ไม่พบผลการค้นหา
หลังจากเกิดกระแสฮือฮาทั่วโลกจากการที่ซาอุดีอาระเบียอนุญาตให้ผู้หญิงทำใบขับขี่ได้เป็นประเทศสุดท้ายในโลก ความเปลี่ยนแปลงนี้กลายเป็นการปลุกกระแสเรียกร้องในหมู่หญิงซาอุดี ที่ยืนยันว่าพวกเธอต้องการสิทธิมากกว่าแค่ขับรถ แต่รวมถึงการดูแลตัวเอง ไม่ต้องอยู่ใต้การปกครองของผู้ชาย

หลังจากเกิดกระแสฮือฮาทั่วโลกจากการที่ซาอุดีอาระเบียอนุญาตให้ผู้หญิงทำใบขับขี่ได้เป็นประเทศสุดท้ายในโลก ความเปลี่ยนแปลงนี้กลายเป็นการปลุกกระแสเรียกร้องในหมู่หญิงซาอุดี ที่ยืนยันว่าพวกเธอต้องการสิทธิมากกว่าแค่ขับรถ แต่รวมถึงการดูแลตัวเอง ไม่ต้องอยู่ใต้การปกครองของผู้ชาย

การออกพระราชกฤษฎีกาของสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบีย อนุญาตให้ผู้หญิงสามารถทำใบขับขี่ได้เป็นครั้งแรก หลังจากการเรียกร้องของกลุ่มสิทธิสตรีมานานหลายปี ถูกมองว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปรับภาพลักษณ์ของประเทศให้ทันสมัย รับการแผนปฏิรูปประเทศและโครงสร้างเศรษฐกิจ เปลี่ยนผ่านซาอุดีอาระเบียสู่การไม่พึ่งพิงน้ำมันเป็นรายได้หลักเหมือนในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ซาอุดีอาระเบียต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรฐานโลกมากขึ้น ทั้งด้านความเป็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เพื่อลดแรงกดดันทั้งจากในและนอกประเทศ รวมถึงยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม การสร้างภาพลักษณ์ครั้งนี้ถือว่ามีนัยสำคัญต่อกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีในซาอุดีอาระเบีย เพราะถือเป็นชัยชนะครั้งแรกในรอบหลายปี หลังจากที่ผ่านมานักสิทธิฯในซาอุดีอาระเบียต้องถูกจับกุมคุมขัง หรือต้องลี้ภัยออกนอกประเทศเพียงเพราะการรณรงค์เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างการขับรถ และยังเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเรียกร้องขั้นต่อไป เนื่องจากสิทธิในการขับรถ เป็นเพียงหนึ่งในสิทธิพื้นฐานหลายประการที่ถูกพรากไปจากหญิงซาอุดี

หลังจากมีการประกาศให้ผู้หญิงทำใบขับขี่ได้ ก็เกิดกระแสติดแฮชแท็ก #Iammyownguardian เนื่องจากตามกฎหมายซาอุดี ผู้หญิงจะต้องมี "วาลี" หรือผู้ปกครองชาย ซึ่งเป็นพ่อ สามี พี่ชาย หรือลูกชายของตนเอง เป็นผู้รับรองหรืออนุมัติในการทำธุรกรรมอย่างเปิดบัญชีธนาคาร แต่งงาน รักษาพยาบาล หรือแม้แต่การเดินทางไปไหนมาไหน กฎหมายดังกล่าวทำให้ผู้หญิงมองว่าตนเองเป็นเพียงทรัพย์สินหรือภาระของผู้ชาย ไม่ได้รับสถานะพลเมืองอย่างเต็มตัว

แฮชแท็ก #Iammyownguardian หรือฉันคือผู้ที่ดูแลตัวเอง เคยเป็นเทรนด์มาแล้วเมื่อปี 2016 ครั้งนั้นมีการเข้าชื่อของประชาชนกว่า 14,000 คนเพื่อขอให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายการให้ผู้หญิงต้องมีผู้ปกครองชายดูแล แต่ก็ไม่เป็นผล และในตอนนี้ นักสิทธิสตรีจำนวนหนึ่งก็เปิดเผยกับสำนักข่าวต่างประเทศว่าพวกเธอถูกเตือนแล้วว่าไม่ให้ฉวยโอกาสใช้การออกพระราชกฤษฎีกาอนุญาตให้ผู้หญิงทำใบขับขี่ ต่อยอดเป็นการเรียกร้องสิทธิด้านอื่นๆ

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว สะท้อนอย่างชัดเจนว่าแม้ซาอุดีอาระเบียจะเริ่มขยับปรับเปลี่ยนกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลมากขึ้น แต่ก็ยังห่างไกลจากการให้สิทธิขั้นพื้นฐานแก่พลเมืองทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ยังไม่ต้องพูดถึงสิทธิทางการเมือง โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล สถาบันกษัตริย์ หรือศาสนา

เรียบเรียง: พรรณิการ์ วานิช

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

7 สิ่งที่ผู้หญิงซาอุดีทำไม่ได้

ซาอุดีฯอนุญาตผู้หญิงขับรถได้เป็นประเทศสุดท้ายในโลก

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog