ICAO ปลดล็อกธงแดงไทยภายในเวลา 2 ปี 4 เดือน ถือว่ารวดเร็วกว่าอีกหลายประเทศที่เคยติดธงแดงมาก่อน เช่นฟิลิปปินส์ ทำให้หลังจากนี้คาดได้ว่าธุรกิจการบินและการท่องเที่ยวของไทยจะมีอนาคตสดใสมากขึ้น สอดคล้องกับเทรนด์ของอาเซียนทั้งภูมิภาค
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (กพท.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่าเว็บไซต์ www. icao.int ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่เป็นทางการขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้ทำการปลดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทยแล้ว แต่เพื่อความชัดเจนและเป็นทางการจะต้องตรวจสอบไปยังเจ้าหน้าที่ ICAO อีกครั้ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบถามเจ้าหน้าที่อย่างเป็นทางการ
เป็นเวลา 2 ปี 4 เดือนที่ไทยติดล็อกธงแดงจาก ICAO โดยวิกฤตครั้งนี้เริ่มตั้งแต่การที่ในเดือนมีนาคม 2558 กรมการบินพลเรือนของไทยสอบตกในโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล หรือ USOAP ของ ICAO ทำให้ในวันที่ 18 มิถุนายน ICAO ประกาศให้ไทยติดธงแดง ไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยตามหลักสากล การติดธงแดงดังกล่าวทำให้รัฐบาลไทยต้องเร่งแก้ปัญหาด่วน โดยการปรับรื้อโครงสร้างการกำกับการบินพลเรือนแบบยกแผง
วันที่ 1 ตุลาคม 2558 มีการประกาศยุบกรมการบินพลเรือน ตั้งกรมท่าอากาศยานและสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นผู้ออกกฎระเบียบต่างๆเกี่ยวกับการบินพลเรือนทั้งหมด
ส่วนการปฏิรูปทางด้านกฎหมายประกอบการกำกับดูแลการบินพลเรือน ได้ยกร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ ซึ่งใช้วิธีการดูจากโครงร่างกฎหมายที่ ICAO แนะนำ ถือเป็นการรื้อกฎหมายทางเดินอากาศทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับข้อบังคับสากลมากขึ้น โดยร่างพ.ร.บ.การบินพลเรือนฉบับใหม่ ได้รับการเห็นชอบจากครม.เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกประการก็คือในวันที่ 12 กันยายน 2559 มีการวางแผนตรวจสอบการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (AOC Re-certification) ตามมาตรฐานที่ CAA International (CAAi) ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินที่ได้รับการรับรองและเป็นบริษัทในเครือของสำนักงานการบินพลเรือนอังกฤษ หรือ UK CAA เข้ามาร่วมทำงานกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และส่งผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์เข้ามาช่วยแก้ไขข้อบกพร่องและตรวจสอบสายการบินในกระบวนการออก AOC ใหม่
ความเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านการปฏิรูปองค์กร และการปฏิรูปกฎหมาย ทำให้เมื่อ ICAO เข้ามาตรวจสอบการบินพลเรือนของไทยในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทางการไทยแสดงความมั่นใจว่าจะได้รับการปลดล็อกธงแดงภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และในวันที่ 7 ตุลาคม 2560 เว็บไซต์ ICAO ก็อัพเดทสถานะไทย พ้นธงแดงตามความคาดหมาย
หลังจากที่ ICAO ปลดธงแดงให้กับประเทศไทย จะทำให้ประเทศต่างๆ กลับมาให้การยอมรับในมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของไทยอีก ซึ่งจะทำให้สายการบินของไทยสามารถขอขยายจุดบิน หรือเปิดเส้นทางบินใหม่ๆ ในต่างประเทศได้ตามปกติ โดยเฉพาะในตลาดญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ นอกจากนี้ยังจะช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยอีกด้วย
แม้ว่าสายการบินแห่งชาติของไทยอย่างการบินไทย และนกแอร์ จะประสบภาวะขาดทุนเมื่อปีที่ผ่านมา แต่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงนายดีเนช เคสคาร์ รองประธานบริหารบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินโบอิงประจำเอเชียแปซิฟิก ซึ่งคาดการว่าความต้องการเครื่องบินพาณิชย์ของสายการบินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มสูงขึ้นในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าตลาดสายการบินจะมีความต้องการเครื่องบินใหม่ประมาณ 4,210 ลำ คิดเป็นเงินกว่า 6 แสน 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการประเมินจากอัตราการขยายตัวของการจราจรทางอากาศในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นมาประมาณร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยไทย เวียดนาม และกัมพูชา มีแนวโน้มที่จะมีการเติบโตทางด้านนี้มากที่สุด เพราะมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดีพอจะรองรับธุรกิจนี้ได้
รอยเตอร์ระบุว่าปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจสายการบินในไทยก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นไปอีก ก็คือการพยายามยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยให้ตรงตามเงื่อนไข ICAO หมายความว่าหลังปลดล็อกธงแดง ICAO ธุรกิจการบินในไทยน่าจะมีอนาคตสดใสขึ้นอย่างแน่นอน
เรียบเรียง: พรรณิการ์ วานิช
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สื่อนอกประเมินอนาคตนกแอร์และธุรกิจการบินในไทย