ไม่พบผลการค้นหา
กาตาลูญญาประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา แต่เอกราชที่ว่า ดูจะไม่ได้รับการยอมรับ และนำมาซึ่งวิกฤตทางการเมืองที่ร้ายแรงที่สุดในสเปนในรอบ 40 ปี จากนี้ ทั้งสเปนและกาตาลูญญา จะเดินหน้าไปอย่างไร?

กาตาลูญญาประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา แต่เอกราชที่ว่า ดูจะไม่ได้รับการยอมรับ และนำมาซึ่งวิกฤตทางการเมืองที่ร้ายแรงที่สุดในสเปนในรอบ 40 ปี จากนี้ ทั้งสเปนและกาตาลูญญา จะเดินหน้าไปอย่างไร?

วันที่ 1 ตุลาคม 2017 เป็นวันที่ชาวกาตาลันลงประชามติ ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 92 ขอเป็นเอกราชจากสเปน แม้ศาลรัฐธรรมนูญสเปนจะประกาศให้การลงประชามติผิดกฎหมาย เนื่องจากขัดต่อรัฐธรรมนูญ และรัฐบาลสเปนใช้ทุกวิถีทางกีดกันไม่ให้ประชาชนกาตาลันเดินทางไปใช้สิทธิ์ ตั้งแต่การจับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ปิดคูหาเลือกตั้ง ยึดหีบบัตรทั้งที่ยังไม่ได้ผ่านการลงคะแนนและที่มีบัตรลงประชามติแล้ว ไปจนถึงตัดไฟ ตัดอินเทอร์เน็ตคูหาประชามติ

วันที่ 10 ตุลาคม อันเป็นวันที่รัฐบาลกาตาลูญญามีกำหนดจะประกาศเอกราช ผู้นำสหภาพยุโรปเข้าเจรจากับรัฐบาลกาตาลูญญา ทำให้นายการ์ลัส ปุดจ์ดาโมน ประธานาธิบดีกาตาลูญญา ตัดสินใจที่จะระงับการประกาศเอกราชไว้ชั่วคราว เพื่อเจรจากับรัฐบาลสเปน แต่หลังจากผ่านไปเกือบ 2 สัปดาห์ การเจรจาไม่เป็นผล นายปุดจ์ดาโมนจึงตัดสินใจมอบอำนาจการตัดสินใจในเรื่องนี้ให้แก่รัฐสภาท้องถิ่น

และในวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา รัฐสภาลงมติประกาศเอกราชจากราชอาณาจักรสเปน กลายเป็นสาธารณรัฐกาตาลูญญาอย่างเป็นทางการ แต่ทันทีที่มีการประกาศเอกราช รัฐบาลสเปนก็ตอบโต้ด้วยการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 155 ที่ระบุให้รัฐบาลสามารถยึดอำนาจการปกครองตนเองคืนจากรัฐบาลท้องถิ่นได้ หากรัฐบาลนั้นกระทำการที่เป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ สั่งยุบสภากาตาลูญญา และปลดครม.ยกคณะ รวมถึงนายปุดจ์ดาโมน เข้าควบคุมกาตาลูญญาอย่างเบ็ดเสร็จ

The Kingdom Strikes Back

ล่าสุด รัฐบาลสเปนแต่งตั้งให้โซรายา ซาเอนซ์ เด ซานตามาเรีย รองนายกรัฐมนตรี เข้าดูแลกิจการในแคว้นกาตาลูญญาเป็นการชั่วคราว และสั่งปลดผู้บัญชาการตำรวจกาตาลูญญา ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดูแลการจัดประชามติประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา

นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ The Telegraph ของอังกฤษยังรายงานว่านายปุดจ์ดาโมนอาจจะถูกจับกุมในเร็วๆนี้ หลังจากเขายังคงท้าทายรัฐบาลสเปนอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเรียกร้องให้ประชาชนร่วมกันปกป้องเอกราชของกาตาลูญญาผ่านการ "ต่อต้านอย่างเป็นประชาธิปไตย" นั่นก็คืออารยะขัดขืน ไม่ยอมรับการปกครองของสเปน โดยอัยการสเปนกำลังเตรียมสำนวนฟ้องนายปุดจ์ดาโมนในข้อหากบฏและใช้งบประมาณรัฐในทางมิชอบ จัดการลงประชามติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ รวมถึงมีแผนจะควบคุมตัวเขาไว้ยาวทันทีที่ถูกจับกุมด้วย

ขอเวลาอีกไม่นาน

รายงานจาก The Telegraph ค้านกับท่าทีของโฆษกรัฐบาลสเปน ที่ยืนยันว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ในกาตาลูญญาในวันที่ 21 ธันวาคม และนายปุดจ์ดาโมนสามารถลงสมัครได้หากต้องการ เช่นเดียวกับที่ก่อนหน้านี้ นายมาริอาโน ราฆอย นายกรัฐมนตรีสเปน ยืนยันว่าการ "รัฐประหาร" รัฐบาลกาตาลูญญา ยึดอำนาจการปกครองคืนมาสู่ส่วนกลาง จะเป็นมาตรการชั่วคราวในระยะสั้น เพื่อจัดระเบียบการปกครองภายในกาตาลูญญาใหม่เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังมองไม่เห็นทางว่านางซาเอนซ์จะเข้ามาปกครองกาตาลูญญาได้อย่างไร เพราะแม้เธอจะเป็นมือขวาของนายราฆอย และมีความจงรักภักดีต่อเขาอย่างมาก แต่ก็ไม่มีคุณสมบัติโดดเด่นพอจะเข้ามาจัดการเผือกร้อนจัดอย่างกาตาลูญญา โดยเฉพาะเมื่อขณะนี้มีแนวโน้มสูงว่าเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนจะไม่พอใจรัฐบาลกลางที่เข้ามาสั่งปลดผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง และพร้อมต่อต้านการปกครองจากเธอ

อารยะขัดขืนเพื่อเอกราช

ประชาชนฝ่ายสนับสนุนเอกราชรวมตัวที่หน้ารัฐสภากาตาลูญญา ในวันที่สภาลงมติประกาศเอกราช 27 ตุลาคม 2017

แม้ว่าเอกราชของกาตาลูญญาจะไม่ได้รับการยอมรับจากทั้งสเปนและนานาชาติ แต่สำหรับฝ่ายหนุนเอกราชในกาตาลูญญา นี่คือสิ่งที่พวกเขารอคอยมาตลอด และพร้อมต่อสู้เพื่อรักษาเอกราชไว้ สิ่งที่ต้องจับตาดูก็คือ หน่วยโมสโซส ตำรวจท้องถิ่นของกาตาลูญญา จะเชื่อฟังคำสั่งของกระทรวงมหาดไทยสเปนแค่ไหน หลังผู้บัญชาการโมสโซสถูกสั่งปลดไปพร้อมรัฐบาลนายปุดจ์ดาโมน

อีกด้านหนึ่ง การปลุกกระแสอารยะขัดขืนผ่านการประท้วงหยุดงานและเดินขบวนเกิดขึ้นทั่วไปในหมู่ชาวกาตาลูญญา นอกจากการเรียกร้อง "การต่อต้านอย่างเป็นประชาธิปไตย" ที่นายปุดจ์ดาโมนกล่าวถึง ยังมีกลุ่มองค์กรชาตินิยมอีกมากที่ออกมาเรียกร้องการต่อต้านรัฐบาลสเป ที่พวกเขาถือว่าเป็น "รัฐบาลต่างชาติ" ที่เข้ามาปกครองกาตาลูญญา สภาแห่งชาติกาตาลูญญา หนึ่งในองค์กรหนุนเอกราชที่ใหญ่ที่สุด เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐเกือบ 27,000 คน ขัดขืนการทำตามคำสั่งของรัฐบาลกลางเพื่อประท้วงการยึดอำนาจในครั้งนี้

ก้าวต่อไปหลังเอกราชถูกลบล้างด้วยรัฐประหาร

แม้ชาวกาตาลันจะถือว่าตนเองเป็นประเทศเอกราชทันทีที่สภาประกาศอย่างเป็นทางการ แต่ถือได้ว่าการประกาศนั้นไม่ได้มีผลทางกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะสหภาพยุโรปยืนยันชัดเจนว่ากาตาลูญญาเป็น "ปัญหาภายใน" ของสเปน และพันธมิตรของอียูก็ไม่มีทางจะยอมรับสถานะรัฐชาติของกาตาลูญญา นอกจากนี้ยังไม่มีผลจริงในกาตาลูญญาเองเ พราะรัฐบาลของนายปุดจ์ดาโมนถูกปลด รัฐสภาถูกยุบ และไม่มีกองกำลังที่จะต่อสู้กับการเข้าแทรกแซงของรัฐบาลสเปน

อ่าน: ประเทศกาตาลูญญา ฝันไกลที่ไม่อาจไปถึง

แต่นี่ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นความพ่ายแพ้ของกาตาลูญญา และไม่อาจเรียกว่าเป็นชัยชนะของสเปน เพราะหนทางต่อไปของสเปน มีเพียง 2 ทาง คือการใช้กำลัง ซึ่งแทบเท่ากับการฆ่าตัวตาย หลังจากการใช้กำลังหยุดยั้งการประชามติเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา พิสูจน์แล้วว่าไม่เกิดผลใดๆ นอกจากกระแสเกลียดชังรัฐบาลสเปนในหมู่ชาวกาตาลัน และเสียงวิจารณ์จากนานาชาติถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อีกหนทางก็คือการเร่งจัดการเลือกตั้ง และคืนอำนาจให้รัฐบาลกาตาลันโดยเร็วที่สุด ซึ่งอาจหมายถึงการกลับมาของนายปุดจ์ดาโมนหรือทายาททางการเมืองของเขา หากประธานาธิบดีผู้นำกาตาลูญญาไปสู่เอกราชถูกจับกุมคุมขัง เท่ากับว่าสเปนจำเป็นต้องเจรจาต่อรองกับรัฐบาลกาตาลูญญาอยู่ดี ถึงการจัดการปกครองที่ให้อิสระแก่แคว้นนี้มากขึ้น มิฉะนั้นวิกฤตทางการเมืองรอบใหม่จะย้อนกลับมาอีกครั้งในเร็วๆนี้อย่างแน่นอน

 

ที่มา: BBC , Bloomberg

เรียบเรียง: พรรณิการ์ วานิช

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog