มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เผยแพร่วิทยานิพนธ์ของสตีเฟน ฮอว์คิง นักฟิสิกส์ทฤษฎีและจักรวาลวิทยาชื่อดัง เพื่อให้ผู้สนใจดาวน์โหลดผลงานผ่านเว็บไซต์ และคนทั่วโลกพร้อมใจกันดาวน์โหลดกว่า 60,000 ครั้งในเวลาไม่กี่ชั่วโมง จนเว็บไซต์ล่มไประยะหนึ่ง
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เผยแพร่ผลงานวิจัยฉบับเต็มว่าด้วยการขยายตัวของเอกภพ Properties of Expanding Universe ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์สมัยปริญญาเอกของสตีเฟน ฮอว์คิง นักฟิสิกส์ทฤษฎีและจักรวาลวิทยาชื่อดังชาวอังกฤษ เมื่อวานนี้ (23 ตุลาคม) หลังจากได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจากฮอว์คิงให้เผยแพร่ผลงานดังกล่าวได้ และผู้สนใจผลงานของฮอว์คิงทั่วโลกดาวน์โหลดผลงานราว 60,000 ครั้งในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ส่งผลให้ระบบเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ล่มไประยะหนึ่ง และเจ้าหน้าที่แก้ไขปัญหาด้วยการเปิดหน้าเพจสำหรับเป็นช่องทางดาวน์โหลดเพิ่มเติมแก่ผู้ที่สนใจ
นายฮอว์คิงระบุว่าการเผยแพร่ผลงานวิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิตของเขา เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเผยแพร่ความรู้ต่อสาธารณะ Open Access 2017 ในฐานข้อมูลออนไลน์ Apollo ซึ่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์กำลังผลักดันให้เป็นรูปเป็นร่าง โดยนักศึกษาปริญญาเอกที่จบการศึกษาจากเคมบริดจ์ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2017 เป็นต้นไป จะถูกมหาวิทยาลัยขอความร่วมมือให้มอบไฟล์เอกสารฉบับดิจิทัล รวมถึงขอให้เจ้าของผลงานอนุมัติการเผยแพร่วิทยานิพนธ์สู่สาธารณชน แต่นโยบายนี้ไม่ใช่การบังคับ เจ้าของผลงานยังสามารถสงวนสิทธิ์ที่จะไม่เผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์ได้
ฮอว์คิงเป็นที่รู้จักโด่งดังจากทฤษฎีหลุมดำ, จักรวาลวิทยาเชิงกายภาพ, ทฤษฎีโน้มถ่วงเชิงควอนตัม และรังสีฮอว์คิง ขณะที่วิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าวของเขาได้รับความเห็นชอบให้ตีพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ปี 1966 ขณะที่เขามีอายุได้ 24 ปี และยังไม่เป็นที่รู้จัก แต่มหาวิทยาลัยได้นำวิทยานิพนธ์ไปให้บริการในห้องสมุด ผู้ที่ต้องการทำสำเนาจะต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับห้องสมุดฉบับละ 65 ปอนด์ หรือประมาณ 3,120 บาท
เมื่อริเริ่มโครงการ Open Access ฮอว์คิงได้เขียนจดหมายแสดงความจำนงให้มหาวิทยาลัยนำผลงานของเขาไปเผยแพร่ในฐานข้อมูลออนไลน์ได้ โดยเขาระบุว่า "ทุกคนและทุกที่บนโลกใบนี้ควรได้รับโอกาสเข้าถึงงานวิจัยต่างๆ โดยไม่ถูกปิดกั้น ไม่เฉพาะงานของผม แต่รวมถึงทุกความคิดที่ตั้งคำถามข้ามขอบเขตความเข้าใจอันหลากหลายของมนุษย์"
ฮอว์คิงได้รับแจ้งด้วยว่าวิทยานิพนธ์ของเขามีคนสนใจทั่วโลก เขาจึงกล่าวว่า ผู้คนแต่ละยุคสมัยต่างก็ได้รับอิทธิพลจากคนในยุคก่อนหน้าทั้งนั้น ในสมัยที่เขายังหนุ่มและกำลังทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่เคมบริดจ์ เขาก็ได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานของไอแซก นิวตัน, เจมส์ เคลิร์ก แม็กซ์เวล และอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์มาก่อน ถ้าหากว่าผลงานของเขาจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ อีกต่อหนึ่งได้ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก
ด้านนายอาร์เธอร์ สมิธ รองผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารวิชาการของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ระบุว่า การเปิดกว้างทางข้อมูลจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาต่อยอดด้านงานวิจัย เพราะจะช่วยลดอุปสรรคต่างๆ ที่เคยสกัดกั้นไม่ให้ผู้คนเข้าถึงองค์ความรู้ และการเปิดกว้างทางข้อมูลอาจนำไปสู่การค้นพบทฤษฎีใหม่ๆ ในทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และเทคโนโลยีได้ในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: