คำ”ขอโทษ” ของพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อาจไม่เพียงพอกับความเสียหายของปัญหาน้ำท่วมขังบนถนนสายหลัก 55 จุดในวันที่ 14 ต.ค.60 จนทั้งเมืองกลายเป็นอัมพาต โดยเฉพาะเมื่อพบว่ากทม.ใช้เวลาระบายน้ำเกินกว่า 3 ชั่วโมง
ข้อมูลจากสำนักการระบายน้ำ กทม. ระบุชัดเจนว่าปัญหาวันที่14 ต.ค.60 มาจากปริมาณน้ำฝนมากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง และตกนานเกิน 6 ชั่วโมง ทำให้มีน้ำท่วมขังในถนนสายสำคัญกว่า55 จุด แต่การใช้เวลาระบายนานเฉลี่ย 6.30 ชั่วโมง และถนนดินแดงใช้เวลาระบายน้ำนานถึง 14.30 ชั่วโมง ระบบระบายน้ำอาจผิดปกติ
นอกจากนี้สำนักการระบายน้ำ กทม. ยังระบุอีกว่ามีถนนใช้เวลาระบายนานเกิน 9 ชั่วโมง ถนนประชาอุทิศ ซอย 90 ถนนพหลโยธิน แยกลาดพร้าว ถนนเอกชัยบริเวณบริษัทกระทิงแดง ถนนดินแดง บริเวณซอยสุทธิพรถนนเพชรเกษม บริเวณคลองยายเพียร ถนนเพชรเกษม บริเวณเพชรเกษม 37
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้น้ำท่วมขังรอระบายนานเกิน 3 ชั่วโมงกว่าเกณฑ์กำหนดที่กทม.ออกแบบระบบระบายน้ำ สาเหตุมาจากปริมาณฝนตกหนักที่มากกว่าค่าอุบัติซ้ำในช่วง 2 ปี หรือไม่ ประสิทธิภาพอุโมงค์ยักษ์ใช้งานได้จริงหรือไม่
ดร.สุจริต คุณธนกุลวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญการบริหารจัดการน้ำให้สัมภาษณ์กับกับกองบรรณาธิการวอยซ์ทีวีออนไลน์ว่าการที่ระดับน้ำท่วมขังนานเกิน 3 ชั่วโมงแสดงให้เห็นว่าระบบระบายน้ำอาจจะมีปัญหาคือมีประสิทธิภาพต่ำกว่าการออกแบบใช้งาน หากพิจารณาจากปริมาณน้ำฝนต้องยอมรับว่า ในคืนวันที่ 13 ต.ค. และวันที่ 14 ต.ค. มีฝนตกมากจริง และมากที่สุดเกิดขึ้นที่ฝั่งธนบุรีจำนวน 220 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ส่วนฝั่งกทม. มีปริมาณฝนประมาณ 120 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง โดยพื้นที่ปากคลองตลาดมีปริมาณฝนสูงสุด 80-90 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง
แต่มีข้อสังเกตว่า ปัญหาคือน้ำท่วมเกิดขึ้นในฝั่งกทม.เป็นส่วนใหญ่ แต่ฝั่งธนบุรีมีน้ำท่วมขังน้อยกว่าทั้งๆที่ฝนตกมากกว่า
ฝนมากไม่ใช่ปัญหากทม.ระบายน้ำนาน
แม้ปริมาณฝนจะมากเกินศักยภาพการระบายน้ำของกทม.ที่ออกแบบรองรับเอาไว้ที่ฝน 60 มิลิเมตรต่อชั่วโมงและคำนวณค่าอุบัติซ้ำของการระบายน้ำท่วมขังต้องไม่เกิน 3ชั่วโมง แต่การระบายน้ำท่วมขังที่นานเกินไปแสดงให้เห็นว่าระบบระบายน้ำผิดปกติ หรือมีประสิทธิต่ำกว่าที่ออกแบบไว้
“ปริมาณฝนเกินศักยภาพของท่อระบายน้ำจะระบายได้นี้เป็นเรื่องจริงแต่ปัญหาคือการท่วมขังที่นานเกินไปเพราะบางถนนใช้เวลาระบายน้ำเกิน 9ชั่วโมงจึงไม่น่าจะเป็นปัญหาที่ปริมาณน้ำฝนมากอย่างเดียว”
ระบายน้ำไปไม่ถึง”คลอง”
การออกแบบระบบระบายน้ำของกทม.โดยเฉพาะระบบระบายน้ำจากถนน จะวางท่อระบายน้ำไว้ขนานกับถนน ไปเชื่อมกับคลองต่างๆ แล้วต่อไปยังสถานีสูบน้ำซึ่งวางเอาไว้ตามจุดต่างๆ เพื่อเร่งการระบายน้ำที่ลงแม่น้ำ หรือทะเล
การที่น้ำเอ่อท่วมถนนเป็นเวลานานอาจจะมาจากปริมาณน้ำในคลองหลักอย่างคลองแสนแสบ หรือคลองลาดพร้าวมีปริมาณน้ำมากเกินกว่าที่จะระบายลงไปได้ แต่เมื่อไปตรวจสอบระดับน้ำ กลับพบว่าทั้ง คลองแสนแสบ และคลองลาดพร้าวมีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งจำนวนมาก
โดยในวันที่ 14 ต.ค ระดับน้ำคลองแสนแสบอยู่ที่ 0 ม.รทก แต่ตลิ่งคลองแสนแสบสูง 2 ม.รทก .ทำให้ยังสามารถรับน้ำจากถนนได้มากกว่า1 เมตรเช่นเดียวกับคลองลาดพร้าวระดับน้ำก็ต่ำกว่าตลิ่งมากเช่นกัน ดังนั้นคลองจึงสามารถรับน้ำที่ระบายจากถนนได้ เพียงแต่ไม่สามารถระบายน้ำลงไปยังคลองได้
ระบบระบายน้ำผิดปกติ
ดร. สุจริต ระบุว่า ปัญหาน่าจะอยู่ที่ตัวท่อระบายน้ำของถนนที่ใช้เป็นระบบลำเลียงน้ำลงไปสู่คลองมีปัญหา ส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากปัญหาขยะที่ติดกับตะแกรงเพราะว่ายกตะแกรงแล้วน้ำไหลได้
แต่อีกส่วนหนึ่งน่าจะมีปัญหาตรงที่ไม่มีการลอกท่อระบายน้ำซึ่งในเดือนพฤษภาคมของทุกปีจะมีนักโทษชั้นดีมาช่วยขุดลอกแต่ปีนี้เราไม่เห็นการขุดลอกท่อระบายน้ำ ทำให้ประสิทธิภาพการระบายน้ำที่ต่ำกว่าปกติ
“การออกแบบระบบระบายน้ำโดยเฉพาะถนนสายสำคัญจะมีระบบที่ทำให้ระบายน้ำได้เร็ว เช่น ถนนวิภาวดีออกแบบไว้ให้ระบายน้ำท่วมขังไม่เกิน 1ชั่วโมงแต่วันที่ 14 ต.ค. ถนนวิภาวดี ใช้เวลาระบายเกือบทั้งวัน”
การที่กทม.ระบายน้ำท่วมขังถนนสายหลักทั้ง 55 จุด ใช้เวลาเฉลี่ย 6.30 ชั่วโมง จึงต้องมาทบทวนกันว่าระบบที่ออกแบบให้สามารถระบายน้ำไม่เกิน 3 ชั่วโมงตามที่กำหนดเอาไว้มีปัญหาหรือไม่รวมไปถึงการกำหนดโซนถนนเพื่อมาทบทวนระบบฉุกเฉินว่าปัญหาการระบายน้ำตรงบริเวณไหนบ้างเพื่อปรับปรุงระบบระบายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เครื่องสูบน้ำไม่ได้มีน้อยเกินไป
ส่วนปัญหาเครื่องสูบน้ำมีปริมาณน้อยเกินไปหรือไม่ ดร.สุจริต กล่าวว่า ไม่ได้น้อยเกินไปเพราะ ความสามารถเครื่องสูบมีเยอะ โดยเฉพาะฝั่งกรุงเทพฯสูบน้ำจำนวนมาก แต่น้ำระบายไม่ทัน เพราะระบบระบายน้ำจากท่อระบายมีปัญหา และบางช่วงของคลองแคบทำให้น้ำไม่สามารถระบายน้ำได้ต้องเพิ่มระบบเครื่องดันน้ำ และต่อท่อพิเศษเพื่อให้ส่งน้ำไปยังจุดระบายน้ำออกไปให้เร็วขึ้น
อุโมงค์ยักษ์ 5 แห่งมีปัญหาในการใช้งานหรือไม่
ส่วนปัญหาไม่ได้อยู่ที่อุโมงค์ยักษ์สามารถใช้งานได้หรือไม่ ดร. สุจริต บอกว่าอุโมงค์ยักษ์ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อระบายน้ำจากถนน แต่ออกแบบมาให้รับน้ำจากคลองเพื่อลดระดับน้ำในคลองเพื่อระบายออกให้ได้เร็วขึ้น
แต่ปัญหาคือระบบบายน้ำที่เป็นท่อระบายเพื่อลำเลียงน้ำลงสู่คลองมีปัญหา ต้องเพิ่มประสิทธิภาพท่อระบายน้ำ ซึ่ง กทม.ต้องสร้างระบบเสริมในการระบายน้ำลงไปสู่คลองให้ได้ จึงจะแก้ปัญหาได้ในอนาคต
กทม.ต้องทบทวนระบบระบายน้ำ
ดร. สุจริต เสนอแนวทางแก้ปัญหา ระยะสั้นต้องจัดระบบเพื่อให้ประสิทธิภาพของท่อระบายและ ปั้มน้ำที่มีอยู่ให้ทำงานได้เต็มที่กำหนดเอาไว้ ซึ่งในส่วนนี้ต้องจัดโซนถนนที่สำคัญวางระบบปั้มการสูบการดันน้ำเพื่อระบายน้ำลงไปสู่คลองให้ได้
ส่วนที่สองคือถนนต้องมีระบบสะดือหรือบึงระบายน้ำลงไปเช่นในต่างประเทศเขาใช้วิธีสร้างอุโมงค์ใต้ถนนลึกลงไปประมาณ 20 เมตร เมื่อมีปัญหาน้ำท่วมขังถนนจะเปิดอุโมงค์เก็บน้ำให้ช่วยเก็บน้ำเพื่อระบายลงไปยังคลอง โดยควรทำอุโมงค์ลักษณะนี้ต้องทำในทุกหนึ่งกิโลเมตร เพราะการปล่อยให้น้ำท่วมขังถนนเป็นเวลานานสร้างความเสียหายจำนวนมาก