มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยหนี้ครัวเรือนไทยปี 2560 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 0.4 หรือเฉียด 3 แสนบาทต่อครัวเรือน ร้อยละ 74.6 เป็นหนี้ในระบบ ขณะที่สัดส่วนหนี้นอกระบบลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย ผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 2560 ว่า ครัวเรือนปัจจุบันกว่าร้อยละ 91.1 ยังคงมีหนี้สิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการใช้จ่ายทั่วไป รองลงมาเป็นหนี้เพื่อซื้อทรัพย์สิน เช่น รถยนต์ และบ้าน รวมถึงชำระหนี้เก่า
โดยครัวเรือนไทยมีภาระหนี้สินเฉลี่ย 299,266 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งแม้จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่นับว่าเป็นการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี โดยในจำนวนนี้แบ่งหนี้ในระบบ ร้อยละ 74.6 หรือประมาณ 223,252 บาทต่อครัวเรือน เป็นหนี้นอกระบบร้อยละ 26.4 หรือ 76,014 บาทต่อครัวเรือน และครัวเรือนผ่อนชำระหนี้ ประมาณ 15,439 บาทต่อเดือน
ผลสำรวจพบด้วยว่า สัดส่วนผู้เป็นหนี้ในระบบมีเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนของผู้เป็นหนี้นอกระบบลดลงมากที่สุดในรอบ 10 และคาดว่า ในระยะ 1 ปีข้างหน้า สัดส่วนของผู้เป็นหนี้นอกระบบจะลดลงถึงร้อยละ 71.2 ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกำกับดูแลหนี้นอกระบบของภาครัฐ ประกอบกับประชาชนมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย
ส่วนการจับจ่ายใช้สอยในปีนี้ พบว่าครัวเรือนส่วนใหญ่ใช้จ่ายน้อยลง ทั้งปริมาณและมูลค่า เพราะเห็นว่าค่าครองชีพในปัจจุบันสูงกว่ารายได้ จึงต้องการประหยัด ซื้อเฉพาะของจำเป็น บางส่วนใช้จ่ายตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง บางส่วนมีภาระหนี้มากขึ้น มีรายได้น้อยลง ขณะที่ข้าวของราคาแพงขึ้น
สำหรับโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้ที่ถือบัตรเห็นว่า สามารถช่วยแก้ปัญหาความยากจน เพิ่มสภาพคล่องในครอบครัว ทำให้เศรษฐกิจเกิดความคึกคัก และมีความพึงพอใจกับนโยบายดังกล่าว
รายงานโดย วชิราภรณ์ นาสวน