ไม่พบผลการค้นหา

Thailand

หมอกธุมเกตุคืออะไร?
Oct 26, 2017
( Last update Oct 26, 2017 00:14 )
เช้าวันที่ 26 ตุลาคม อันเป็นวันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีหมอกปกคลุมทั่วกรุงเทพฯในช่วงเช้า จนมีการกล่าวกันว่า นี่คือปรากฏการณ์ "หมอกธุมเกตุ" มาดูกันว่าจริงๆแล้วหมอกธุมเกตุคืออะไร และมีความหมายอย่างไรในทางประวัติศาสตร์

เช้าวันที่ 26 ตุลาคม อันเป็นวันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีหมอกปกคลุมทั่วกรุงเทพฯในช่วงเช้า จนมีการกล่าวกันว่า นี่คือปรากฏการณ์ "หมอกธุมเกตุ" มาดูกันว่าจริงๆแล้วหมอกธุมเกตุคืออะไร และมีความหมายอย่างไรในทางประวัติศาสตร์

นับตั้งแต่การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อบ่ายวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ก็มีการกล่าวขานกันถึงปรากฏการณ์หมอกธุมเกตุหลายครั้ง ครั้งแรกก็คือในวันสวรรคต กล่าวกันทั่วไปว่ามีหมอกปกคลุมทั่วเมือง บรรยากาศโศกเศร้า เช่นเดียวกับในวันที่ 13 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 1 ปีการสวรรคต รวมถึงวันที่ 26 ตุลาคม อันเป็นวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ ก็กล่าวกันว่ามีหมอกธุมเกตุปกคลุมทั้งบริเวณพระเมรุและทั่วกรุงเทพฯ

บรรยากาศยามเช้าวันที่ 26 ตุลาคม 2560 ที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง มีหมอกลงปกคลุมทั่วบริเวณพระเมรุ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่การเกิดหมอกธุมเกตุถูกเชื่อมโยงเข้ากับการสวรรคตของพระเจ้าแผ่นดิน ตั้งแต่ในยุคอยุธยา พงศาวดารก็มักระบุว่าเกิดธุมเกตุ-ธุมเพลิง และเหตุอาเพทอื่นๆก่อนหรือในวันที่พระเจ้าแผ่นดินสวรรคต นอกจากนี้ หม่อมเจ้าห­ญิงพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังได้ทรงเล่าไว้ในเรื่อง “วันสวรรคตของรัชกาลที่ 5” ว่า

"...บรรยากาศในการเคลื่อนพระบรมศพออกจากพระราชวังดุสิตผ่านพระบรมรูปทรงม้าไปตามถนนราชดำเนินไปยังพระบรมมหาราชวังเต็มไปด้วยความเศร้าสร้อย พระบรมศพในพระโกศทองกั้นด้วยฉัตรสีขาวขลิบทองค่อย ๆ เคลื่อนออกจากประตูพระที่นั่งพระราชวังดุสิตเวลาประมาณ 19.00 น. มีการตัดสายไฟออกเพื่อให้ยอดพระยานมาศสามารถผ่านไปได้สะดวก ไฟฟ้าที่เคยสว่างอยู่ก็พลันมืดมิด แต่ทางการได้เอาตะเกียงมาติดกับปลายไม้ไผ่ดวงชวาลาให้แสงสว่างแก่ขบวนพระบรมศพ

ประชาชนที่รู้ข่าวสวรรคตก็พากันนุ่งขาวและนุ่งดำมาปูเสื่อเรียงรายสองข้างทางถนนราชดำเนินเพื่อถวายความจงรักภักดีเป็นครั้งสุดท้ายต่อพระบรมศพแห่งพระผู้ทรงประทานความเป็นไทยอย่างแท้จริงกับคนไทย

ใบหน้าของแต่ละคนมีแต่สีความเศร้าสลดที่เป็นหญิงน้ำตาไหลพรากลงสองแก้มที่เป็นชายแม้ใจแข็งก็ยังมีน้ำตาซึมด้วยความเสียใจ ขบวนพระบรมศพนำหน้าด้วยปี่กลองเครื่องสูงเคลื่อนที่ออกจากประตูพระราชวังดุสิตมุ่งหน้าไปตามถนนราชดำเนินผ่านลานพระบรมรูปทรงม้าไปช้า ๆ

ในขณะนั้นก็มีหมอกสีขาวเกิดขึ้น หมอกนี้ไม่ลอยสูงแต่ลอยเลี่ยอยู่กับพื้นดินเป็นควันสีขาวอ้อยอิ่งอยู่ไปมาและลอยขึ้นมาเกือบจะถึงศีรษะของผู้คน ดังนั้นเมื่อขบวนพระบรมศพผ่านมาจึงตัดหมอกนั้นเข้าไปเหมือนกับราชรถพระอินทร์ที่ลอยลงมาจากฟ้า หมอกนั้นมีความหนาวเหน็บจนจับขั้วหัวใจโบราณเรียกหมอกนี้ว่า “หมอกธุมเกตุ” จะมีขึ้นเมื่อมีเหตุอันใหญ่หลวงขึ้นในแผ่นดิน ครั้งนี้หมอกธุมเกตุลงตั้งแต่หัวค่ำแสดงให้เห็นความวิปริตของดินฟ้าอากาศเหมือนดั่งว่าสมเด็จพระสยามเทวาธิราชจะบันดาลให้เกิดขึ้นเพื่อเป็นการสลดอาลัยในการเสด็จสู่สวรรคัลลัยของพระผู้เป็นมหาราชผู้เลิกทาสในแผ่นดิน"


ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ธุมเกตุ (อ่านว่า ทุ-มะ-เกด) หมายถึงไฟ ดาวหาง ดาวตก สิ่งที่เป็นหมอกเป็นควันเกิดขึ้นในอากาศผิดธรรมดามีรูปคล้ายธง ซึ่งมาจากคำว่าธุม แปลว่าควันไฟ หมอก และเกตุ คือพระเกตุ ดาวตามความเชื่อทางโหราศาสตร์ อันเป็นดาวที่เป็นลางบอกเหตุร้าย ธุมเกตุ ความหมายตรงตามอักษรจึงหมายถึงหมอกควันอันสำแดงให้เห็นโดยพระเกตุ ส่อนัยถึงการมีเหตุร้ายแรงในบ้านเมือง

คำว่าธุมเกตุมักปรากฏคู่กับธุมเพลิง (อ่านว่า ทุม-เพลิง) ในฐานะลางร้าย โดยพจนานุกรมฉบับาชบัณฑิตยสถานกล่าวว่าธุมเพลิงหมายถึงแสงสว่างเป็นลำยาวสีแดง เกิดในท้องฟ้าเวลากลางคืน ถือว่าเป็นอุบาทว์

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog