการประกวดมิสเปรู 2017 ระบุว่า แม้แต่ผู้เข้าประกวดมิสเปรูในปีนี้ก็เคยถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศมาก่อน รวมถึงผู้ถูกข่มขืน การบอกข้อมูลเหล่านี้แก่ผู้ชมจึงเป็นโอกาสหนึ่งที่สังคมจะได้เรียนรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แต่นิวตันก็ถูกวิจารณ์เช่นกันว่าเป็นผู้ที่ลดทอนคุณค่าของผู้หญิงให้กลายเป็นเพียงวัตถุทางเพศเสียเอง เพราะเวทีมิสเปรูยังบังคับให้ผู้เข้าประกวดสวมชุดว่ายน้ำเปิดเผยสัดส่วนเหมือนเวทีอื่นๆ แต่นิวตันตอบโต้ว่า ถ้าผู้หญิงคิดจะเดินเปลือยกายออกมา ก็เป็นเรื่องที่พวกเธอสามารถทำได้

ส่วนผู้ชนะเลิศการประกวดครั้งนี้ คือ นางสาว โรมินา โลซาโน วัย 20 ปี เป็นผู้เปิดเผยสถิติผู้หญิงเปรูที่ตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 3,114 คนทั่วประเทศ นับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา และเธอจะเป็นตัวแทนประเทศเปรูไปประกวดในเวที 'มิสยูนิเวิร์ส' 2018 ซึ่งจะจัดขึ้นในปีหน้า ขณะที่การประกวดมิสยูนิเวิร์สรอบตัดสินประจำปีนี้ จะจัดขึ้นที่นครลาสเวกัสของสหรัฐฯ ปลายเดือนพฤศจิกายนที่จะถึง

นิตยสาร Vogue ระบุว่าการพูดถึงการต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิงบนเวทีประกวดนางงามเปรู เป็นการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับการรณรงค์ให้ปกป้องผู้หญิงในประเทศละตินอเมริกาจากความรุนแรงและอาชญากรรมทางเพศ รวมถึงกระแสต่อต้านการใช้อำนาจทางหน้าที่การงานในการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งมีชนวนเหตุจากกรณีที่นายฮาร์วีย์ ไวน์สตีน ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชื่อดังของสหรัฐฯ ถูกสอบสวนในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศนักแสดงและพนักงานหญิงในบริษัทของตัวเอง โดยมีผู้ออกมาเปิดเผยว่าเคยถูกนายไวน์สตีนล่วงละเมิดเป็นจำนวนมาก 

ในส่วนของประเทศไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เผยผลสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวครั้งล่าสุดเมื่อปี 2558 พบว่าสถิติผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงทั่วประเทศที่เข้าร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐบาล มีจำนวนทั้งหมด 13,265 คน คิดเป็นร้อยละ 55.32 ของผู้ถูกกระทำความรุนแรงทั้งหมด 23,977 คนที่เป็นเด็กและผู้หญิงรวมกัน และการกระทำความรุนแรงเหล่านี้มีผลทั้งทางกาย ทางเพศ และทางจิตใจ 

เรียบเรียงโดย ตติกานต์ เดชชพงศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog