โดนถามกันมาเยอะว่าทำไมช่วงนี้ Voice TV นำเสนอข่าวเกี่ยวกับวงการไอดอลไทยเยอะ น่าจะตอบทุกคำถามด้วยบทความนี้ทีเดียว
เหมือนกลายเป็นมิติใหม่ของวงการบันเทิงโดยเฉพาะวงการเพลงไทยที่ดูซบเซามาตลอดระยะเวลา 3-4 ปีหลัง ตั้งแต่ปัญหาการเปลี่ยนพฤติกรรมการฟังเพลง การทยอยปิดแผนกหรือลดไซส์ของฝ่ายการผลิตดนตรี ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยให้เกิดการเติบโตของค่ายเพลง และปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่กลับมีสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดความคึกคักในรอบปีที่ผ่านมา นั่นก็คือการถือกำเนิดของสิ่งที่เรียกว่าไอดอลในสังคมไทย
ไอดอลนั้นถ้าเอาจากรากศัพท์ก็จะรู้ว่าไม่ได้เกิดในญี่ปุ่นแน่ๆ แต่มันถูกทำให้แพร่หลายในสังคมญี่ปุ่นจากข้อมูลหลายแหล่ง สิ่งที่เรียกว่า "ไอโดรุ (Aidoru)" เริ่มแพร่หลายในญี่ปุ่นช่วงทศวรรษ 1970จากหนังฝรั่งเศสเรื่อง Cherchez l’idole (Aidoru wo sagase) และเป็นที่นิยมแพร่หลาย และทำให้วงการญี่ปุ่นเกิดกระแสความคลั่งไคล้ไอดอล มีเด็กๆที่อยากเป็นไอดอลจำนวนมาก สินค้าที่เกี่ยวกับตัวไอดอลนั้นสามารถขายได้หมดไม่ว่าจะเป็นเสื้อ ผ้าเชียร์ รูป หมวก พัด ฯลฯ
แล้วไอดอลคืออะไร? ไอดอล สำหรับผมมันเหมือน "เป็ด" คืออาจจะร้องไม่ได้เก่ง เต้นไม่ได้ดีมาก แอคติ้งก็พอไปวัดไปวา แต่กลับมีเสน่ห์เอกลักษณ์และคาแรกเตอร์เฉพาะตัว จริงๆไอดอลเองเริ่มแพร่หลายเข้ามาไทยตั้งแต่ ยุค 80 รุ่นพี่สาวผมก็ต้อง "นันโนะ" โยโกะ มินามิโนะ เซย์โกะ มัตสึดะ หรือฝ่ายชายก็ต้อง โก ฮิโรมิ ไทยเป็นประเทศที่บริโภควัฒนธรรมญี่ปุ่นค่อนข้างมาก ยุคผมมัธยมก็จะมีหนังสือแบบ J-Spy ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับวงการบันเทิงญี่ปุ่น ตอนนั้นไอดอลกรุปที่ดังก็คือ Morning Musume หรือ SMAP
เดือนก่อนผมถูกเชิญไปพูดเวทีเสวนาภาพยนตร์สารคดี Tokyo Idols ของ Documentary Club ในสารคดีนอกจากพูดถึงเรื่องการใช้ชีวิตเพื่อความสุขแล้ว เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจเขาบอกว่าในขณะที่เศรษฐกิจถดถอยหลังจากข้อตกลง Plaza Accord ตั้งแต่ต้นยุค90 แต่ธุรกิจอุตสาหกรรมเพลงไอดอลกับเฟื่องฟู เหมือนมีหน้าที่เยียวยาความรู้สึกเบื่อหน่ายในสังคมและชีวิต มีการประมาณการว่าเงินสะพัดมากกว่า 3 แสนล้านเยน ในญี่ปุ่นมีคนที่เรียกตัวเองว่าไอดอลกว่า 10,000คน
หรือถ้ามองแบบสัมผัสง่ายๆ"ซัชชี่" ซาชิฮาระ ริโนะ ที่1 ของการเลือกตั้งทั่วไป ในสมาชิก 48 Group กลุ่มไอดอลที่ใหญ่ที่สุดมีคะแนนกว่า 2.5แสนคะแนน ซึ่ง1 คะแนนโหวตจะได้มาจากการซื้อซีดี 1 แผ่นแปลว่าอย่างน้อยต้องมีคนซื้อซีดีเพื่อโหวตให้ซัชชี่ 2.5 แสนแผ่น โดยยังไม่รวมกับลำดับอื่นๆในการเลือกตั้ง หรืออย่างซิงเกิลเดบิวท์ของวง Keyakizaka46 ขายได้มากกว่า 2.5 แสนแผ่นก็เป็นปรากฏการณ์ใหม่ของวงการบันเทิงญี่ปุ่น อย่างตัวผมเองก็ติดตาม akb48 มาตั้งแต่ช่วง 2009-2013 และตอนนี้ย้ายไปเป็นแฟนของ Keyakizaka46 แทน
กลับมาที่เมืองไทย ตั้งแต่ปี 2016 ที่มีการประกาศว่าจะมีการจัดตั้งวงน้องสาว (Sister Group)ของ akb48 ในประเทศไทยภายใต้ชื่อ bnk48 โดยได้มีการเปิดออดิชั่นและเปิดตัวครั้งแรกในงาน Japan Expo เมื่อต้นปี 2017 จากนั้นความแพร่หลายของกว้างขึ้นโดยเฉพาะในโลกที่ใช้สื่อออนไลน์ในการเผยแพร่ (แม้จะไม่มี MV) และเริ่มมีวงอื่นๆลงมาเล่นในตลาดดังกล่าวเช่นทุนใหญ่อย่างโยชิโมโต กรุป สื่อบันเทิงญี่ปุ่นขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นก็ดันวงอย่าง Sweat16! ออกมาและยักษ์ใหญ่อย่างแกรมมี่ ก็เตรียมดัน Soundcream อีกวงที่จะมาแย่งส่วนแบ่งตลาด
ความสนุกของการตามไอดอลคืออะไร? ผมเคยคุยกับคุณนัทคุง สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ญีปุ่น แล้วคิดเหมือนกันว่า นอกจากความสดใส น่ารัก และคาแรกเตอร์ของแต่ละคนแล้ว ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นมันจะมีสิ่งที่เรียกว่า "จิตวิญญาณแห่งวัยหนุ่มสาว" หรือ "เซชุน" อยู่ เหมือนเวลาเราอ่านการ์ตูนเราจะเห็นการรวมพลังเพื่อทำตามฝัน เช่น การ์ตูนบาสเกตบอลทีมก็อยากจะไปแข่งอินเตอร์ไฮ หรือ ถ้าเป็นเบสบอลก็ต้องไปโคชิเอ็นให้ได้ หรือภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่พูดถึงจิตวิญญาณแบบนี้ก็จะมีเรื่อยๆเช่น Hula Girls, Swing Girls หรือ เรื่องล่าสุดที่เข้าปีนี้อย่างLet's go,Jets เพราะช่วงเวลาวัยรุ่นเป็นช่วงเวลาที่เราพยายามทำตามฝันโดยไม่มีกรอบใดๆมาครอบงำในการตามหาฝัน ก่อนที่จะต้องออกไปเจอโลกที่โหดร้าย
คนเชียร์ก็จะรู้สึกสนุกไปด้วยกับการลุ้นให้ศิลปินที่ตนชื่นชอบประสบความสำเร็จ ไม่ต่างจากการลุ้น AF หรือ The Star สมัยก่อน ในมุมมองผมคิดว่าถ้าหากการบูมของไอดอลในญี่ปุ่นเกิดขึ้นมาเยียวยาในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและคนเริ่มไม่มีความหวัง จึงต้องฝากความหวังกับการผลักดันให้ไอดอลที่เขาชื่นชอบประสบความสำเร็จ สำหรับประเทศไทยอาจจะเป็นการเยียวยาจากภาวะการเมืองและสภาพสังคมที่ไม่มีความหวังตลอดมา เพื่อให้เราลืมปัญหาไปชั่วครู่ชั่วยามเช่นกัน เผลอๆการจัดเลือกตั้งไอดอลในประเทศไทยอาจมีก่อนการเลือกตั้งตามโรดแมปที่เลื่อนไปเรื่อยๆของรัฐบาลก็ได้ ใครจะรู้?