11 ต.ค.นี้ รฟท.เตรียมชงแผนสายสีแดง มัดใจ คนร. ชี้ รัฐบริหารเองจะอุดหนุนค่าเดินทางช่วยเหลือประชาชน เคาะราคาค่าโดยสารเบื้องต้น 32 บาท
นายเอก สิทธิเวคิน รองผู้ว่าการกลุ่มอำนวยการ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกิจการ รฟท. มีมติเห็นชอบแผนงานและหลักการเพื่อให้ รฟท.ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร วงเงิน 93,950 ล้านบาท โดยจะนำแผนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ในวันที่ 11 ต.ค.นี้ คนร. โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน เพื่อแสดงความเชื่อมั่นว่า รฟท.สามารถดำเนินการเดินรถเองได้ หาก คนร. มีมติเห็นชอบจะเสนอเรื่องไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป
ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า และศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟทางไกล คืบหน้าไปแล้ว 57.50% สัญญาที่ 2 งานก่อส���้างทางรถไฟบางซื่อ-รังสิต 6 สถานี ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร คืบหน้าไปแล้ว 88.63% สัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและจัดหาขบวนรถคืบหน้าไปแล้ว 16.99%
ข้อมูลจาก การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า หากรฟท.จะเป็นผู้บริหารการเดินรถเองจะต้องควักเงินลงทุน 32,399 ล้านบาท ตามมติ ครม.ที่กำหนดให้รัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนงานโยธาวงเงิน 61,551 ล้านบาท และให้ผู้บริหารการเดินรถลงทุนอีกราว 32,399 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัญญาที่ 3 ได้แก่ การจัดหาขบวนรถ งานระบบการเดินรถรวมถึงงานรักษาและซ่อมบำรุง ดังนั้น การรายงานแผนต่อหน้าที่ประชุม คนร.ในครั้งนี้ รฟท.จะเสนอรายละเอียดมัดใจคณะกรรมการในที่ประชุม คนร. โดยเน้นไปที่ข้อได้เปรียบทางด้านต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่าเอกชนที่มุ่งด้านเชิงพาณิชนย์ เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณผลตอบแทนที่เอกชนตั้งไว้ที่ 12%-14% ขณะที่ รฟท.มีเป้าหมายแค่ 5% โดยแนวทางที่จะชี้แจงนั้นยืนยันว่า มีความเป็นรูปธรรมหากเปรียบเทียบราคาค่าโดยสารของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ที่ต่ำกว่าระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าใต้ดิน
สำหรับค่าโดยสารแอร์พอร์ตลิงก์จำนวน 8 สถานี ระยะทาง 27 กิโลเมตรอยู่ที่ 42 บาท คิดเป็น 1.5 บาทต่อกิโลเมตร ขณะที่รถไฟฟ้าบีทีเอสค่าโดยสารจำนวน 8 สถานี (หมอชิต-สยาม) รวม 13 กิโล อยู่ที่ 44 บาท คิดเป็น 3.38 บาทต่อกิโลเมตร
นอกจากนี้ โครงการรถไฟสายสีแดงไม่เหมือนกับ โครงการรถไฟฟ้าทั่วไป เนื่องจากระบบรถไฟฟ้ามีสถานีทุก 500-800 เมตร แต่สายสีแดงเป็นรถไฟฟ้าชานเมือง กลุ่มเป้าหมายมีรายได้ไม่สูงนัก ต้องกระจายไปอยู่นอกเขตเมืองเพื่อเดินทางเข้ามาทำงาน ดีมานต์การเดินทางเกือบทุกวัน ดังนั้น การคิดค่าโดยสารในอัตราที่ต่ำจะช่วยเหลือผู้โดยสารทางตรงได้ หาก รฟท.ทำเองก็มีโอกาสที่จะควบคุมเพดานราคา และอัตราค่าโดยสารตลอดจนกำหนดมาตรการโปรโมชั่นยกเว้นค่าโดยสารในช่วงเทศกาลสำคัญตลอดจนช่วงพิธีการสำคัญต่างๆที่มีความต้องการเดินทางจำนวนมาก โดยเบื้องต้น รฟท.ได้คำนวณราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงเฉลี่ยทุกสถานีที่ 32 บาทต่อการเดินทาง ด้วยปริมาณผู้โดยสารคาดการณ์เบื้องต้นราว 85,000 คนต่อวัน ส่วนด้านราคาค่าโดยสารตลอดสายนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนเรื่องความคืบหน้าการตั้งบริษัทลูกด้านเดินรถนั้นจะเสนอที่ประชุม คนร.ในครั้งนี้เช่นกัน หากผ่านความเห็นชอบอนุมัติได้ในครั้งนี้ รฟท.จะเร่งชงแนวทางการจัดตั้งบริษัทลูกเข้า ครม.ภายในเดือน 2 เดือนหรือภายในเดือนธันวาคมนี้ ก่อนเริ่มก่อตั้งบริษัทให้ได้ภายในต้นปี 2561 หรือราว 4 เดือนนับจากนี้ด้วยทุนจดทะเบียนราว 3,000 ล้านบาท เพื่อเร่งสรรหาและอบรมบุคลากรประมาณ 2 ปี ให้สอดรับกับกำหนดเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงในปี 2563 ตามแผนของกระทรวงคมนาคม