ไทยไม่เคยหนีไปจากบริบทโลก คนรุ่นใหม่คือความหวัง อนุรักษ์นิยมต้องเปลี่ยน
สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวันนี้ เมื่อ 41 ปีที่แล้ว เขาคือส่วนหนึ่งของขบวนการนักศึกษา คลุกวงในในฐานะส่วนหนึ่งของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาในวันที่มีการล้อมปราบกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่ชุมนุมกันในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ชนชั้นนำเลือกรัฐบาลทหารมากกว่าเพราะเชื่อว่าทหารจะเป็นความมั่นคงไทยในอนาคต แต่นักศึกษาเป็นตัวบั่นทอนความมั่นคงในอนาคต”
ก่อนจะถึงฉากของการปราบปรามในปี 2519 สุรชาติเล่าว่า เงื่อนไขที่นำไปสู่การตัดสินใจเช่นนั้นของชนชั้นปกครองคือความหวาดกลัวการถูกปิดล้อมจากค่ายคอมมิวนิสต์ คือภัยสำคัญหรือ “ปีศาจ”ความมั่นคง จุดหักเหสำคัญอยู่ที่เหตุการณ์ 3 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2518 เมื่อเวียดนาม กัมพูชา และลาวทยอยตกอยู่ในอุ้งมือของกลุ่มผู้ต้องการการเปลี่ยนแปลงซึ่งใช้ลัทธิคอมมิวนิสต์เข้านำ สถานการณ์นี้กระตุ้นความหวาดกลัวให้ขึ้นสูงถึงขีดสุดเพราะสอดรับกับสิ่งที่เรียกกันในเวลานั้นว่า ทฤษฏีโดมิโน อันเป็นวาทกรรมที่สร้างขึ่้นโดยสหรัฐฯ เป็นความคิดที่เชื่อว่า หากรัฐบาลในอินโดจีนล้มก็จะล้มกันเป็นโดมิโน และโดมิโนสามตัวล้มไปแล้ว คำถามสำคัญสำหรับชนชั้นนำในเวลานั้นคือ ไทยจะเป็นตัวที่สี่หรือไม่ที่จะต้องเสียให้กับคอมมิวนิสต์ สิ่งหนึ่งนำพาไปสู่อีกหลายๆสิ่ง การเรียกร้องให้สหรัฐฯถอนฐานทัพ การเดินขบวนใหญ่ของนักศึกษาและประชาชน ล้วนเป็นความเคลื่อนไหวที่สร้างแรงปะทะ จนกระทั่งนำไปสู่การล้อมปราบที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โดยไม่ต้องตอกย้ำถึงภาพความโหดร้ายของเหตุการณ์ 6 ตุลา สุรชาติมองจากมุมของภัยความมั่นคงกล่าวถึงผลกระทบที่หนักยิ่งของการปราบปรามหนนี้ มันคือการผลักผู้คนกลุ่มหนึ่งให้หันหลังให้ระบบ หนีเข้าป่าและจับอาวุธขึ้นสู้เป็นส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหรือพคท. การใช้อำนาจปราบหนักกลับกลายเป็นการเพิ่มเงื่อนไขให้กับภัยที่หวาดกลัวนั่นเอง
“ทำให้เกิดคำถามว่าสงครามกลางเมืองจะเกิดขึ้นหรือไม่ และถ้าเกิดทุกฝ่ายตอบได้ว่าชัยชนะจะเป็นของพคท.และจะนำไปสู่การล้มของโดมิโนตัวที่สี่คือรัฐบาลที่กรุงเทพ ในความหมายว่ากลับทำให้การขยายตัวของสงครามคอมมิวนิสต์ในไทยมีมากขึ้น หลายจังหวัดที่ไม่เคยสีแดงกลับแดงมากขึ้น คอมมิวนิสต์ยิ่งขยายตัวจากชนบท หรือชนบทล้อมเมืองจะเป็นจริงมากขึ้น”
บางส่วนของชนชั้นนำ ทหาร ชนชั้นกลาง และผู้นำปีกอนุรักษ์จึงต้องหาทางออก เพราะหากปล่อยให้สถานการณ์เช่นนั้นดำรงอยู่ต่อไปก็จะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ ถ้าไม่ต้องการให้เกิดภาพเช่นนั้นพวกเขาต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่ง สิ่งที่พวกเขาทำสุรชาติเรียกว่าเป็นการ “ถอดชนวนสงคราม” มีการปรับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ที่คนรุ่นใหม่เรียกมันว่าเป็นการ “นิรโทษกรรมสุดซอย” คือนิรโทษกรรมทุกฝ่ายทั้งผู้ที่เข้าร่วมกับพคท.และฝ่ายผู้กระทำในการล้อมปราบเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 ส่วนหนึ่งของมันคือการใช้คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 และ 65/2535
“ปีกขวาจัดรับไม่ได้ ปีกซ้ายบางส่วนที่เข้ารับการต่อสู้ในชนบทก็รับไม่ได้ แต่สุดท้ายต้องยอมรับว่าการนิรโทษสุดซอยของรัฐบาลเกรีียงศักดิ์มันถอดชนวนสงครามจริงๆ เพราะสุดท้ายมันมีส่วนทำให้คนที่เคยเข้าร่วมพคท.กลับบ้าน ปรากฏการณ์ป่าแตกเริ่มจากการถอดชนวนชุดใหญ่สุดคือการนิรโทษกรรมของรัฐบาลเกรียงศักดิ์”
สุรชาติชี้ว่าถ้ามองในมิติความมั่นคงมันคือการทดลอง จากการเดินนโยบายขวาสุดด้วยการปราบใหญ่ในปี 2519 แต่กลับไม่สำเร็จและต้องยอมปรับตัวหนใหญ่ด้วยการนำพาสังคมไทยกลับคืนสู่ภาวะปกติ สภาพของไทยตอนนั้นเขาเรียกมันว่าเป็นตัวแบบของสังคมสมานฉันท์
หลายฝ่ายโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีบทบาทในการถอดชนวนจึงสรุปบทเรียนได้ตรงกัน
“ยุคนั้นเรามีคำตอบชัดว่าอินโดจีนแพ้เพราะไม่มีรัฐบาลประชาธิปไตย รัฐบาลเผด็จการเป็นเงื่อนไขของคอมมิวนิสต์ รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยต่างหากที่จะเป็นเงื่อนไขให้ชนะคอมมิวนิสต์ แกนกลางทางความคิดหรือวาทกรรมชุดนี้ได้รับการยอมรับในกลุ่มคนอย่างมาก โดยเฉพาะในกองทัพ ทุกฝ่ายยอมรับว่าประชาธิปไตยเป็นเวทีหลักของการเมืองไทย”
แต่น่าเสียดายที่สังคมไทยไม่อาจดูดซับบทเรียนได้นาน
“สิบสี่ตุลา ผมว่าคือบางกอกสปริง แต่หกตุลามันกลับสู่ฤดูหนาวอีกครั้ง และแม้จะมีฤดูใบไม้ผลิอีกแต่มันกระท่อนกระแท่นหรือเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ..แต่ความน่าตกใจคือถ้าคิดว่าระยะหรือภาพที่เราเห็นในการเมืองไทยมันเป็นระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ก็เท่ากับว่าของเรามันเปลี่ยนแล้วไม่ผ่าน”
สิ่งที่น่าคิดคือ ไม่ใช่แค่การปราบปรามเท่านั้นที่เป็นผลพวงของอิทธิภายนอก แต่การเคลื่อนไหวในหมู่ประชาชนก็เป็นผลพวงของสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก สุรชาติมองว่าการเปลี่ยนแปลงที่เป็นขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยที่นับเนื่องนานเท่าการขับเคลื่อนของขบวนการนักศึกษาประชาชนที่ชัดเจนในช่วงปี 2516-2519 ได้อิทธิพลจากกระแสโลกไม่ต่างจากความคิดหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ในยุคนั้น
“ปฏิเสธไม่ได้ว่าขบวนนักศึกษาไทยสิบสี่ตุลา เราเป็นผลิตของขบวนการนักศึกษาชุดใหญ่ที่มาจากปารีส แม้ไม่สำเร็จแต่ทิ้งความคิดไว้กับนักศึกษาทั่วโลก มองจากมุมภายใน ลูกหลานชนชั้นกลางที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยเริ่มปฏิเสธคุณค่าแบบเก่า คือระบบโซตัส อาวุโสและพิธีกรรมต่างๆ และเริ่มก้าวเข้าสู่ยุคแสวงหา แล้วเห็นคำตอบที่ใหญ่กว่าคือเห็นพันธะของนักศึกษาที่มีต่อสังคม มองย้อนกลับไป การเมืองยุคนั้นบทบาทคนรุ่นใหม่ในโลกที่สามปฏิเสธพันธะนี้ไม่ได้”
ในเวลานี้ สองสิ่งที่สุรชาติมองสำหรับอนาคต สิ่งหนึ่งคือความจำเป็นในอันที่จะต้องสลัดของเก่าที่ใช้การไม่ได้แล้ว ซึ่งที่สำคัญคือความคิดอนุรักษ์นิยมที่ดึงสังคมให้กลับไปสู่ “ฤดูหนาว” สร้างอาการลุ่มๆดอนๆให้กับประชาธิปไตยเรื่อยมา มันเป็นความท้าทายอย่างสำคัญต่อคนในกลุ่มอนุรักษ์นิยม
“พวกเขาไม่มีแรงกดดันเหมือนปี 19, 20 ไม่มีสงครามคอมมิวนิสต์ให้กลัว ไม่มีเงื่อนไขความหวาดกลัวทางการเมืองที่เป็นภัยสงคราม พวกเขากลับรู้สึกว่าสภาวะอย่างนี้เป็นโอกาสหรือนาทีทองที่จะพาประเทศไทยกลับสู่กระแสอนุรักษ์นิยมแบบเดิมได้”
แต่สุรชาติชี้ว่าชัยชนะเช่นนี้เป็นเพียงชัยชนะชั่วคราวและบนเงื่อนไขที่เปราะบาง แม้ว่ามองไปรอบข้างอาจจะเห็นการขึ้นมาของกระแสอนุรักษ์นิยมโลก แต่เขาเห็นว่า อนุรักษ์นิยมไทยและทั่วโลกต่างกัน เพราะที่อื่นไม่ปฏิเสธระบบตัวแทน พรรคการเมืองหรือนักการเมือง ไม่ปฏิเสธการเลือกตั้ง ขณะที่อนุรักษ์นิยมไทย “เป็นได้แค่เสนานิยม “
“ที่พวกเขาต้องคิดก็คือ การนำประเทศกลับไปสู่ความคิดอนุรักษ์นิยมแบบเดิมภายใต้ชุดความคิดเสนานิยม มันไม่เปิดโอกาสให้ประเทศเดินไปไหนในอนาคต มันกลับทำให้ประเทศไม่มีแต้มต่อทั้งการเมืองและเศรษฐกิจสำหรับการเดินสู่โลกสมัยใหม่”
“ถ้าคิดว่าจุดใหญ่คือเตรียมปรับประเทศทั้งชุด คือพานำการเมืองกลับสู่ภาวะปกติแล้วคิดด้วยกัน ก็ต้องตระหนักว่าอนุรักษ์นิยมแบบดั้งเดิมเป็นความคิดล้าหลัง กลุ่มล้าหลังถ้าจะอยู่ในภาวะสมัยใหม่จะอยู่อย่างไร”
“การเปลี่ยนแปลงกับโลกข้างหน้าไม่ใช่ภาพในอดีต เป็นสงครามของการเปลี่ยนแปลง โจทย์นี้ใหญ่และท้าทาย การทำยุทธศาสตร์และคิดว่ายุทธศาสตร์เก่าจะใช้ได้กับอนาคต ผมคิดว่าโลกที่เดินไปข้างหน้า มันต้องการชุดความคิดใหม่”
ในขณะที่อีกสิ่งหนึ่งที่สุรชาติมอง คือการสร้างพลังใหม่จากคนรุ่นใหม่ที่จะได้อิทธิพลจากภายนอกไม่ต่างไปจากการเคลื่อนไหวในยุค 2016-2019 คนรุ่นใหม่ในไทยไม่ได้ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวและโดยลำพัง คนรุ่นใหม่ในภูมิภาคจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแบบหน้ากระดานได้หรือไม่
“ 41 ปี 6 ตุลา ถ้าจะมีความหวัง ผมว่าฤดูใบไม้ผลิอาจจะต้องเดินต่อ อย่างน้อยคนรุ่นใหม่จะเติบโต แต่ต้องคิดภาพรวมให้ได้ ว่าสังคมไทยในโลกอินเตอร์เนตนั้นเราเป็นแค่ส่วนเล็กๆในเวทีโลกหรือภูมิภาคทั้งหมด”
“ผมว่าเราไม่ควรหมดหวัง ถ้าเราไม่มีฤดูหนาวที่ลำเค็ญ เราก็จะไม่มีฤดูใบไม้ผลิที่สดใส”