ทุกครั้งที่เกิดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานครทีไร นอกจากขยะ ปริมาณน้ำฝนแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดเสมอก็คือปัญหาผังเมือง
ภาพติดตาเมื่อวันเสาร์ที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา กับสภาพน้ำท่วมในพื้นที่เขตกทม.ระดับสูง หลายพื้นที่เส้นทางไม่สามารถใช้สัญจรได้ บางพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดน้ำท่วมกลับเจอน้ำท่วม ทำให้คนกรุงเทพฯได้เข้าใจถึงหัวอกชาวต่างจังหวัดที่น้ำท่วมมาแรมเดือน
นอกจากปัญหาเรื่องขยะที่เป็นปัญหาในการระบายน้ำแล้ว สิ่งหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงเสมอก็คือ ผังเมืองของ กทม.นั้นมีปัญหาต่อการระบายน้ำหรือไม่ เพราะมีการถมคลองเพื่อสร้างอาคารบ้านเรือนมหาศาล และมีการคาดการณ์ว่าในอีก 30 ปีข้างหน้ากรุงเทพฯอาจจะจมน้ำได้
ความเสมอภาคทางผังเมืองจะเยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้
ผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวีพูดคุยกับ ผศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า นับตั้งแต่มหาอุทกภัยปี 2554 ผ่านไป6ปี เมืองกทม.ขยายใหญ่ขึ้นมาดทั้งในทางแนวตั้ง เช่น การเกิดขึ้นของตึกสูงและคอนโดริมทางรถไฟฟ้า และทางแนวราบเช่นการขยายพื้นที่ของเมืองไปยังพื้นที่ราบต่ำมีข้อมูลว่าบริเซรตอนเหนือของกรุงเทพฯขยายพื้นที่ไปร้อยละ 50 ในรอบ5ปีที่ผ่านมา รองลงมาคือบริเวณฝั่งตะวันตกที่ไปบรรจบกับฝั่งธนบุรี
วิจิตรบุษบากล่าวว่าสิ่งหนึ่งที่กทม.ทำในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็คือการจัดระเบียบชุมชนริมคลองโดยเชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาขยะในแม่น้ำและจะสร้างพนังกั้นน้ำกันตลิ่งถล่มเพื่อที่จะขุดลอกคลองนั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เราต้องยอมรับว่าคลองถูกมองเป็นแหล่งน้ำสาธารณะ แต่กรุงเทพฯยังมีปัจจัยอื่นๆเช่น น้ำทะเลหนุน หรือในปี2554 ก็เกิดปัญหาน้ำหลากอีกเช่นกัน
วันเสาร์ที่ผ่านมาพิสูจน์ว่าระบบระบายน้ำของกทม.ก็ไม่สามารถรองรับกับปริมาณน้ำฝน วิจิตรบุษบามองว่าส่วนหนึ่งเพราะโครงสร้างต่างๆของเมืองไม่ได้มีไว้รองรับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เพราะในอดีตฝนอาจจะตกจำนวนปานกลางแต่ตกหลายวัน แต่แนวโน้มในอนาคตเป็นไปได้ที่ฝนจะตกหนักมากขึ้นและน้อยวันทำให้ปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้นระบบต่างๆไม่สามารถรองรับได้ไหวอีกทั้งยังมีน้ำทะเลหนุนปีละ 5 มิลลิเมตรต่อปีอีกด้วย
อีกประเด็นก็คืออำนาจในต่อรองของแต่ละชุมชนไม่เท่ากัน กลายเป็นว่าบางพื้นที่ไม่ต้องการจะมีความรับผิดชอบกับปริมาณน้ำที่ท่วม มีการผลักดันน้ำเพื่อไม่ให้ท่วมพื้นที่ของตนเอง เช่น บางพื้นที่หลีกเลี่ยงผังเมืองโดยการไปสร้างอาคารสูงบริเวณฟลัดเวย์ และผันน้ำไปลงยังชุมชนข้างเคียงแทน เราไม่เคยให้ความรู้ประชาชนถึงพื้นที่ที่เขาอาศัยว่าเป็นพื้นที่แบบใดก่อนตัดสินใจเข้ามาอยู่ เพื่อที่จะปรับตัวรับมือ
วิจิตรบุษบา พูดถึงความเป็นธรรมในการรับผิดชอบน้ำท่วมว่าเมื่อพื้นที่ต่างๆไม่มีผู้ยอมรับน้ำปัญหาจะเกิดขึ้น ทั้งในกรณีคนกรุงเทพฯ-คนต่างจังหวัด หรือแม้กระทั่งกรุงเทพฯเองก็ยังไม่ได้มีความเท่าเทียม แสดงถึงความไม่เท่าเทียมของการต่อรองของประชาชน เช่น พื้นที่ที่ต้องรับน้ำท่วมควรต้องได้รับการเยียวยาอย่างไรบ้าง โดยปิดท้ายว่าจากการทำวิจัยว่าอีก 30 ปีกรุงเทพฯเป็นพื้นที่เมืองหลวงที่มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เราพร้อมจะรับมือกันแล้วหรือไม่ หรือว่ามีแต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น