ประธานาธิบดีจีนเปิดฉากยุคใหม่ให้ประเทศ ด้วยการบรรจุปรัชญาของตนเองในรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับปรัชญาเหมาและปรัชญาเติ้ง หลักการใหม่นี้ถูกเทียบว่าคล้ายกับนโยบาย America First ของสหรัฐฯ ซึ่งสะท้อนว่าโลกปัจจุบันมีทิศทางขวาหันไปในแนวชาตินิยมเข้มข้นทั้งในฝั่งมหาอำนาจตะวันตกและตะวันออก
สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน กลายเป็นผู้นำที่ทรงอำนาจที่สุดในประวัติศาสตร์จีนร่วมสมัย ต่อจากเหมาเจ๋อตุง บิดาแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ ผู้สร้างชาติจีน เนื่องจากแม้ที่ผ่านมาจะมีแนวคิดของผู้นำจีนหลายคนได้รับการบรรจุลงในธรรมนูญพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งใช้เป็นหลักการสูงสุดในการปกครองประเทศเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ แต่มีแนวคิดของผู้นำเพียง 3 คนที่ได้รับการบรรจุในฐานะ "ปรัชญา" นั่นก็คือปรัชญาของเหมาเจ๋อตุง ปรัชญาของเติ้งเสี่ยวผิง และล่าสุด ก็คือปรัชญาของสีจิ้นผิง ทำให้นักวิเคราะห์ทั่วโลกมองว่า นี่คือการเปิดฉากยุคใหม่ของจีนอยากแท้จริิง จากยุคของเหมา ที่เน้นการสมานสามัคคีสร้างชาติ ยุคของเติ้ง ที่มุ่งสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ มาสู่ยุคของสีจิ้นผิง ที่มุ่งตอกย้ำความเป็นปึกแผ่นในประเทศ ควบคู่กับการเป็นมหาอำนาจในการเมืองโลก
สีจิ้นผิง ในฐานะเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นประธานในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรค ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา
ปรัชญาสีจิ้นผิงคืออะไร?
ปรัชญา 14 ข้อของสีจิ้นผิงสกัดมาจากสุนทรพจน์สำคัญๆในอดีต รวบรวมเป็นยุทธศาสตร์และแนวทางการบริหารประเทศแบบใหม่ ประกอบด้วย 1 แก่น คือ "ความฝันของจีน" ที่จะเป็นมหาอำนาจของโลก และ 2 หลักสำคัญประกอบด้วยการผลักดันการปฏิรูปอย่างเบ็ดเสร็จ และการเชิดชูมวลชน โดยมีสโลแกนสำหรับการท่องจำและปฏิบัติตามในพรรคคอมมิวนิสต์ 3 หลักการ คือหลัก 4 เบ็ดเสร็จ ประกอบด้วยการสร้างสังคมที่รุ่งเรืองอย่างเบ็ดเสร็จ ปฏิรูปอย่างเบ็ดเสร็จ ปกครองโดยนิติรัฐอย่างเบ็ดเสร็จ และปกครองพรรคอย่างเข้มงวดเบ็ดเสร็จ หลัก 4 ทะนง ประกอบด้วยการทะนงในแนวทาง หลักการ ทฤษฎี และวัฒนธรรมแบบสังคมนิยม และ 4 ยิ่งใหญ่ ประกอบด้วยการรับมือความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ มีโครงการก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ ส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ และตระหนักถึงฝันอันยิ่งใหญ่ ซึ่งสาระสำคัญของหลักการทั้งหมดนี้ มุ่งเน้นที่การขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจผ่านการลงทุนขนาดใหญ่ การสร้างความเป็นปึกแผ่นภายในพรรค เน้นระเบียบวินัยของสมาชิกพรรค และการสร้างความเชื่อมั่นต่อแนวคิดรากฐานของพรรคคอมมิวนิสต์ สถาบันหลักของชาติ
สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ขณะพบกับโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ปาล์มบีช ฟลอริดา ระหว่างการเดินทางเยือนสหรัฐฯอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเมษายน 2017
China First VS America First
แม้ว่าปรัชญาสีจะกล่าวถึงการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย แต่สาระสำคัญที่แท้จริงมุ่งเน้นที่การตอกย้ำแนวคิดชาตินิยม ความภาคภูมิใจในชาติจีนในฐานะมหาอำนาจ และการเชื่อมั่นในพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์มองว่าแนวทางการบริหารประเทศของสี ไม่ต่างอะไรกับโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เน้นนโยบาย America First เน้นสร้างกระแสชาตินิยมในประเทศเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามหาอำนาจหลักทั้ง 2 ประเทศจะมีนโยบายที่เหมือนจะมุ่งเน้นกิจการภายในประเทศเป็นหลัก ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศอื่นๆที่เป็นพันธมิตรของมหาอำนาจทั้งสองจะไม่ได้รับผลกระทบจากแนวนโยบายชาตินิยมเช่นนี้ เห็นได้ชัดเจนในกรณีของทรัมป์ ที่นโยบายมุ่งเอาใจคนอเมริกัน สร้างความเดือดร้อนให้กับพันธมิตรทางการค้าอย่างถ้วนหน้า ยุคใหม่ของจีนที่ขับเคลื่อนภายใต้ปรัชญาจีนมาก่อนของสีจิ้นผิง จึงต้องจับตามองต่อไปว่าจะกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับชาติอื่นๆหรือไม่
ที่มา: Forbes, The Jamestown Foundation, The Diplomat
เรียบเรียง: พรรณิการ์ วานิช