กรมทรัพยากรทางทะเลฯห่วงพะยูนอันดามัน เหลือในน่านน้ำประเทศ 210-250 ตัว หลังติดเครื่องมือประมงตายกว่า 90% เตรียมสำรวจประชากรพะยูนระหว่างเดือนธันวาคม 2560 - กุมภาพันธ์ 2561
หลัง นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ออกมารายงานถึงสถานการณ์พะยูน ในการประชุมการอนุรักษ์พะยูนและอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเลระดับประเทศ ว่า พะยูนในประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤตจากการถูกคุกคามอย่างหนักในเรื่องถิ่นที่อยู่อาศัยและการทำลายแหล่งหญ้าทะเลแหล่งอาหารของพะยูน โดยเฉพาะการล่าและติดเครื่องมือประมงสาเหตุหลักทำให้พะยูนลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว คาดว่า บริเวณน่านน้ำไทยเหลือพะยูนไม่เกิน 210-250 ตัว จากอดีตที่ผ่านมามีประมาณกว่า 1,000 ตัว
ทั้งนี้อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จังหวัดตรัง เป็นแหล่งที่พบพะยูนอาศัยอยู่มากที่สุดประมาณ 130 – 150 ตัว เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีแหล่งหญ้าทะเลชนิดที่เป็นแหล่งอาหารหลักและแหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูนที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก
ขณะที่ ในพื้นที่เกาะเสม็ด จ.ระยอง ครอบคลุมถึงชลบุรี จันทบุรี และตราด พบพะยูนอาศัยประมาณ 15 ตัว และพื้นที่อ่าวไชยา จ.สุราษฎร์ธานี พบพะยูนอาศัยอยู่ประมาณ 10 ตัว
ส่วนสาเหตุการลดจำนวนลงของพะยูน 90%มาจากการติดอวนและเครื่องมือประมงชาวบ้าน และยังพบว่ามีบางส่วนที่มีการล่าพะยูนจากความเชื่อผิดๆ เช่น กระดูกพะยูน นำไปทำยาโด๊ปและรักษาโรคมะเร็ง // เขี้ยวพะยูน นำไปเป็นเครื่องรางของขลัง // เนื้อพะยูน นำไปทำเป็นอาหารราคากิโลกรัมละ 150 บาท ทำให้จำเป็นต้องเร่งฟื้นฟูอนุรักษ์
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลได้ร่วมกับชุมชนในพื้น เกาะลิบง และ เกาะมุก จังหวัดตรัง ฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลซึ่งเป็นแหล่งอาหารทำให้จำนวนพะยูนเพิ่มมากขึ้น5-10 %
ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกับชุมชนฟื้นฟูแหล่งอาหารหญ้าทะเลของพะยูนจนทำให้ประชากรพะยูนเพิ่มขึ้น และหากสามารถลดอัตราการตายของพะยูนซึ่งส่วนใหญ่ติดอวนและเครื่องมือประมงชาวบ้านจะช่วยเพิ่มประชากรได้มากขึ้น
ทั้งนี้ พะยูน จะมีอายุประมาณ 70 ปี ใช้เวลาตั้งท้องประมาณ 13-18 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว และออกทุก 3 ปีต่อพะยูน 1 ตัว หากไม่ถูกเครื่องมือประมงทำลายจะเฉลี่ยออกลูกประมาณตัวละ 10 ตัว ในช่วงตลอดอายุ 70 ปี ทำให้จำนวนประชากรพะยูนมีไม่มากนัก ดังนั้น การสำรวจประชากรพะยูนให้ทราบจำนวนที่แท้จริงจะช่วยหาแนวทางอนุรักษ์ โดยเจ้าหน้าที่สำรวจประชากรพะยูนในประเทศไทยเพื่อหาจำนวนพะยูนที่แท้จริงจะเริ่มสำรวจช่วงระหว่างเดือนธันวาคม 2560 - กุมภาพันธ์ 2561 เนื่องจากสถานการณ์พะยูนเริ่มน่าเป็นห่วงหลังประชากรเหลือน้อยลงต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้ พะยูน เป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 และอยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากใกล้สูญพันธุ์ ยกเว้นเพื่อการศึกษาวิจัยหรือเพาะพันธุ์ ซึ่งต้องได้รับคำยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าเสียก่อน