ไม่พบผลการค้นหา
คุยกับคุณปลื้ม - หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้ดำเนินรายการวอยซ์ทีวี

“พักหลังๆ ผมไม่ค่อยได้อ่านหนังสือจนจบ ผมจะอ่านมากช่วงเรียนมหาลัย หลัง ๆ ผมจะอ่านคอลัมน์ข่าวมากกว่า” เป็นประโยคแรกที่ คุณปลื้ม หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล พูดขึ้นมา

ยิ่งต้องอยู่ในบทบาทพิธีกรรายการข่าวด้วยแล้ว การติดตามพิธีกรข่าวในระดับโลกเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ คุณปลื้มเล่าว่าตอนนี้ไม่เพียงอ่านการเมืองผ่านตัวอักษรเท่านั้น แต่ยังหันมาอ่านการเมืองผ่านรายการเล่าข่าวทางทีวี ลองมาดูกันว่า รายชื่อหนังสือ รายชื่อคอลัมนิสต์ และรายการเล่าข่าวที่คุณปลื้มให้มา เราจะอ่านอะไรจากสื่อเหล่านี้ได้บ้าง

 

1.

The Politics of Democratization: Generalizing East Asian Experiences การเมืองของการสร้างประชาธิปไตย คุณปลื้มบอกว่า ได้อ่านเล่มนี้สมัยเรียนปริญญาตรีที่ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน

“เล่มนี้เป็นหนังสือเล่มแรกที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อผมมาก คนเขียนเล่มนี้ Edward Friedman เขาสอนผม  ในห้องเรียนของเขา การสอนจะเป็นสไตล์สัมมนา มีนักเรียน 15-20 คนไม่เกินนี้ และให้นักเรียนคุยกันเกี่ยวกับหนังสือที่เขามอบหมายให้อ่านในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งเยอะมาก ถ้าผมไม่อ่านก็จะคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง” คุณปลื้มเล่าบรรยากาศสมัยเรียนให้ฟัง

The politics of democratization: generalizing East Asian experiences อธิบายถึงประเทศในเอเชียตะวันออก ว่าทำไมประเทศอย่างเกาหลีใต้และไต้หวันสามารถสร้างประชาธิปไตยได้สำเร็จ ทำไมประเทศอย่างสิงคโปร์ซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตย สามารถพัฒนาเศรษฐกิจมาได้ไกลขนาดนี้

“บทสรุปที่สำคัญของหนังสือเล่มนี้ คือ ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่สร้างได้ อยู่ที่ว่าสังคมนั้นพร้อมที่จะสร้างองค์ประกอบของสถาบันทางการเมือง ให้เติบโตขึ้นมาหรือเปล่า”

คุณปลื้มชี้ชวนให้ดูหนังสือเล่มที่เป็นคู่แข่งกับเล่มนี้ นั่นคือ The Clash of Civilizations and The Remaking of World Order ของ Samuel P. Huntington ที่บอกว่า ในบางวัฒนธรรมปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยไม่ได้

“ตอนแรกผมชอบ The Clash of Civilizations ของ Samuel P. Huntington เพราะเนื่องจากว่าเราโตขึ้นมาในเมืองไทย พอไปอยู่เมืองนอก ก็ยังมีความคิดแบบเดิมว่า ประเทศไทยคงไม่สามารถเป็นประชาธิปไตยได้ ตอนนั้นก็เป็นความคิดเห็นที่ … ไทย ๆ นิดหนึ่ง (หัวเราะ)” คุณปลื้มสารภาพ

“แต่พอได้เรียนกับอาจารย์ Edward Friedman ข้อสรุปของเขาไม่ได้เป็นอย่างนั้น เราเข้าใจผิดไปเอง เพราะประเทศที่เป็นประชาธิปไตยในตอนนี้ล้วนผ่านการต่อสู้เพื่อสร้างประชาธิปไตยทั้งนั้น ไม่ใช่อยู่ดี ๆ ประชาธิปไตยก็เกิดขึ้นมา อย่างประเทศในยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยมาตั้งแต่แรก”

“แน่นอนถ้ากลับมาดูบ้านเรา ประชาธิปไตยของไทยมันสร้างได้ แต่ปัญหาคือ เราจะสร้างสถาบันการเมืองที่เข้มแข็งพอที่จะเป็นเกราะป้องกันเผด็จการอย่างไรต่างหาก เป็นคำถามที่น่าตอบ”

 

2.

Native Son ของ Richard Wright ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1940 เป็นเรื่องราวชีวิตของคนแอฟริกัน-อเมริกันในสหรัฐอเมริกาในยุคที่คนกลุ่มนี้เป็นพลเมืองชั้นสอง แม้ว่าจะเลิกทาสไปแล้วก็ตาม

“เรื่องนี้เล่าเรื่องชีวิตของเด็กผิวสีในสังคมอเมริกา เติบโตผ่านสังคมที่เต็มไปด้วยการกดทับ สังคมที่ไม่หยิบยื่นโอกาส จนในที่สุดต้องกลายเป็นอาชญากร คนเขียนพยายามอธิบายถึงเหตุผลที่คน ๆ หนึ่ง ที่สุดท้ายชีวิตไปจบลงด้วยการฆ่าคน”

“หนังสือเล่มนี้ทำให้เราเข้าใจว่า คนผิวสีในสังคมของอเมริกาต้องเจอกับอะไรบ้าง ผมอ่านในห้องสมุดแล้วร้องไห้เลย เขียนดีมากและเศร้ามาก ในชีวิตอ่านนวนิยายแล้วร้องไห้สองครั้ง ครั้งแรกคือ สี่แผ่นดิน ที่อ่านตอนเด็ก ทั้งสองเรื่องทำให้ผมรู้สึกเศร้ามาก ในแง่ที่ว่า มันทำให้เราได้เห็นชีวิตคน ๆ หนึ่งทั้งชีวิต แม้ทั้งสองเรื่องจะสื่อออกมาคนละประเด็นก็ตาม” คุณปลื้มกล่าว

 

3.

A History of The Modern World ของ  Robert Roswell Palmer, Joel Colton และ Lloyd Kramer

“ปัญหาของคนที่เติบโตขึ้นมาในยุคนี้ คือ คุณไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์ แล้วคุณจะไม่รู้เรื่องเลยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในโลก เด็กที่ไม่ได้เรียนรัฐศาสตร์หรือประวัติศาสตร์ ผมเป็นห่วง ถ้าเขาทำงาน เขาจะไม่สามารถเชื่อมโยงตัวเองกับโลกได้ เช่น รัฐชาติเกิดขึ้นมาตอนไหน ก่อนหน้าที่ไม่มีรัฐชาติ มันเป็นอย่างไร อ่านเล่มนี้เล่มเดียวเห็นภาพทั้งโลกเลยว่าเกิดอะไรขึ้น” คุณปลื้มชวนให้อ่าน

 

4.

ตอนเรียนปริญญาโท คุณปลื้มเรียน รัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ ที่วอชิงตัน ดี.ซี. คุณปลื้มมองว่าเป็นความโชคดี เพราะที่นี่มักเชิญอาจารย์มีชื่อเสียงมาสอน หนึ่งในอาจารย์เหล่านั้น คือ Francis Fukuyama

“Fukuyama เป็นนักการตลาดที่ดี เขารู้ว่าทำหนังสือออกมาแล้วจะขายได้ เขาเขียนหนังสือชื่อ The End of History and The Last Man ทำออกมาขายในยุคที่โซเวียตล่มสลาย เป็นช่วงที่สหรัฐฯประกาศชัยชนะของอุดมการณ์ประชาธิปไตยว่าเหนือกว่าคอมมิวนิสต์”

“ซึ่งสะท้อนว่าประชาชนต้องการรัฐบาลที่ตอบสนองความต้องการของพวกเขา ต้องการประชาธิปไตยที่มีตัวแทน ผ่านระบบการคัดเลือก โดยให้ผลตอบแทนกับประชาชนมากที่สุด”

“แต่พอเวลาผ่านไป คนเอามาวิจารณ์ว่า เห็นไหมว่าอเมริกาก็ถูกท้าทาย อเมริกาก็ไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่ดีต่อประชาชนในเรื่องสวัสดิการ รัฐบาลจีนดูเหมือนว่าจะมีศักยภาพไม่ด้อยไปกว่าสหรัฐอเมริกา ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นประเทศประชาธิปไตย อย่างไรก็ดี ถ้าไปอ่านจริง ๆ สิ่งที่ Fukuyama นำเสนอคือไอเดียที่ว่าประชาธิปไตยยั่งยืนที่สุด เขาไม่ได้บอกว่าประชาธิปไตยแบบอเมริกันสุดยอด”

 

5.

Our Posthuman Future: Consequences of the Biotechnology Revolution ของ Francis Fukuyama

“เล่มนี้ขายดีอีก เขาเก่งมาก มีไอเดียแปลก ๆ เยอะ เล่มนี้เขาพูดถึงอนาคตที่มนุษย์พัฒนาเทคโนโลยีทางด้านชีวภาพ ถ้าเทคโนโลยีชีวภาพทำให้มนุษย์สามารถโคลนนิ่งตัวเองได้ scenarios ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง รูปแบบประชาธิปไตยจะได้รับผลกระทบอย่างไร การเกิดชนชั้นวรรณะในสังคม ถ้าเกิดมี clone army โลกของเราจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร จะเกิดระบบการปกครองเผด็จการเทคโนโลยีของหุ่นยนต์ไหม”

 

6.

ระยะหลังคุณปลื้มไม่ค่อยได้อ่านหนังสือเล่มจนจบ แต่มักตามอ่านคอลัมน์ของคอลัมนิสต์ชื่อดัง อย่าง Thomas Friedman ซึ่งเป็นลงงานเขียนในนิวยอร์คไทม์ คุณปลื้มยังบอกอีกว่าเขาเคยได้รางวัลพูลิตเซอร์ รางวัลเกียรติยศของคนทำงานข่าว

“เขาจะเป็นแนวเสรีนิยม ออกซ้ายกลาง” คุณปลื้มเริ่มต้นพูดถึงอุดมการณ์ทางการเมือง

“ภาษาอังกฤษของทั้งสองคนดีมาก แล้วใช้ศัพท์จากหลากหลายวงการ ไม่ใช่ศัพท์แบบน่าเบื่อ เล่าเรื่องเทคโนโลยี ปรัชญา ธรรมชาติ บ้าบอคอแตกมาเป็นเรื่องเดียวกัน แล้วอ่านสนุกมาก”

 

7.

Bret Stephens เป็นคอลัมนิสต์นิวยอร์คไทม์ และเคยได้รางวัลพูลิตเซอร์

“Bret Stephens จะเป็นขวากลาง คือ ไม่เอาโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ว่าเอาพรรครีพับลิกัน เขาจะหาข้อเสนอ ยกตัวอย่างเช่น เขารู้ว่าภาวะโลกร้อนเป็นปัญหา แต่เขาไม่เห็นด้วยว่าทุกคนต้องหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมด”

คุณปลื้มเล่าให้ฟังว่า Bret Stephens เป็นนักวิเคราะห์ของสถานีโทรทัศน์ MSNBC เวลาที่เขาไปออกรายการทีวี เขาจะวิจารณ์โดนัลด์ ทรัมป์เยอะ โดยวิจารณ์ในมุมของคนที่เป็นอนุรักษ์นิยมที่มีการศึกษา

“คนฝั่งที่เป็นอนุรักษ์นิยมและมีการศึกษาจะไม่เอาทรัมป์ เขาจะแสดงจุดยืนว่าตัวเองมีการศึกษา ไม่เหมือนพวกคนที่ไปเลือกทรัมป์”

 

8.

Charles Krauthammer เป็นคอลัมนิสต์อาวุโส ที่เขียนให้กับวอชิงตันโพสต์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้าย

“Krauthammer เป็นคนที่ให้เหตุและผลดี เป็นคนที่คอยเตือนสาวกรีพับลิกันว่าอะไรคือสิ่งที่ควรและไม่ควรทำ เป็นคนคนที่ให้เหตุและผลกับนักการเมืองฝ่ายขวาว่าให้ทำอะไรอยู่ในร่องรอย เขาเขียนไปตามเนื้อผ้า มีหลักการ”

 

9. & 10.

นอกจากหนังสือ และคอลัมนิสต์ คุณปลื้มยังแนะนำรายการทีวีที่ชอบดู คุณปลื้มบอกว่าเอาไว้อ่านการเมืองอเมริกา รายการ Sean Hannity ของ Fox News และ รายการ Rachel Maddow ของ MSNBC

คุณปลื้มเกริ่นให้ฟังว่า ปี 1949 ในสหรัฐฯ มีกฏหมาย Fairness Doctrine หรือ กฏแห่งความเป็นกลางเกิดขึ้น บังคับใช้โดย FCC - Federal Communications Commission หรือหน่วยงานคล้าย ๆ กสทช. ในบ้านเรา กฏตัวนี้ระบุว่าการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อ ต้องมีความเห็นที่รอบด้าน ต่อมาในปี 1986 สมัยเรแกน กฏหมายฉบับนี้ถูกยกเลิกไป ทำให้สื่อแสดงความคิดเห็นได้ มาถึงทุกวันนี้ Fox News จึงกลายเป็นสื่ออนุรักษ์นิยม ส่วน MSNBC ก็กลายเป็นสื่อในค่ายเสรีนิยม

“ต้องดูสองรายการนี้ แล้วจะเห็นมุมมองของคนอเมริกันทั้งฝั่งขวาและซ้ายว่าเป็นยังไง สองรายการนี้ต่างกัน ของ Rachel Maddow ดีกว่าเยอะ เธอจัดรายการดีมาก ให้ข้อมูลที่เฉลียวฉลาด ไม่เคยมีผู้ดำเนินรายการคนไหนเก่งเท่าผู้หญิงคนนี้ ในโลกของวงการทีวี คนนี้คืออันดับ 1 ตลอดกาล ส่วน Sean Hannity ก็จะเชียร์ทรัมป์”

คุณปลื้มรู้สึกเป็นห่วงอเมริกา “ปัญหาในอเมริกาในวันนี้ ก็คือ คนที่เชียร์พรรคการเมืองพรรคหนึ่งก็เลือกดูทีวีช่องหนึ่ง คนที่เชียร์อีกพรรคหนึ่งก็เลือกดูอีกช่อง สิ่งที่อเมริกาเจอในวันนี้คือการเผชิญหน้ากับการไม่มีทางออก เป็นสองกระแสที่ไม่มีทางสายกลาง พื้นที่สำหรับคนตรงกลางน้อยลง”


สาบานได้เราคุยกันเรื่องหนังสือ: หมอเลี้ยบอ่านอะไร

สาบานได้เราคุยกันเรื่องหนังสือ: คำ ผกา อ่านอะไร

สาบานได้เราคุยกันเรื่องหนังสือ: ช่อ อ่านอะไร

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog