ไม่พบผลการค้นหา
คุยกับช่อ - พรรณิการ์ วานิช ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ และพิธีกรวอยซ์ทีวี

ช่อ - พรรณิการ์ วานิช ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ และพิธีกรวอยซ์ทีวี เบื้องหลังน้ำเสียงและการวิเคราะห์ข่าวที่หนักแน่นและจริงจังของผู้หญิงคนนี้ รายชื่อหนังสือที่เราขอไปคงไม่ธรรมดา สาบานได้ว่าบทสัมภาษณ์ต่อจากนี้มีแต่เรื่องหนังสือ จริงจริ๊ง (เสียงสูง)

1.

เลือดขัตติยา เป็นเล่มแรกที่ช่อยกมาคุย เธอบอกว่ามันน้ำเน่า แต่เธอชอบนิยายของทมยันตี เธอติดใจภาษา

“อ่านนิยายทมยันตีตั้งแต่อายุ 12-13 เรื่องนี้อารมณ์ประมาณเจ้าหญิงกับองครักษ์รักกัน แต่สุดท้ายไม่สมหวังเราชอบที่มันหักมุมแบบให้เห็นกันไปเลยว่าชนชั้นมันสำคัญกว่าความรัก ไม่ใช่ว่าถูกขัดขวางไม่ให้แต่งงานกันนะ มันไม่ยอมแต่งงานกันด้วยซ้ำ เพราะเป็นเลือดขัตติยา โครงเรื่องมันซับซ้อนตามประสาทมยันตี คนที่ชอบเรื่องการเมืองก็จะชอบอ่าน”

ใครก็ตามที่เคยดูเลือดขัตติยาฉบับละครโทรทัศน์ เธอบอกว่าเหมือนเป็นคนละเรื่อง “ละครออกทะเลไปค่อนข้างไกล  ไม่เหมือนหนังสือซึ่งจะมีความลึกกว่า มีหักเหลี่ยมหักมุมทางการเมือง ในหนังสือแทบจะไม่มีเรื่องความรัก พระเอกนางเอกทั้งเรื่องแทบจะไม่ได้โดนตัวกันเลย ไม่มีความหวานแหววต่อกัน” ช่อ เล่าให้เราฟัง

 

2.

ลิลิตพระลอ ลิลิตเป็นลักษณะคำประพันธ์ประเภทหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยร่ายกับโคลง ช่อบอกว่า เธอชอบอ่านร้อยกรอง

“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จิตร ภูมิศักดิ์ด่าหนักมากว่าเป็นวรรณกรรมมอมเมา แสดงให้เห็นถึงความเหลวแหลกของชนชั้นนำอยุธยาที่ คิดแต่เรื่องผัว ๆ เมีย ๆ แย่งผัวแย่งเมีย ทำคุณไสยใส่กัน”

ช่อเล่าว่า ลิลิตพระลอเป็นลิลิตตั้งแต่สมัยอยุธยา ได้ชื่อว่าเป็นลิลิตที่งดงามทางด้านวรรณกรรมที่สุด การใช้ภาษาสละสลวย และฉากอัศจรรย์

“แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นต่างจากจิตร ภูมิศักดิ์ คือ เรามองว่าลิลิตพระลอเป็นการสะท้อนชนชั้นศักดินาที่มันจริงดี ไม่ต้องทำตัวเป็นคนดี ไม่ต้องมาทำตัวว่ามีศีลธรรมอะไร เป็นอย่างที่เป็น พี่เลี้ยงของชนชั้นนำฝ่ายหญิงกับพี่เลี้ยงของชนชั้นนำฝ่ายชายมาเจอกันที่สระบัว ยังไม่ทันถามชื่อ ก็ได้เสียกันแล้ว นี่คือความลื่นไหลทางเพศแบบโบราณที่คนไทยจำนวนมากไม่รู้ แล้วคิดว่าในอดีต เรามีวัฒนธรรมดีงามรักนวลสงวนตัว ซึ่งไม่จริงค่ะ อีกประเด็นที่สะท้อนออกมาคือ โครงสร้างของระบบชนชั้นมันแข็งแรงมาก แค่เห็นหน้าตา ผิวพรรณ ก็รู้แล้วว่าเป็นชนชั้นเดียวกัน สามาถรถเอากันได้”

 

3.

โมโม่ โดย มิฆาเอ็ล เอ็นเด้ เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่ช่ออ่านตอนเด็ก เธอบอกว่าอ่านสัก 20 ปีก่อนเห็นจะได้ เธอสารภาพว่าจำเรื่องไม่ได้แล้ว แต่ยังจำความรู้สึกชอบเมื่อครั้งที่ได้อ่านครั้งแรกได้

“มันเป็นเรื่องโจรขโมยเวลา เป็นวรรณกรรมเยาวชน เด็กคนนึงมองว่า ผู้ใหญ่ทุกคนถูกขโมยเวลาไปหมดเลย ผู้ใหญ่มักอ้างว่าไม่มีเวลา ในขณะที่เด็กมีเวลาเยอะมาก ทำไมพอโตขึ้นแล้วไม่มีเวลา”  

เธอบอกว่าชีวิตคนเราต้องการวรรณกรรมเยาวชน มันทำให้เราออกจากวังวนความคิดแบบเดิม ๆ

“เรารู้สึกว่าเรื่องนี้เหมาะกับผู้ใหญ่ ที่จะเอามาอ่านเตือนใจตัวเองว่า เราถูกขโมยเวลาไปหรือเปล่า เราทำงานเยอะไปหรือเปล่า ชีวิตก็แฮปปี้ดีนี่ จริง ๆ แล้ว เราอาจจะหลอกตัวเองอยู่ เราใช้ชีวิตเร่งรีบ ใช้ชีวิตเป็นเครื่องจักร  เราควรจะให้เวลากับชีวิตมากขึ้นไหม”

“ในเรื่องผู้ใหญ่ที่ถูกขโมยเวลาจะมีหน้าเทา ๆ นี่กลัวหน้าเทา เลยไม่กล้าอ่านอีกรอบ กลัวว่าอ่านแล้วจะลาออกจากงาน (หัวเราะ)”

 

4.

งามสมบรมราชินีนาถ ช่อได้เล่มนี้เป็นของขวัญวันเกิด มันเป็นหนังสือโฟโต้บุ๊คสี่สีทั้งเล่ม เธอบอกว่าเธอมีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็น Style Icon เธอบอกว่าพระองค์ท่านทรงมีรสนิยม

“แบบชุดทั้งหมดในพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ รวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ภายในเล่มจะบอกถึงที่มาที่ไป เบื้องหลังการออกแบบคอลเลกชันเป็นยังไง ใช้ผ้าอะไร ปักยังไง”

ตอนที่ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระราชินีเสด็จประพาสยุโรป ต้องมีการตัดชุดไป ในตอนนั้นมี ปิแอร์ บัลแมง ดีไซเนอร์ชื่อดังระดับโลก มาออกแบบชุดให้

“ต้นกำเนิดของชุดไทยที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยบรมพิมาน เกิดจากปิแอร์ บัลแมง เขาเอาแบบชุดไทยไปประยุกต์ เขาได้โจทย์ว่าต้องใช้ผ้าไหมไทย ลายไทย เพราะชุดไทยจริง ๆ ปกตินุ่งยาก เป็นผ้านุ่ง ผ้าห่ม จับจีบ ปิแอร์ บัลแมง จึงออกแบบให้มีความเป็นสากล และสวมใส่ได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นชุดไทยที่เราใช้กัน ก็คือความเป็นไทยที่เพิ่งสร้าง”

นอกจากนี้ในหนังสือยังมีแบบสเก็ตช์ของ ปิแอร์ บัลแมง และเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ในงานออกแบบ

“ที่ชอบเล่มนี้เพราะเป็นคนชอบชุดวินเทจ อันนี้ก็อารมณ์ยุค 40 50 60 เอาไว้เป็น reference เวลาจะไปตัดชุด (หัวเราะ)”

 

5.

เจ้าจันทร์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน โดย มาลา คำจันทร์ เป็นนักเขียนซีไรต์ เล่มนี้เป็นร้อยแก้ว เรื่องราวเกี่ยวกับล้านนาในช่วงที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากการเป็นอาณาจักรล้านนาสู่การผนวกรวมเป็นดินแดนเดียวกับสยามในสมัยรัชกาลที่ 5

“หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องเจ้าล้านนาที่ถูกพรากความเป็นเจ้าไป พอถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม สถานะของชนชั้นสูงล้านนาก็สั่นคลอน ชนชั้นสูงที่เหลือก็ต้องไปพึ่งนายทุน พ่อค้าไม้ พ่อเลี้ยง มันเป็นความอัปยศของล้านนา”

เนื้อหาเป็นการเดินทางของเจ้าจันทร์ที่เป็นราชนิกุลล้านนา เธอต้องเลือก ระหว่างคนที่เธอรักซึ่งเป็นเจ้าต่ำศักดิ์ ไม่มีทรัพย์สมบัติ และพ่อค้าไม้ฐานะร่ำรวยที่พ่อของเธออยากให้แต่งงานด้วย ช่อเล่าว่า มันเป็น dilemma (ภาวะเขาควายเลือกไม่ได้) ของเจ้าล้านนาในตอนนั้นจริงๆ

“ความคิดของเจ้าจันทร์ เป็นประมาณว่าฉันเป็นเจ้านะ จะต้องแต่งงานกับเจ้าด้วยกัน ฉันจะไม่ก้มหัวให้กับพ่อค้าสถุน สกุลถ่อยที่เหิมเกริม สักแต่ว่ามีเงิน ในเนื้อเรื่องเจ้าจันทร์ได้หลอกพ่อค้าคนนี้ให้พาไปไหว้พระธาตุอินทร์แขวนที่พม่า ซึ่งสมัยก่อนเดินทางลำบากมากต้องนั่งช้างนั่งม้าไป เจ้าจันทร์หลอกว่าถ้าพ่อค้าพาไปพระธาตุอินทร์แขวนจะยอมแต่งงานด้วย ซึ่งจริง ๆ เจ้าจันทร์ต้องการเอาผมไปลอดพระธาตุ เพราะเชื่อว่าว่าถ้าเอาผมลอดใต้พระธาตุได้ จะได้ตามที่ปรารถนา ได้แต่งงานกับเจ้าพี่ที่รัก”

“วินาทีที่เจ้าจันทร์เอาผมลอดพระธาตุ เรารู้สึกว่ามันคือการตบหน้าความเชื่อเรื่องชนชั้นศักดินา มันสะท้อนถึงความแตกสลายของความคิดแบบจารีตอย่างสิ้นเชิง ทำลายความเชื่อทุกอย่างไปพร้อมกัน”

 

6.

ราชันย์ผู้พลัดแผ่นดิน แต่งโดย Sudha Shah เป็นสารคดีกึ่งชีวประวัติ ที่เต็มไปด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เนื้อหาส่วนหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ได้จากการสัมภาษณ์ทายาทที่ยังเหลืออยู่ของกษัตริย์ธีบอ กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า

“กษัตริย์พม่าที่คิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่มาก สุดท้ายต้องเสียเมืองให้อังกฤษ และถูกเนรเทศไปอยู่อินเดีย”

“เป็นคนที่ชอบศึกษาความคิดของชนชั้นสูง คนที่อยู่เหนือทุก ๆ คน วันหนึ่งต้องกลายเป็นคนที่ไม่มีอะไรเลย เขาปรับตัวอย่างไร หรือไม่ปรับอะไรเลย หนังสือเล่มนี้ฉายให้เราเห็นชีวิตคนคนหนึ่งจากจุดสูงสุดมาถึงจุดต่ำสุด” ช่อเล่า

“ตอนอ่านจะเห็นเลยว่า กษัตริย์ธีบอ และ พระราชินีศุภยาลัต เป็นคนไม่ปล่อยวาง ขนาดอยู่ท่ามกลางความปรักหักพัง ก็ยังไม่สามารถวางสถานะตัวเองได้ เราได้เห็นความพยายามของรุ่นลูกที่จะปรับตัวเข้ากับชีวิตคนปกติ แต่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ไม่ยอมปรับ มันเผยให้เห็นชีวิตที่ติดอยู่กับความล้มเหลว รุ่นลูกไม่มีใครที่เติบโตมาแล้วรับรสความเป็นเจ้าแล้ว เพราะโตมาโดยถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านที่อินเดีย แต่พ่อแม่ก็ยังบอกว่า ไม่ได้ แกเป็นเจ้า จะไปยุ่งกับสามัญชนไม่ได้ สุดท้ายลูกหนีตามผู้ชาย”

“สุดท้ายเราจะเห็นว่า การปล่อยให้ทุกอย่างขึ้นอยู่กับคน ๆ เดียว มันไปไม่รอด มันเป็นไปไม่ได้เลยที่คน ๆ เดียวจะเอาประเทศรอดในยุคล่าอาณานิคม”

 

7.

รุไบยาต เป็นร้อยกรองโบราณ เป็นงานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งของโลก แต่งโดย ฮะกิม โอมาร์ คัยยาม กวีเปอร์เซีย มีฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาไทย

“ค่อนข้างอ่านยาก เป็นแนวสุภาษิตสอนใจ แบบจงหาความสุขใส่ตัวซะเถอะ ชีวิตเราก็เท่านี้ เป็นสุขนิยมในลักษณะแบบจงดื่มด่ำกับชีวิตให้เต็มที่เถอะ เพราะว่าสุดท้ายคนเราก็ตายเหมือนกัน”

 

8.

การิทัตผจญภัย โดย สตีเว่น ลุคส์ เล่มนี้ช่อถูกบังคับให้อ่านตอนเรียนทฤษฎีการเมืองกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เธอบอกว่าเป็นการหลอกให้เรียนเรื่องปรัชญา

“เป็นเรื่องของการิทัตที่ผจญภัยไปในเมืองต่าง ๆ ซึ่งแต่ละเมืองก็จะเป็นเมืองที่ปกครองโดยอุดมคติทางการเมืองแบบต่าง ๆ บางเมืองเป็นลิเบอรัล บางเมืองเป็นอนาคิสต์ คอมมิวนิสต์ โซเชียลลิสต์ อริสโตเครซี การเดินทางของการิทัตทำให้เราเห็นความดีงามและความเลวร้ายของแต่ละระบบ”

“การิทัตผจญภัยเหมาะกับการค้นหาตัวเองว่ามีจุดยืนทางการเมืองแบบไหนกันแน่ ถ้าสับสน ไม่รู้ว่ามีจุดยืนทางการเมืองอย่างไรก็แนะนำให้อ่าน หรืออ่านจบแล้วรู้สึกว่าไม่มีอะไรดีเลย ควรสร้างระบบไฮบริดจ์(ผสม)ขึ้นมา ซึ่งจริงๆ แล้ว โลกใบนี้มันก็ไฮบริดจ์”

“อ่านไม่ยาก อ่านเพลิน ๆ คือคนเดี๋ยวนี้บางทีถกเถียงกันเรื่องการเมืองในเฟสบุ๊คมันไม่มีหลัก ควรอ่านเล่มนี้จะได้มีหลักมีเกณฑ์บ้าง เผื่อไปถกกับคนอื่น จะทำให้คุณมีพื้นฐานในการคิดวิเคราะห์เรื่องการเมืองมากขึ้น”

 

9.

ในอาณาจักรไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ของภาณุ ตรัยเวช

“คนไทยจำนวนหนึ่งจะมีตรรกะว่า เป็นไงล่ะประชาธิปไตย ฮิตเลอร์ก็มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งผิด ผิดหนักมาก นี่เป็นประเด็นหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้จะให้คำตอบ” ช่อเริ่มเล่า

“ที่ชอบเล่มนี้ เพราะมันฉายภาพของสังคมประชาธิปไตยที่ค่อย ๆ ลื่นไถลไปสู่สังคมเผด็จการอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว พูดแล้วขนลุก เพราะว่ามันเหมือนสังคมไทย ตอนอ่านนี่แบบทำไมประเทศไทยถึงเหมือนเยอรมันยุคนาซี มันไม่ใช่แค่เรื่องของพรรคนาซีอย่างเดียว แต่มีปัจจัยหลายอย่างแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวัน ที่ส่งเสริมให้คนรู้สึกว่าการฆ่าคนอื่นเป็นเรื่องปกติ ฆ่าคนเห็นต่างให้หมดประเทศเป็นเรื่องที่ควรทำ ซึ่งประเทศไทยเองเคยผ่านจุดนั้นมาแล้วครั้งหนึ่งคือ ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป แล้วถ้าเราไม่เรียนรู้สิ่งผิดพลาดในอดีต เราก็มีโอกาสไปสู่จุดนั้นอีกในอนาคต”

 

10.

สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน ของวินทร์ เลียววาริณ เป็นหนังสือซีไรต์เล่มแรกที่ช่ออ่าน เป็นรวมเรื่องสั้น ที่อ่านตอน ป.5 เธอบอกว่า เธอไม่ชอบการใช้ภาษาผาดโผน ภาษาประดิษฐ์  

“มีเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่ชอบมาก ทั้งเรื่องไม่เป็นประโยคเลย เป็นการใช้คำมาต่อกันแล้ว เธอ/ฉัน/เขา/หนังสือ/กลางคืน/กระดาษ/แจกัน/นอน/ฟ้า/ดาว/กระดาษ หนังสือเล่มนี้ทำให้เรื่องสั้นมันเหมือนงานศิลปะ เป็นพลังของวรรณกรรม ตอนเด็ก ๆ ชอบเพราะตื่นตาตื่นใจในการใช้ภาษาของมัน แล้วตัวเรื่องมันแรง มันถึงชื่อสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน เพราะมันชำแหละแก่นของความเป็นคนออกมา”


สาบานได้เราคุยกันเรื่องหนังสือ: หมอเลี้ยบอ่านอะไร

สาบานได้เราคุยกันเรื่องหนังสือ: คำ ผกา อ่านอะไร

สาบานได้เราคุยกันเรื่องหนังสือ: คุณปลื้ม อ่านอะไร

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog