นักวิเคราะห์ระบุว่าการประกาศอย่างชัดเจนว่าจะมีการเลือกตั้ง ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของไทย แต่สื่อต่างชาติประเมินตรงกันว่า หลังการเลือกตั้งปีหน้า กองทัพจะยังครอบงำการเมืองไทยต่อไปอีกระยะ
เว็บไซต์บลูมเบิร์ก สื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจ รายงานอ้างอิงคำประกาศของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่าจะมีการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า ส่งผลบวกต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ เห็นได้จากตลาดหุ้นไทยปิดบวกเกือบ 0.9 เปอร์เซ็นต์ในวันนี้ (10 ตุลาคม) และจะทำให้ประเทศไทยกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยหลังจากที่ต้องรอคอยมานาน
ส่วนนักวิเคราะห์จากสแตนดาร์ดชาร์เตอร์และบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ซึ่งให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์ก ระบุว่าตามปกติแล้ว ปีที่จัดการเลือกตั้งจะเป็นปีที่ดีต่อระบบเศรษฐกิจ และโพลต่างๆ จะเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น ช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นด้านการตลาดและเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม บลูมเบิร์กประเมินว่าแม้ไทยจะมีโอกาสได้จัดเลือกตั้งในปีหน้า แต่มีแนวโน้มว่าการเมืองไทยในอนาคตจะถูกครอบงำโดยกองทัพเหมือนที่เคยเป็นมาตลอดช่วงหลังรัฐประหาร 2557 เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เปิดทางให้กองทัพมีส่วนในการสรรหาวุฒิสมาชิก ซึ่งจะส่งผลต่อทิศทางการเมืองการปกครองของไทย และผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นอาจทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่ แต่อย่างน้อยที่สุด การยืนยันว่าจะมีการเลือกตั้งก็ช่วยให้นักลงทุนมีความกระตือรือร้นเพิ่มขึ้นในช่วงนี้
ด้านสำนักข่าวอัลจาซีราของกาตาร์ รายงานว่าในที่สุดพลเอกประยุทธ์ก็ประกาศว่าจะเลือกตั้งภายในปีหน้า ซึ่งเป็นท่าทีที่เกิดขึ้นหลังจากได้พูดคุยกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และมีการออกแถลงการณ์ร่วมระหว่างสองประเทศ ซึ่งนายทรัมป์ระบุว่าสหรัฐฯ สนับสนุนให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามโรดแมปที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง
ที่ผ่านมาสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปต่างแสดงท่าทีกดดันให้รัฐบาลทหารไทยจัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด รวมถึงเรียกร้องให้ยกเลิกการจำกัดสิทธิพลเมือง แต่พลเอกประยุทธ์ผัดผ่อนเรื่องการจัดเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง โดยอ้างเหตุผลเรื่องการปรับแก้รัฐธรรมนูญและประเด็นด้านความมั่นคง ขณะที่การประกาศว่าจะจัดเลือกตั้งในปีหน้าก็ยังไม่ได้กำหนดวันที่ชัดเจน แต่ต้องรอจนกว่าจะถึงเดือนมิถุนายนจึงจะทราบ
ส่วนเว็บไซต์ดอยช์เวลล์ สื่อของเยอรมนี รายงานว่าการประกาศเลือกตั้งของพลเอกประยุทธ์มีความสับสนในช่วงแรกที่คณะรัฐบาลไทยเพิ่งเดินทางกลับจากสหรัฐฯ เพราะในถ้อยแถลงร่วมกันระหว่างสองรัฐบาล มีการยืนยันว่าจะจัดเลือกตั้งในปี 2561 แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลไทยกลับบอกกับสื่อว่าการเลือกตั้งอาจจะไม่ได้จัดขึ้นภายในปีหน้า และเมื่อครั้งที่มีการรัฐประหารยึดอำนาจในปี 2557 พลเอกประยุทธ์ก็เคยบอกว่าจะคืนอำนาจให้ประชาชนภายใน 18 เดือน แต่ก็เลื่อนการเลือกตั้งออกไปหลายครั้ง
ดอยช์เวลล์รายงานว่าการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นอาจเผชิญกับข้อจำกัดทางการเมือง เพราะวุฒิสมาชิกจะต้องได้รับความเห็นชอบจากกองทัพ และรัฐบาลที่จะมาปฏิบัติหน้าที่ในอนาคตจะต้องดำเนินการตามกรอบเงื่อนไขยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งถูกออกแบบในสมัยรัฐบาลทหาร จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าประชาธิปไตยของไทยในช่วงหลังการเลือกตั้งก็จะยังคงถูกจำกัดอยู่เช่นเดิม
ขณะที่นายโจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเมินว่า แม้จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง แต่ประเทศไทยจะยังตกอยู่ในสภาวะประชาธิปไตยครึ่งใบ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังคงเปิดโอกาสให้กองทัพมีอำนาจทางการเมือง
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือการระบุให้วุฒิสมาชิก 250 รายมาจากการสรรหา รวมถึงการกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อกำกับดูแลการปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้ ซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลไทยในอนาคตเป็นรัฐบาลผสม ส่วนสถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอย่างกองทัพก็จะยังมีอิทธิพลทางการเมืองต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: