'มนุษย์เงินเดือน' เตรียมควักกระเป๋าจ่ายเพิ่มเงินประกันสังคม เพดานเงินเดือน 20,000 บาท จ่ายสมทบ1,000 บาท คาดเริ่มบังคับใช้ต้นปี61 สปส.ยืนยันประกันสังคมไม่ได้ถังแตก แต่ปรับเพิ่มเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตน
จากกรณีกระแสข่าวการปรับเพดานเงินเดือน 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท โดยจ่ายเงินสมทบจาก 750 เป็นจ่ายสูงสุด 1,000 บาท
นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ยืนยันว่าจะมีการปรับเพิ่มเพดานการจ่ายสมทบมากขึ้น โดยหลังจากจัดรับฟังความคิดเห็นครบทุกภาคแล้วโดยพบว่าประชาชนกว่า 81 % เห็นด้วยในการปรับเพดานฐานคำนวณเงินเดือนเพื่อจ่ายเงินสมทบเพิ่มจาก 15,000 บาทเป็น 20,000 บาท ได้เตรียมยกร่างข้อเสนอทั้งหมดต่อรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน และหลังจากก็จะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งหากผ่านขั้นตอนทั้งหมดจะเริ่มบังคับใช้ได้ในต้นปี 2561
สำหรับอัตราการปรับฐานคำนวณเงินสมทบจากเดิมผู้มีเงินเดือน 15,000 บาท จ่ายเงินสมทบสูงสุด 750 บาท เมื่อขยับฐานมาเป็นเงินเดือน 20,000 บาท จะต้องจ่ายสมทบในอัตราดังนี้คือ เงินเดือนไม่ถึง16,000 บาทจ่ายสมทบ 750 บาท ,เงินเดือน16,000บาท-20,000 บาทจ่ายสมทบ 800 บาท ส่วนเงินเดือน 20,000 บาทขึ้นไปจ่ายสมทบเพิ่มเป็น 1,000 บาท
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่าการปรับเพิ่มฐานคำนวณเงินเดือนใหม่และจ่ายสมทบเพิ่มไม่ได้มาจากกองทุนประกันสังคม ไม่มีเงินจ่ายบำนาญชราภาพหรือกองทุนถังแตก แต่เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนทั้งระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากอัตราเดิมใช้มานานกว่า 27 ปีแล้ว ซึ่งในขณะนั้นผู้มีเงินเดือน 15,000 บาท เพียง 10 % แต่ปัจจุบันผู้มีเงินเดือนเกิน 15,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 32%
สำหรับสิทธิ์ประโยชน์ที่ผู้ประกันตน จะได้รับสิทธิในระยะสั้น คือ ผู้ประกันตนที่มีเงินเดือน 20,000 บาท จะได้รับเงินประกันว่างงานจากเดิม 7,500 ปรับเป็น 10,000 บาท หากเจ็บป่วยจากเดิมได้ 50 % จะปรับสูงสุดอยู่ที่ 10,000 บาท ขณะที่เงินสงเคราะห์เพื่อการดูแลบุตร เดิมทีจ่ายที่ 90 วัน จำนวน 22,500 บาท แต่ปรับขึ้นเป็น 30,000 บาท ในส่วนสิทธิระยะยาวกรณีเงินส่วนเงินชดเชยบำนาญจะจ่ายเพิ่มจาก 3,000 บาท เป็นจ่ายสูงสุด 4,000 บาท
ส่วนการขยายการจ่ายเบี้ยชราภาพจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปีขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมยืนยันอีกว่า กองทุนฯมีเงินเพียงพอในการใช้จ่ายเงินบำนาญชราภาพ แน่น่อนโดยขณะนี้มีเงินในกองทุนฯทั้งหมด 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่ง 90 % ของเงินกองทุน ได้ใช้จ่ายเป็นเงินบำนาญ
นอกจากนี้ผลประกอบการของกองทุนประกันสังคมยังมีกำไรโดยปี2559 ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนกว่า 52,800 ล้านบาท และใน 6 เดือนแรกของปี 2560 ได้ผลตอบแทนประมาณ 25,000 ล้านบาท
“ผมอยากย้ำว่าไม่ได้ถังแตก การปรับเพดานเงินสมทบเพื่อให้ผู้ประกันตนได้สิทธิประโยชน์ทั้งระยะสั้นและระยะสั้นยาว”