ไม่พบผลการค้นหา
ธนาคารโลกเตือนว่าปัญหาความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก รวมถึงเศรษฐกิจโลกอย่างร้ายแรงกว่าที่หลายฝ่ายเคยคาดการณ์

ธนาคารโลกเตือนว่าปัญหาความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก รวมถึงเศรษฐกิจโลกอย่างร้ายแรงกว่าที่หลายฝ่ายเคยคาดการณ์

ธนาคารโลกออกมาเตือนว่า ปัญหาความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรงกว่าที่หลายฝ่ายเคยคาดการณ์ โดยธนาคารโลกคาดว่าในปี 2017 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกน่าจะสูงถึงร้อยละ 6.4 หรือสูงกว่าเมื่อปี 2016 เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและความต้องการภายในประเทศของจีนที่สูงขึ้น ประกอบกับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงคือความขัดแย้งในภูมิภาคจากกรณีของเกาหลีเหนือ ซึ่งธนาคารโลกคาดการณ์ว่าอาจบานปลายสู่การสู้รบ


โดยรายงานฉบับล่าสุดของธนาคารโลกกล่าวถึงกรณีที่สภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติลงมติคว่ำบาตรเกาหลีเหนือถึง 2 ครั้งว่า เป็นปัจจัยที่ทำให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นและอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมีบทบาทสำคัญต่อการคมนาคมขนส่งทางเรือ รวมถึงห่วงโซ่อุปทานระดับโลก ดังนั้น ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการค้าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน โดยความไม่มั่นคงที่เกิดขึ้นนี้ อาจส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากภูมิภาค ทำให้เกิดการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและดอกเบี้ย อีกทั้งยังทำให้ค่าเบี้ยประกันสำหรับเรือสินค้าสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าทั่วโลกด้วย



เว็บไซต์นิกเกอิ เอเชียน รีวีว วิเคราะห์ว่า การที่ธนาคารโลกออกมาเตือนถึงความเสี่ยงจากความขัดแย้งในภูมิภาคเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นน้อยมาก และครั้งนี้ก็เป็นครั้งแรกที่ธนาคารโลกได้ออกมาเตือนถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี โดยแหล่งข่าวในธนาคารโลกได้เปิดเผยต่อนิกเกอิ เอเชียน รีวิวว่า ปัญหาเกาหลีเหนือเป็นประเด็นสำคัญเกินกว่าที่จะไม่พูดถึง 

ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของอินโดนีเซียได้ออกมาแสดงความเห็นในทำนองเดียวกันว่า ปัญหาเกาหลีเหนือจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของอาเซียน เนื่องจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจะทำให้พฤติกรรมการบริโภคของชนชั้นกลางเปลี่ยนแปลงไป และจะทำให้ประเด็นเรื่องการเมืองในภูมิภาค ความมั่นคง ความเสี่ยง และความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอก กลายเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับเศรษฐกิจอาเซียน



นอกจากนี้ รายงานของธนาคารโลกยังเตือนว่า การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ใหม่อีกครั้ง โดยการผลักดันของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และเบรกซิตอาจส่งผลกระทบในแง่ลบต่อเศรษฐกิจโลก อีกทั้ง ธนาคารโลกยังแสดงความกังวลถึงการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และหนี้สาธารณะในจีน อินโดนีเซีย และไทย ว่าอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และเศรษฐกิจโลกเช่นกัน

เรียบเรียงโดย: สลิสา ยุกตะนันทน์

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog