จากกระแสพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นำไปสู่การคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีสแกนควายไทยแบบ 3 มิติครั้งแรกในประเทศไทย และยังเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยอนุรักษ์ควายไทยให้อยู่คู่กับสังคมไทย
ภาพจำลองของโมเดลรูปควายที่เห็นอยู่นี้ คือ เทคโนโลยีระบบสแกนแบบ 3 มิติที่ถูกนำมาใช้ในการประเมินรูปร่างของควายเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อที่จะนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการคัดลักษณะของควายที่เป็นควายพันธุ์ดีมีรูปร่างสวยงาม ภายใต้โครงการพัฒนาฐานข้อมูลการประเมินรูปร่างกระบือ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกรมปศุสัตว์ เพื่อสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงอยากให้มีการเก็บข้อมูลลักษณะของควายไทยเอาไว��� และใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ต่อไป
สำหรับเทคโนโลยีการประเมินรูปร่างควายโดยใช้เครื่องสแกนแบบ 3 มิตินี้ มีแนวคิดและดัดแปลงมาจากเครื่องสแกนที่ใช้กับคน โดยเครื่องสแกนจะประกอบด้วยกล้อง 16 ตัว โปรเจคเตอร์ 6 เครื่อง ควบคุมการทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะถ่ายภาพแต่ละครั้งกว่า 150 ภาพ ซึ่งขั้นตอนในการสแกนจะเริ่มจากการติดแท็กตามจุดสำคัญต่างๆของควาย เพื่อใช้เป็นพิกัดอ้างอิง จากนั้นก็จะจูงควายให้มายืนนิ่งๆยังตำแหน่งที่กำหนดไว้ เพื่อถ่ายภาพซึ่งใช้เวลาเพียง 6 วินาที เร็วกว่าการใช้คนวัดที่นานกว่า 10 นาที จากนั้นภาพที่ได้ก็จะประมวลผลและสร้างแบบจำลองรูปควายเป็น 3 มิติขึ้นมา มีการคำนวณเส้นรอบอก ความสูง รายละเอียดต่างๆกว่าแสนจุด ซึ่งมีความแม่นยำและรวดเร็วกว่ามาก
การจัดเก็บข้อมูลที่โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ จังหวัดสระแก้วในครั้งนี้ เป็นการเก็บข้อมูลครั้งสุดท้าย รวมทั้งโครงการมีการจัดเก็บข้อมูลควายทั้งสิ้น 187 ตัว ซึ่งหลังจากนี้ก็จะมีการนำไปวิเคราะห์ ประมวลผล และเปิดเผยลักษณะของควายพันธุ์ดีผ่านทางเว็บไซต์ต่อไป เพื่อใช้ในการอ้างอิงและพัฒนาสายพันธุ์ควายไทยให้คงอยู่คู่กับประเทศไทย ในฐานะสัตว์ที่อยู่กับสังคมและวัฒนธรรมด้านเกษตรกรรมไทยมาอย่างช้านาน
Produced by VoiceTV