อดีตผู้บริหารบริษัทเครื่องบินเกาหลีใต้ ซึ่งเพิ่งทำสัญญาจัดซื้อจัดหาเครื่องบินฝึกซ้อมให้กับกองทัพอากาศไทย ถูกสอบสวนในคดีเกี่ยวพันการทุจริต โดย 1 รายถูกตั้งข้อหา และอีก 1 รายฆ่าตัวตายเมื่อเดือนกันยายน
ในระหว่างที่เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงการบินและความมั่นคงนานาชาติ หรือเอเด็กซ์ (ADEX) ในกรุงโซล ตั้งแต่วันที่ 17 ถึง 22 ตุลาคม สำนักงานอัยการในกรุงโซลก็ได้สั่งสอบสวนเพิ่มเติมกรณีอดีตผู้บริหารและพนักงานส่วนหนึ่งของบริษัทโคเรีย แอโรสเปซ อินดัสตรีส์ หรือเคเอไอ (KAI) กิจการรัฐวิสาหกิจ ผู้ผลิตเครื่องบินและอากาศยานด้านความมั่นคงแห่งเดียวของเกาหลีใต้ ถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการทุจริต ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของบริษัทอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง
เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชี่ยน รีวิว รายงานว่า นายฮาซัง-ยง อดีตประธานบริหารของเคเอไอ ถูกตั้งข้อหาทุจริตเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม หลังจากที่เขาถูกจับกุมตั้งแต่เดือนกันยายน และเจ้าหน้าที่ได้ขยายผลสอบสวนเพิ่มเติมไปยังอดีตกรรมการบริหารและพนักงานปัจจุบันของเคเอไออีก 9 คน ซึ่งข่าวไม่ได้ระบุชื่อ ในฐานะที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวพันกับการทุจริต ตกแต่งบัญชี ติดสินบน ยักยอกเงิน และอาจจะรวมถึงการกำหนดราคาผลิตภัณฑ์สูงเกินจริง แม้ว่าก่อนหน้านี้บริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีให้กับเคเอไอจะยืนยันว่าไม่พบข้อมูลผิดปกติก็ตาม
กระบวนการสอบสวนข้อกล่าวหาทุจริตของบริษัทเคเอไอเริ่มขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม หลังจากเฮลิคอปเตอร์รุ่นซูเรียน Surion ไม่ผ่านการทดสอบคุณภาพ และสำนักงานกำกับดูแลคุณภาพด้านอุตสาหกรรมแห่งชาติได้สั่งระงับการผลิตเครื่องเฮลิคอปเตอร์รุ่นดังกล่าวเป็นการชั่วคราว ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้มีการตรวจสอบเพิ่มเติมและพบเบาะแสว่าผู้บริหารและพนักงานของเคเอไอจำนวนหนึ่งอาจร่วมกันตกแต่งบัญชีเพื่อยักยอกเงินรวมกว่า 471 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 15,000 ล้านบาท
ขณะที่นายคิมอินซิก อดีตรองประธานบริหารของเคเอไอ ซึ่งไม่ได้เป็นเป้าหมายที่จะถูกสอบสวนในคดีทุจริต ฆ่าตัวตายที่บ้านพักส่วนตัวเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยเขาได้เขียนจดหมายแสดงความเสียใจที่ทำให้บริษัท พนักงาน และครอบครัวต้องเป็นกังวล ส่วนนายฮาซังยงที่ลาออกจากตำแหน่งประธานบริหารตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถูกจับกุมและตั้งข้อหาในเวลาไล่เลี่ยกันกับการเสียชีวิตของนายคิมอินซิก แต่เขายืนยันว่าตัวเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการทุจริตที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทเคเอไอเป็นผู้ผลิตเครื่องบินฝึกซ้อมรุ่น T-50 TH (ที-50 ทีเอช) หรือ Golden Eagle ซึ่งกองทัพอากาศไทยดำเนินการจัดซื้อจัดหามาแล้ว 2 ระยะ และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพิ่งเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบจัดซื้อจัดหาเครื่องบินรุ่นดังกล่าวในระยะที่ 2 ไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คิดเป็นเงินเกือบ 9,000 ล้านบาท ส่วนประเทศที่สั่งซื้อเครื่องบินฝึกรุ่นนี้นอกเหนือจากไทย ได้แก่ อิรัก ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ขณะที่สหรัฐฯ กำลังพิจารณาว่าจะสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นนี้ด้วยหรือไม่
หนังสือพิมพ์เดอะโคเรียเฮรัลด์ รายงานด้วยว่า อุตสาหกรรมการบินและความมั่นคงของเกาหลีใต้เติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะสถานการณ์ตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีที่เกิดจากการทดสอบขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ทำให้หลายประเทศมีความต้องการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มขึ้น รวมถึงอากาศยานด้านความมั่นคงต่างๆ โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เกาหลีใต้มีรายได้จากการส่งออกเครื่องบินรุ่น T-50 ไปยังประเทศต่างๆ รวมเป็นเงินกว่า 2,300 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 75,900 ล้านบาท
ด้านนายมุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนปัจจุบัน ซึ่งเป็นประธานในพิธีเปิดงานแสดงการบินและความมั่นคงนานาชาติที่กรุงโซลเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ก็ได้กล่าวสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินในประเทศ พร้อมระบุว่ารัฐบาลจะผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างเกาหลีใต้และประเทศพันธมิตร เพื่อร่วมกันพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์และระบบป้องกันที่มีเครือข่ายโยงใยอย่างมีประสิทธิภาพ
ภาพจาก: Korea Aerospace Industries (KAI)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: