ตอบคำถามเรื่องวิธีการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินของรัฐบาล มีหลักการอย่างไร และทำไมงบถึงไม่เพียงพอจนต้องพึ่ง 'ตูน บอดี้แสลม' มาวิ่งช่วยโรงพยาบาล
เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่ผ่านมาราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 รวม2,900,000,000,000 บาท ตัวเลขที่น่าจับตาก็คือกระทรวงกลาโหมได้รายรับทะลุหลัก 2 แสนล้านบาท กระทรวงศึกษาธิการได้รับ 4 แสนล้านบาท และใน 5 อันดับแรกไม่มีกระทรวงสาธารณสุข
ช่วงเวลาใกล้กันมีกิจกรรมที่ประชาชนให้ความสนใจนั่นคือ การที่นายอาทิวราห์ คงมาลัย หรือ "ตูน บอดี้แสลม" ประกาศวิ่งรอดมทุนเพื่อโรงพยาบาลเป็นครั้งที่ 3 โดยครั้งนี้ตั้งเป้าไว้สูงถึง 700 ล้านบาท ขอความร่วมมือชาวไทยคนละ 10 บาท วิ่งจากภาคใต้ไปสิ้นสุดที่ภาคเหนือจังหวัดเชียงราย ทำให้คนตั้งคำถามว่างบประมาณด้านสาธารณสุขไม่เพียงพอขนาดนั้นได้อย่างไร และงบกลาโหม-สาธารณสุขคนละส่วนจริงหรือ?
งบประมาณประจำปี สะท้อนวิสัยทัศน์ของรัฐบาล
ผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวีพูดคุยกับ รศ. ยุทธพร อิสรชัย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และอดีตคณบดีรัฐศาสตร์ อธิบายถึงที่มาของรายได้รัฐฐาลที่จะมากลายเป็นงบประมาณโดยมาจากหลายส่วนแต่ส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือภาษี ซึ่งเป็นภาษีทางอ้อมเกือบร้อยละ 80 เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต รายได้ที่จัดเก็บนั้นจะนำไปจัดทำงบประมาณต่อไป ดังนั้นเวลาบอกว่า งบประมาณกระทรวงกลาโหมและงบประมาณสาธารณสุขคนละส่วนกันนั้น อาจจะไม่ใช่เพราะงบต่างๆมาจากที่มาแหล่งเดียวกัน
รศ.ยุทธพร เล่าถึงวิธีการจัดทำงบประมาณโดยทั่วไปจะให้แต่ละหน่วยงานส่งเรื่องขึ้นมาเพื่อให้สำนักงบประมาณฯเป็นผู้พิจารณาก่อนที่จัดร่างพ.ร.บ.งบประมาณประจำปี เพื่อส่งให้สภาพิจารณาต่อไป โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณางบประมาณว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ในแต่ละกระทรวง และส่งให้ลงมติต่อไป ตามปกติเวลาเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็จะเกิดการอภิปรายงบประมาณระหว่าง ส.ส.และส.ว. แต่ในปัจจุบัน สนช.จะมีอำนาจพิจารณาเบ็ดเสร็จเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น
งบประมาณปี 2561 เป็นการตั้งงบประมาณแบบขาดดุล รศ.ยุทธพร อธิบายว่าโดยปกติรัฐจะตั้งงบประมาณแบบขาดดุลในกรณีที่ต้องการจะใช้จ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะเกิดการจ้างงานและพัฒนาศักยภาพการแข่งขัน ยกเว้นปีใดที่จัดเก็บรายได้ได้น้อยจะตั้งงบประมาณแบบสมดุล แต่ที่มองว่าอาจจะมีปัญหามากกว่าคือ พอมีพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติออกมา ทำให้ต้องมีการตั้งงบสำหรับทำยุทธศาสตร์ชาติด้วย ซึ่งผู้พิจารณามีเพียงคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ รศ.ยุทธพรมองว่ายุทธศาสตร์ชาติที่ดีควรเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในพิจารณา และไม่แข็งตัวจนเกินไปสำหรับการเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคม ไม่เช่นนั้นก็อาจจะล้าหลังได้
รศ.ยุทธพรตั้งข้อสังเกตในประเด็นการตั้งงบกลางสูงถึง 3.9 แสนล้านบาท ซึ่งงบกลางคืองบสำหรับใช้เมื่อยามจำเป็นหรือสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ หรือรัฐบาลเห็นว่าจำเป็นโดยมีสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแล หากจะใช้ต้องผ่านมติคณะรัฐมนตรี เช่น ในกรณีการเกิดภัยพิบัติ แต่ในยุคหลังๆมีการตั้งงบกลางจำนวนที่สูงมาก ซึ่งต้องดูว่ารัฐบาลจะนำเงินส่วนนี้ไปทำอะไร ส่วนงบประจำส่วนมากก็จะไปหมดกับเรื่องค่าวัสดุ สวัสดิการและเงินเดือนข้าราชการเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงสะท้อนให้เห็นว่าเหตุใดจึงไปอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงกลาโหมเป็นจำนวนมาก รศ.ยุทธพรกล่าวว่าถ้าหากไม่มีการลดขนาดองค์กร ก็จะทำให้สูญเสียงบไปกับส่วนนี้มหาศาล
ต่อเรื่องประเด็นงบประมาณสาธารณสุขที่ไม่ติด 5 อันดับแรก รศ.ยุทธพรชี้ว่าเป็นปัญหาเรื่องค่านิยมในสังคมไทยที่มองว่าเรื่องสาธารณสุขนั้นเป็นเรื่องความเมตตาและการทำบุญ มากกว่าเป็นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน จะเห็นได้ว่าโรงพยาบาลขนาดใหญ่เปิดรับบริจาคกันอย่างต่อเนื่องตลอดปีแทนที่จะมีการจัดการอย่างเป็นระบบ รศ.ยุทธพรกล่าวว่าชื่นชมที่ "ตูน บอดี้แสลม" ที่ออกมารณรงค์เรื่องการบริจาคแต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการดังกล่าว เพราะท้ายที่สุดหากสวัสดิการสาธารณสุขเป็นไปแบบสังคมสงเคราะห์ต่อให้ ตูน บอดี้แสลม วิ่งกี่ครั้งก็ไม่เพียงพอ