ไม่พบผลการค้นหา
คุยกับคำ ผกา - ลักขณา ปันวิชัย นักเขียน คอลัมนิสต์ พิธีกรวอยซ์ทีวี

ขึ้นชื่อว่า คำ ผกา นักคิด นักเขียน และพิธีกรที่วอยซ์ทีวี แล้ว หากถามเธอถึงหนังสือในดวงใจ รายชื่อที่ได้มาคงไม่ใช่เล่น ๆ ประกอบกับชื่อเสียงด้านการวิพากษ์วิจารณ์และเสียดสีสังคมแล้วนั้น สาบานได้ว่าบทสัมภาษณ์ต่อจากนี้มีแต่เรื่องหนังสือ จริงจริ๊ง (เสียงสูง)

1.

ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพงศาวดารอยุธยา ของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อ่านตอนเรียนปริญญาตรีปี 2 มันเปลี่ยนโลกของเราอย่างมาก แค่ชื่อหนังสือก็ทำให้รู้สึกช็อค เพราะรัตนโกสินทร์เกิดหลังยุคอยุธยา แล้วจะไปเรียนประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์จากพงศาวดารอยุธยาได้ยังไง” คำ ผกา เริ่มต้นเล่า

สำหรับเด็กที่เรียนโรงเรียนไทย ๆ เรียนประวัติศาสตร์แบบไทย ๆ มักจะเห็นว่าทุกอย่างเดินเป็นเส้นตรง คือเริ่มต้นจากสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และจบด้วยรัตนโกสินทร์ คำ ผกาเห็นว่ามันลดทอนความซับซ้อนลงไปเยอะ

“การเรียนประวัติศาสตร์เราไม่ได้เรียนว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในอดีต แต่เรียนว่าประวัติศาสตร์ถูกเขียนขึ้นมาอย่างไร”

ในการเขียนประวัติศาสตร์มีการชำระประวัติศาสตร์อยู่ และการชำระประวัติศาสตร์ย่อมมีการเมืองอยู่ในนั้น คำ ผกา เล่าว่ามันทำให้เธอตระหนัก ว่าส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เป็น fiction เป็นเรื่องแต่ง เป็นการคัดสรรชุดข้อเท็จจริงอันหนึ่งขึ้นมาเรียบเรียงภายใต้ทัศนะของคนยุคนั้น

“ไม่ได้แปลว่าเขาโกหก แต่เขามีทัศนะอย่างนั้น มีการเมืองอย่างนั้นในยุคสมัยของเขา สมัยรัตนโกสินทร์มีการชำระพงศาวดารอยุธยา ถามว่าทำโดยใคร ทำไมเลือกชำระพงศาวดารฉบับนั้น ไม่เลือกฉบับนี้ เมื่อเทียบกับฉบับเก่า ๆ มีการเติมอะไรเข้ามา อะไรหายไป”

“ในประวัติศาสตร์ทุกยุค มีความจำเป็นที่จะต้องเขียนประวัติศาสตร์กระแสหลักขึ้นมาชุดหนึ่ง เขาไม่ผิดที่เขียนแบบนั้น เราผิดเองที่ไปเชื่อ แต่สิ่งที่เราต้องทำคือ ดูว่ามีคนเขียนกี่กลุ่ม มีข้อเท็จจริงแข่งขันกันกี่ชุด”

“ถ้าคุณเข้าใจวิธีคิด คุณจะอยู่กับข้อเท็จจริงกี่ชุด คุณก็จัดการมันได้ แล้วคุณจะไม่ไปพิพากษาด้วย ไม่ไปชี้ว่า เลว โกหก คุณจะเข้าใจว่าเพราะเขามีจุดยืนแบบนั้น เขาจึงเล่าเรื่องแบบนี้”

 

2.

การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ ของอาจารย์ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ทำให้ คำ ผกา เข้าใจการเมืองไทยสมัยใหม่อย่างแจ่มชัดในคอนเซ็ปต์ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์

“อาจารย์ทักษ์เขียนประวัติศาสตร์อย่างละเอียดมาก เป็นวิธีการทางประวัติศาสตร์มากๆ เราจะเห็นว่ามีการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ตั้งแต่ 2475 ไปจนถึง 2500 และจาก 2500 มาจนถึงปัจจุบัน ที่ทำให้การเมืองไทยในสองช่วงเวลานี้แทบจะเป็นการเมืองของคนละประเทศ มรดกของ 2475 ที่หายไปแบบหาไม่���จอเกิดจากอะไร หนังสือเล่มนี้จะให้คำตอบกับเรา

 

3.

คำ ผกา เล่าว่ามีนิตยสารที่ส่งผลต่อจิตใจของเธอมาก คือ นิตยสารโลกหนังสือ กับ นิตยสารถนนหนังสือ ซึ่งมีสุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็น บรรณาธิการ และมีคอลัมน์สิงห์สนามหลวง ซึ่งเป็นคอลัมน์ที่ บ.ก.คุยกับคนอ่าน

“ด้วยความที่เราเป็นเด็กบ้านนอกและที่บ้านไม่มีหนังสือเลย และที่บ้านไม่ส่งเสริมการอ่านอย่างรุนแรงด้วย ทีนี้ก็ต้องอาศัยห้องสมุดที่โรงเรียน ซึ่งรับนิตยสารพวกนี้”

“เราได้รู้จัก ลีโอ ตอลสตอย (Leo Tolstoy) ฌอง ปอล ซาร์ตร์ (Jean-Paul Sartre) ซีโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) อัลแบร์ กามู (Albert Camus) ทั้ง ๆ ที่ในตอนนั้นไม่เคยอ่านหนังสือของนักเขียนเหล่านั้นเลย แต่กลับรู้สึกเอ็นจอยกับบทสนทนา เอ็นจอยกับสิ่งที่เขาถกเถียงและซักถามกัน สิงห์สนามหลวงก็จะคอยไปค้นคำตอบมาตอบแบบเป็นเรื่องเป็นราว พอเรียนเข้ามหาลัยก็ได้ไปเจอหนังสือรวมเล่มคอลัมน์สิงห์สนามหลวง ชื่อ สิงห์สนามหลวง ตอบปัญหาชีวิตวรรณกรรม ก็อ่านอย่างมีความสุข ถ้ามีคนมาถามถึงหนังสือในชีวิตของเรา ก็ต้องพูดถึงเล่มนี้”

 

4.

เพศและวัฒนธรรม ของอาจารย์ปรานี วงษ์เทศ คำ ผกา บอกว่าถือเป็นหนังสือเรียน 101 ของคนที่สนใจประวัติศาสตร์เรื่องเพศ เธอเองยังต้องหยิบออกมาอ่านอยู่เรื่อยๆ ปีละครั้งสองครั้ง หยิบมาใช้อ้างอิง เช็คข้อมูล เธอเล่าว่า แม้หลายทฤษฎีอาจจะเก่ามากแล้ว แต่ทฤษฎีคลาสสิค อย่างไรก็ยังคงคสาสสิคอยู่ ต่อให้ข้อถกเถียงหรืองานวิจัยไปไกลขนาดไหน สุดท้ายก็ยังต้องกลับมาที่ต้นธารของมันเสมอ

“ความสนใจเรื่องประวัติศาสตร์เรื่องเพศ เริ่มจากความสนใจเรื่องอุดมการณ์รัฐ ความสัมพันธ์ของรัฐกับประชาชนว่าเป็นอย่างไร รัฐพยายามทำให้ประชาชนอยู่ในร่องในรอยอย่างไร ก็ต้องมีกฎหมาย มีรัฐธรรมนูญ มีการเขียนประวัติศาสตร์ มีการส่งผ่านอุดมการณ์รัฐในแบบเรียน รัฐไทยควบคุมเรื่องเพศของพลเมืองอย่างไร จัดการเรื่องความรักอย่างไร จัดการกับสถาบันครอบครัวอย่างไร แต่งงานต้องไปจดทะเบียน การตาย การเกิดต้องไปแจ้งอำเภอ นี่คือเรื่องเพศที่รัฐเข้าไปยุ่มย่ามในพื้นที่ของพลเมือง”

 

5.

กูเป็นนิสิตนักศึกษา ของสุจิตต์ วงษ์เทศ และขรรค์ชัย บุนปาน ตอนนั้นปี 2533 คำ ผกา เล่าว่า เธอสอบติดโควต้าของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พอรู้ว่าจะต้องมีการรับน้อง เธอจึงไปคว้าเล่มนี้มาอ่าน

“กูเป็นนิสิตนักศึกษา ชื่อมันเตะตา มีพลังดึงดูด ไม่อ่านไม่ได้ พออ่าน โอ้โห แบบด่ากิจกรรมในมหาวิทยาลัย การมีดาวมีเดือน การมีลีลาศ วิจารณ์ระบบโซตัสและการรับน้อง ด่าแรงมาก แล้วสำหรับเด็ก ม.6 ช็อค แล้วก็หลงรักเลย นี่คือสิ่งที่เราต้องการเมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เราจะไม่ไร้สาระ ไม่สายลมแสงแดด  ทำให้เรามหาวิทยาลัยไปโดยไม่สมาทานการรับน้องเลย”

 

6.

ลูกอีสาน ของคำพูน บุญทวี เป็นเล่มที่เธอรักมาก เธอพูดเช่นนั้น เธอบอกว่าอาจเป็นเพราะว่าเธอเป็นเด็กบ้านนอกและมีประสบการณ์ร่วมเช่นเดียวกับหนังสือ ทำให้หนังสือเล่มนี้กลายเป็นหนังสือในดวงใจของเธอ

“สิ่งที่หนังสือเล่มนี้ดึงดูดเราก็คือเรื่องอาหาร เราจะรอคอยฉากทำกับข้าว รู้สึกอยากกินอาหารทุกอย่างที่เขียนถึงในหนังสือ อยากนั่งเกวียนไปในหมู่บ้าน ไปจับปลา กินก้อยปลา จับอึ่งมาทำปลาร้าอึ่ง หาไข่มดแดง” คำ ผกา เล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น

คำพูน บุญทวี เป็นนักเขียนคนแรก ๆ ที่หยิบเอาความเป็นอีสานมาวางไว้บนโต๊ะอาหารของไทย เขาใช้ภาษาอีสานในหนังสือ “คุณต้องอหังการ์ขนาดไหนที่จะเขียนงานวรรณกรรมชิ้นหนึ่งโดยใช้ภาษาอีสาน โดยเฉพาะในสมัยนั้นด้วย”

ลูกอีสาน ตีพิมพ์ครั้งแรก ในปี 2519 ท่ามกลางแวดวงวรรณกรรมที่มีแต่เรื่องราวของคนภาคกลางหรือของคนกรุงเทพฯ “เรารู้สึกโหยหางานเขียนที่เรามีประสบการณ์ร่วม ที่ช่วยสะท้อนว่าเรามีตัวตนอยู่ในบ้านนี้เมืองนี้ อาหารที่อยู่ในเรื่องลูกอีสานเป็นอาหารที่ทางการไม่ยอมรับ เพราะเป็นอาหารที่หมอไม่ให้กิน แต่มันเป็นสิ่งที่เรากิน เหมือนมีคนมารับรองความชอบธรรมกับวัฒนธรรมอาหารของเรา”

"ถ้าเราใช้มุมมองแบบหลังยุคอาณานิคม (post colonial) ไปจับ ในสายธารของวรรณกรรมไทยทั้งหมด ลูกอีสานไม่พูดถึงอำนาจรัฐส่วนกลาง ถ้าเทียบกับเรื่องครูบ้านนอก ของคำหมาน คนไค หรือฟ้าบ่กั้น ของคำพูนเอง จะพูดถึงความคับข้องหมองใจ ความเจ็บปวดที่คนอีสานถูกกดขี่จากอำนาจรัฐ ลูกอีสานไม่ได้สนใจประเด็นนี้ แต่เป็นการประกาศความมีตัวตนอยู่ของคนอีสาน โดยไม่ได้คร่ำครวญถึงความเจ็บปวดของตัวเอง แต่เรารู้ว่ามันมี suppression (การกดขี่) ของวัฒนธรรม”

“เมื่อเทียบกับวรรณกรรมล้านนา อย่างงานเขียนของมาลา คำจันทร์ นิราศเรื่องเจ้าจันทร์ผมหอม เป็นความพยายามเชิดชูความสูงส่งของล้านนาเพื่อต้านแรงกด แต่ลูกอีสานไม่แคร์เรื่องแบบนี้ ไม่พยายามจะสวยหรือดี ไม่พูดถึงความงดงามของอารยธรรมอีสาน แต่เขียนแบบที่มันเป็นจริง ๆ”

 

7.

มายาคติ ของโรล็องด์ บาร์ตส์ แปลโดยวรรณพิมล อังคศิริสรรพ คำ ผกา บอกว่า ถือเป็นคุณูปการต่อคนไทยอย่างยิ่งที่มีการแปลเล่มนี้ออกมาให้ได้อ่านเป็นความรู้พื้นฐาน ทำให้อ่านงานของโรล็องด์ บาร์ตส์ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ง่ายขึ้น

“อยากให้มีการแปลงานแบบนี้ออกมาเป็นภาษาไทยเยอะ ๆ งานแปลที่มีคุณภาพ หนังสือที่แปลออกมาแล้วอ่านรู้เรื่อง มีอยู่ไม่กี่เล่ม มายาคติเป็นหนึ่งในนั้นที่อ่านรู้เรื่อง อย่าง ชุมชนจินตกรรม ที่แปลจากหนังสือ Imagined Communities ของเบน แอนเดอร์สัน เป็นเล่มที่อ่านแล้วไม่รู้เรื่อง”

“ทฤษฎีเกี่ยวกับการแปลมีหลายทฤษฎี อันนี้ต้องให้นักแปลไปถกเถียงกันเอง แต่สำหรับชาวบ้านอย่างเรา เราอยากอ่านแล้วรู้เรื่อง นักวิชาการอาจอ่านแล้วรู้เรื่อง แต่พอเราอ่านไม่รู้เรื่อง สุดท้ายเราก็เอาหนังสือขึ้นหิ้ง ไม่จับอีกเลย”

 

8.

กำเนิดสยามจากแผนที่ ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ เขียนโดย อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล แปลจาก Siam Mapped: A History of the Geo-Body of a Nation แปลโดย พวงทอง ภวัครพันธุ์ ไอดา อรุณวงศ์ และพงษ์เลิศ พงษ์วนานต์

“ไม่ต้องบรรยายมาก เพราะคลาสสิค ประวัติศาสตร์การสร้างชาติมี 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็น body กับส่วนที่เป็น soul เล่มนี้พูดถึงส่วนที่เป็น body พูดถึงประวัติศาสตร์การสร้างชาติไทยในส่วนที่เป็นกายภาพ ว่าขวานทองอันนี้ได้มาอย่างไร” คำ ผกา กล่าว

 

9.

Nationalism and Sexuality ของ George L. Mosse คำ ผกา บอกว่า เธออาจจะให้หนังสือเล่มนี้เป็นเบอร์หนึ่งในดวงใจ เธอบอกว่าคนที่ศึกษาประวัติศาสตร์เรื่องเพศทุกคนต้องอ่าน เล่มนี้เขาศึกษาศีลธรรมทางเพศของชนชั้นกลางในอังกฤษ เยอรมัน และอิตาลี ว่ามีที่มาอย่างไร

เธอเล่าว่า ศีลธรรมทางเพศ มีการก่อร่างขึ้นมาพร้อม ๆ กับกำเนิดของรัฐชาติในศตวรรษที่ 18 ของทั้งสามชาติ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแผนที่ สร้างพรมแดน สร้างคอนเซ็ปต์เรื่องประชากร สร้างระบบการเมือง สร้างระบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพลเมืองแล้ว ก็ยังสร้างศีลธรรมทางเพศขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง มีการสร้างคอนเซ็ปต์ว่าด้วยสุภาพบุรุษ และสุภาพสตรีขึ้นมาด้วย

“หนังสือเล่มนี้ แสดงให้เห็นเป็นครั้งแรกถึงความเชื่อมโยงของประวัติศาสตร์ชาตินิยมกับประวัติศาสตร์เรื่องเพศอย่างแยกกันไม่ออก นี่เป็นครั้งแรกที่คนได้เห็นว่า public กับ private เป็นเรื่องเดียวกัน”  

เธอเล่าว่า วิธีคิดเรื่องศีลธรรมทางเพศของชนชั้นกลาง ที่ไปเกี่ยวพันกับการเมืองในศตวรรษที่ 18 ที่เกิดขึ้นในอิตาลีและเยอรมันนั้น พัฒนามาสู่ลัทธิฟาสก์ซิสต์ เพราะฮิตเลอร์บ้าคลั่งเรื่องศีลธรรม และนี่คือจุดพีคของหนังสือเล่มนี้  

“มาดูปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นใกล้ตัวเรา เราจะเห็นร่องรอยการปฏิบัติการทางอุดมการณ์ของศีลธรรม เช่น สโลแกนให้เหล้าเท่ากับแช่ง การพยายามไม่ให้นุ่งกระโปรงสั้น การพยายามไม่ให้มีสถานบันเทิงใกล้สถานศึกษา วิธีคิดที่ใช้ศีลธรรมมาแบ่งแยกคนแบบฟาสก์ซิสต์ ซึ่งปัจจุบันสังคมไทย เรียกว่า ‘คนดี’ ”

 

10.

บ้านเมืองของเราลงแดง ของอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน เป็นงานคลาสสิคของรัฐไทยศึกษา

“สำหรับคนที่สนใจประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ จะต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ เป็นเล่มที่เราต้องย้อนกลับไปอ่านอยู่เรื่อย ๆ ทุกครั้งที่มึน ๆ งง ๆ กับการเมืองไทย”

อาจารย์เบนเขียนตั้งแต่ปี 2519 เป็นการขุดรากถอนโคนเรื่องการเมืองในไทยศึกษา และสร้างสิ่งที่เรียกว่า ไทยศึกษาในอาณาบริเวณของการศึกษารัฐศาสตร์ไทย ซึ่งอาจารย์เบนวิพากษ์จากสายตาคนนอก

“เป็นหนังสือที่ทำให้เราตื่น เป็นเล่มที่เปิดกะลาของเราหนักมาก” คำ ผกา ทิ้งท้าย


สาบานได้เราคุยกันเรื่องหนังสือ: หมอเลี้ยบอ่านอะไร

สาบานได้เราคุยกันเรื่องหนังสือ: ช่อ อ่านอะไร

สาบานได้เราคุยกันเรื่องหนังสือ: คุณปลื้ม อ่านอะไร

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog