รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียเตือนว่าหากความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ยังดำเนินต่อไป อาจเป็นช่องให้กลุ่มก่อการร้าย IS รุกคืบเข้าไปมีอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ง่ายขึ้น
นางจูลี บิชอป รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย เตือนว่าสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ของเมียนมา ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน เนื่องจากหากปล่อยใหเ้ป็นเช่นนี้ต่อไป การกดขี่ชาวโรฮิงญาอาจถูกกลุ่มก่อการร้ายเช่นกลุ่ม IS นำไปสร้างแนวร่วม โดยขยายประเด็นว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของการเบียดบังรังแกชาวมุสลิมโดยสหรัฐฯและชาติพันธมิตร
นางบิชอปยังกล่าวอีกด้วยว่าจุดยืนของออสเตรเลียก็คือการสนับสนุนให้ผู้แทนของสหประชาชาติเข้าไปสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยะไข่ โดยนางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา ประกาศว่าจะให้คณะผู้แทนของสหประชาชาติและชาติสมาชิกยูเอ็น เข้าไปสังเกตการณ์สถานการณ์ในยะไข่ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ (2 ตุลาคม) ซึ่งเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำเมียนมา จะเป็นหนึ่งในคณะผู้สังเกตการณ์ด้วย
นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังคงมาตรการคว่ำบาตรไม่ขายหรือให้บริการทางอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับรัฐบาลเมียนมา เพื่อแสดงจุดยืนความกังวลต่อสถานการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในยะไข่ รวมถึงจะไม่มีการฝึกซ้อมรบร่วมกันระหว่างกองทัพของสองประเทศด้วย จนกว่ารัฐบาลเมียนมาจะยุติความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาในยะไข่
ก่อนหน้านี้ กลุ่มก่อการร้ายมุสลิมสุดโต่งหลายกลุ่ม เช่นอัลกออิดะห์ รวมถึงตอลิบาน และไอเอส ต่างออกมาเรียกร้องให้นักรบญิฮาดทั่วโลกแก้แค้นให้กับชาวโรฮิงญาที่ถูกรัฐบาลเมียนมากดขี่ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่กลุ่มกองกำลังกู้ชาติโรฮิงญาอาระกัน หรือ ARSA ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติใดๆทั้งสิ้น
นับตั้งแต่ความรุนแรงรอบล่าสุดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา สหประชาชาติรายงานว่ามีชาวโรฮิงญาลี้ภัยเข้าไปยังบังกลาเทศแล้วกว่า 500,000 คน กลายเป็นวิกฤตผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกขณะนี้ และเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ลี้ภัยกว่า 60 รายจมน้ำเสียชีวิตขณะพยายามล่องเรือมายังบังกลาเทศในช่วงเวลากลางคืน
เรียบเรียง: พรรณิการ์ วานิช