เทศกาลกินเจประจำปีนี้กำลังจะเริ่มขึ้นในสัปดาห์หน้าแล้ว และหลายๆ คนก็คงเตรียมตัวที่จะร่วมถือศีลกินเจตามเทศกาล แต่คงมีไม่กี่คนที่จะรู้ว่าเทศกาลกินเจมีที่มาที่ไปอย่างไร และทำไมเราถึงต้องกินเจกันในช่วงเวลานี้ของทุกๆปี
เทศกาลกินเจประจำปีนี้กำลังจะเริ่มขึ้นในสัปดาห์หน้าแล้ว และหลายๆ คนก็คงเตรียมตัวที่จะร่วมถือศีลกินเจตามเทศกาล แต่คงมีไม่กี่คนที่จะรู้ว่าเทศกาลกินเจมีที่มาที่ไปอย่างไร และทำไมเราถึงต้องกินเจกันในช่วงเวลานี้ของทุกๆปี
เทศกาลกินเจ หรือ จิ่วหวงเย่ เป็นเทศกาลเก่าแก่ของจีนที่ปฏิบัติสืบต่อกันมากว่า 400 ปีมาแล้ว โดยจะมีขึ้นในระหว่างวันขึ้น 1 ค่ำถึงขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 15-21 ตุลาคม และถึงแม้ประเพณีการกินเจจะเริ่มขึ้นในจีน แต่ในปัจจุบันประเทศที่ยังคงมีการกินเจกันอย่างแพร่หลาย กลับเป็นประเทศที่มีชาวจีนโพ้นทะเลอาศัยอยู่หนาแน่น ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย หรือประเทศที่นับถือศาสนาพุทธแบบมหายายเช่นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และภูฏาน
สำหรับที่มาของเทศกาลกินเจนั้น มีตำนวนเรื่องเล่าอยู่หลายกระแส โดยตำนานที่แพร่หลายมากที่สุด กล่าวกันว่าการกินเจของชาวจีนมีที่มาจากการรำลึกถึงการเสียสละของเหล่านักรบ "หงี่หั่วท้วง" กองกำลังทหารชาวบ้านของจีนฮั่นที่ต่อสู้ต้านทานกองทัพแมนจู
โดยเล่ากันว่าในยุคนั้นฝ่ายแมนจูมีปืนไฟของตะวันตกที่ฝ่ายจีนฮั่นไม่มี นักรบหงี่หั่วท้วงเหล่านี้จึงประกอบพิธีกรรมนุ่งขาวห่มขาว ถือศีลไม่กินเนื้อสัตว์และผักที่มีกลิ่นฉุน รวมถึงบริกรรมคาถาตามความเชื่อของจีน เพื่อให้มีอิทธิฤทธิ์ป้องกันปืนไฟและเพิ่มพลังในการต่อสู้ แต่ก็ไม่ประสบผล ในที่สุดนักรบหงี่หั่วท้วงก็ได้พ่ายแพ้แก่กองทัพแมนจู และเหล่าผู้นำทั้ง 9 คนถูกประหารชีวิตทั้งหมด ชาวจีนฮั่นจึงร่วมกันรำลึกถึงบุญคุณของนักรบชาวบ้านเหล่านี้ด้วยการถือศีลกินผักในเดือน 9 เป็นเวลา 9 วัน ซึ่งกลายเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ สำหรับชาวพุทธนิกายมหายาน การถือศีลกินเจ นุ่งขาวห่มขาว และงดเว้นจากการเบียดเบียนทั้งปวง ยังถือเป็นการถวายสักการะแด่พระพุทธเจ้า 7 พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ รวมเป็น 9 พระองค์ หรืออีกนัยหนึ่งคือดาวนพเคราะห์ทั้ง 9 อีกด้วย ซึ่งกลายเป็นที่มาของชื่อเทศกาลกินเจในภาษาจีน หรือจิ่วหวงเย่ ซึ่งแปลว่า "เทพเจ้า 9 พระองค์"
สำหรับการกินเจในประเทศไทย เชื่อกันว่าเป็นธรรมเนียมของชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากในไทย และพกพาความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือเจ้าแม่กวนอิมเข้ามาด้วย เนื่องจากเจ้าแม่กวนอิมเป็นเทพเจ้าแห่งความเมตตากรุณา การกินเจ ละเว้นการเอาชีวิตของสัตว์ จึงถือเป็นการสักการะบูชาทั้งพระพุทธเจ้า และเจ้าแม่กวนอิมไปด้วยในคราวเดียว