ความหวังให้เศรษฐกิจไทย มีอัตราการขยายตัวของจีดีพี กระจายให้ทั่วถึงทุกหย่อมหญ้า ยังเป็นประเด็นท้าทายของผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจ แม้วันนี้จะมีความพยายามอัดฉีดเม็ดเงินผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เข้าไปช่วยลดค่าครองชีพประชาชนผู้มีรายได้น้อย แต่ดูเหมือนผลที่คาดหวังอาจมีไม่มากนัก
อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ปี 2560 ที่หลายสำนักปรับตัวเลขคาดการณ์ขยับขึ้น ในแง่หนึ่งสะท้อนพัฒนาการเศรษฐกิจไทย ในฝั่งของการผลิตได้ดี เพราะจีดีพีที่โตขึ้น ระดับร้อยละ 3.5- 4.0 มาจากภาคส่งออกและการท่องเที่ยว
แต่อีกด้านหนึ่ง นักเศรษฐศาสตร์ทุกคนรู้ดีกว่า ตัวเลขจีดีพีที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ ยังมีช่องโหว่ เนื่องจาก เครื่องยนต์เศรษฐกิจยังไม่ติดไฟทุกตัว โดยเฉพาะกำลังซื้อและการลงทุนภาคเอกชน
แม้จะมีมาตรการแจกจ่ายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 11.4 ล้านใบ ใช้งบประมาณกว่า 41,000 ล้านบาท เพื่ออัดฉีดเศรษฐกิจรากฐาน แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินว่าโครงการนี้ กระเตื้องจีดีพี เพิ่มได้เพียงร้อยละ 0.1 เท่านั้น
นาทีนี้ เศรษฐกิจไทยยังต้องลุ้นต่อไปด้วยว่า เศรษฐกิจโลกยังขยายตัวดีต่อเนื่องหรือไม่ และต้องจับตาเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ที่มีเป้าหมายทางเศรษฐกิจอย่างไร
ทั้งหมดนี้จะมีผลอย่างยิ่งต่อภาคส่งออกของไทย และเป็นแรงหนุนให้ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า มีการจ้างงานในภาคการผลิตเพิ่มขึ้น เพราะแม้ส่งออกไทยจะโต แต่ภาคอุตสาหกรรมยังมีกำลังการผลิตในสต็อกค้างอยู่ จึงไม่จำเป็นต้องเพิ่มชั่วโมงการทำงาน ไม่เพิ่มค่าจ้างโอทีพนักงาน
โดยปัจจุบันรายได้ของลูกจ้างนอกภาคเกษตรยังทรงตัวต่อเนื่อง พร้อมกับรายได้การเกษตรที่ยังไม่กระเตื้องขึ้น เหล่านี้ยิ่งกดทับเงินในกระเป๋าของประชาชนคนชั้นกลางและฐานราก ประกอบการเศรษฐกิจไทยในระยะกลางถึงยาว เพราะยังมีหลายปมที่รอสะสาง
แม้จะมีเม็ดเงินสะพัดในระบบเข้ามาประมาณ 4.1 หมื่นล้านบาท ในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 11 ล้านคน ที่คาดว่าจะใช้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ประมาณเดือนละ 3,000-4,000 ล้านบาท แต่ภาวะเงินเฟ้อต่ำเป็นเวลานาน การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัย ทักษะแรงงาน และหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ก็ยังเป็นโจทย์ที่ยังท้าทายการวางแผนแก้ปัญหาเศรษฐกิจของไทย ต่อไป