ไม่พบผลการค้นหา
รางวัลปีศาจ คือรางวัลวรรณกรรมใหม่ของไทย ชื่อจากนิยายของเสนีย์เสาวพงศ์ ฉีกแนวจากรางวัลอื่นด้วยการพิจารณาจากต้นฉบับ เปิดเผยความเห็นกรรมการ และเน้นเนื้อหาก้าวหน้า
  • รางวัลปีศาจ คือรางวัลวรรณกรรมใหม่ของไทย ได้ชื่อมาจากนิยาย "ปีศาจ" ของเสนีย์ เสาวพงศ์"
  • ผู้ก่อตั้งจะฉีกแนวจากรางวัลอื่นด้วยการพิจารณาจากต้นฉบับ เพื่อเพิ่มโอกาสตีพิมพ์ผลงานออกมาเป็นเล่มของนักเขียนที่ไม่มีต้นทุน
  • กระบวนการตัดสินจะเปิดเผยรีวิวและความเห็นต่อสาธารณะ วิจารณ์และถกเถียงได้ ต่างจากรางวัลอื่นที่ปิดห้องพิจารณาและผลประกาศถือเป็นสิ้นสุด
  • แนวงานต้องมีคุณค่าด้านประชาธิปไตยเป็นมาตรฐานขั้นต่ำ สนับสนุนความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าเป็นสำคัญ

"มันไม่ควรมีรางวัลไหนที่ไปรับแล้วเราต้องรู้สึกว่าต้องหมอบลงไปเป็นหนี้บุญคุณกรรมการ"

กิตติพล ย้ำคำเดิมกับในสเตตัสที่เขาเคยเขียนไว้ในเฟซบุ๊คอีกครั้ง เมื่อ Voice TV ไปขอสัมภาษณ์เขาถึงประกาศตั้งรางวัลวรรณกรรมใหม่ "รางวัลปีศาจ" ขึ้นมาในวงการหนังสือเมืองไทย

แม้ชื่อรางวัลจะฟังดูสยองขวัญมากกว่าความทรงเกียรติ แต่สำหรับคอนักอ่านบ้านเรา นิยายเรื่อง "ปีศาจ" ของเสนีย์ เสาวพงศ์ ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของวรรณกรรมฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตย ใครเคยอ่านจะรู้ได้ทันทีว่าความหมายของ "ปีศาจ" ในเรื่องนี้ห่างไกลจากภูตผี เพราะหมายความถึง "ความเปลี่ยนแปลง" ของโลกสมัยใหม่ ที่จะมาหลอกหลอนคนในชนชั้นเก่าให้รู้ว่าอำนาจและความสูงส่งของพวกตนจะไม่คงอยู่ตลอดไป นี่เองทำให้นิยายที่เขียนขึ้นตั้งแต่พ.ศ. 2496 อยู่ยงจนต่อมา กลายเป็นแรงปลุก "พลังหนุ่มสาว" ในช่วง 14 ตุลาขึ้นได้

แต่ "รางวัลปีศาจ" จะแตกต่างและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวงการวรรณกรรมได้อย่างไร?

พอกันทีกับพิธีการรุงรัง ถึงเวลาต้องช่วยนักเขียน

น้อยคนจะรู้ว่า หนังสือซีไรต์เล่มล่าสุดปีล่าสุดเรื่อง "นครคนนอก" ตัวนักเขียนอย่าง "พลัง เพียงพิรุฬห์" ต้องเขียนเองพิมพ์เองมาตลอด 

ไม่ใช่แค่ปีที่ได้รางวัล แต่ทุกปีที่ส่งเข้าชิง และทุกเล่มของเขาก็ "ทำเอาเอง" เป็นหลัก

คำถามคือยังมีนักเขียนอีกสักกี่คน ผลงานอีกกี่เล่มที่มีคุณค่า แต่ยากจะหาผู้รับผิดชอบพิมพ์ กว่าจะได้เข้าตา เดินทางไปถึงเวทีประกวด?

"กิตติพล สรัคคานนท์" บรรณาธิการสำนักพิมพ์ 1001 ราตรี ผู้ที่คลุกคลีอยู่ในวงการวรรณกรรมและเคยเข้าร่วมกับเวทีรางวัลหนังสือต่างๆ เผยกับ Voice TV ว่า "รางวัลปีศาจ" อยากจะฉีกรูปแบบเดิมๆ ที่ให้คณะกรรมการหน้าเก่าๆ มาพิจารณาแบบปิดลับ ฟังบรีฟจากผู้คัดเลือกแล้วจึงตัดสิน เมื่อผลออกมาแล้วผู้เขียนก็ต้องเข้าไปรับรางวัลด้วยความอ่อนน้อมสำนึกบุญคุณ ขณะที่ยังมีคนอื่นอีกมากที่พร้อมจะอ่านงานเหล่านี้อย่างจริงจัง และมีงานดีๆ อีกมากที่ไม่มีแม้แต่โอกาสจะพิมพ์ออกมาเป็นเล่ม

"ที่เราคิดว่าจะฉีกไปเลยก็คือ เราไม่ได้รับหนังสือที่เป็นเล่ม แต่เราจะดูต้นฉบับที่ออกมาก่อนเพื่อที่จะพิจารณา เพราะฉะนั้นถ้ารางวัลปีศาจจัดประกวด สิ่งที่คุณต้องทำคือคุณต้องทำต้นฉบับส่งมาให้เรา"

"เพื่อความยุติธรรม ชื่อผู้เขียนจะมีแค่คนที่รวบรวมเห็นเท่านั้น พอส่งมา คนที่รับเรื่องมาคัดเลือกเขาก็จะอ่านแค่ผลงานจริงๆ และก็ทราบแค่ชื่อเรื่อง ไม่ทราบผู้แต่ง จะมาทราบจริงๆ ก็ภายหลังที่มีการทำ Shortlist แล้ว ซึ่งเป้าหมายจะคัดเลือกให้เหลือสักประมาณ 3-4 เล่ม เพื่อตัดสินอีกครั้งหนึ่ง แต่เราไม่ใช่แค่ตัดสิน ตั้งใจจะทำต้นฉบับนี้มาเพื่อให้เป็นเล่ม จัดพิมพ์ให้ด้วย"

ด้านความเป็นไปได้ที่จะทำออกมาได้จริง กิตติพลเล่าว่าตอนนี้มีสปอนเซอร์ตกปากรับคำแล้ว และยืนยันจะได้เดินหน้าทำให้เป็นรูปเป็นร่างออกมาอย่างแน่นอน เล็งใช้วันที่ "6 ตุลา" ปีหน้าเป็นวันประกาศผลรางวัล แต่เท่ากับว่ากรอบการทำงานจะลดลงเหลือไม่ถึงปี จึงยังต้องประชุมกับคณะทำงานว่าเป็นไปได้หรือไม่

 

"ผู้พิพากษา" คุณค่าหนังสือ

ด้าน "นิวัต พุทธประสาท" นักเขียน-บรรณาธิการที่เคยไปเป็นกรรมการในรางวัลหนังสือหลายสถาบัน ยอมรับว่า ปัญหาของรางวัลวรรณกรรมเมืองไทย คือไม่ได้สนับสนุนการอ่านเท่าที่คนในวงการต้องการ และปัญหาภายในสถาบันรางวัลต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว

"ไม่ใช่มันเพิ่งจะเกิดขึ้นในปีนี้ มันสั่งสมมาเป็นสิบปีแล้ว ด้วยเรื่องสปอนเซอร์ ด้วยเรื่องอะไรอย่างที่คุณจรูญพรเพิ่งแจกแจงไป ซึ่งรางวัลซีไรต์มันลดจำนวนรางวัลลงมาต่อเนื่องแล้ว สปอนเซอร์ที่เข้ามาก็น้อยลงไปเรื่อยๆ" นิวัตกล่าว "ปัญหาจริงๆ ของรางวัลต่างๆ ในประเทศนี้ มันเป็นปัญหาของการมีคณะกรรมการอยู่ไม่กี่คน ไม่กี่ชุด ซึ่งขาดความหลากหลาย"

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการได้รับรางวัล มีส่วนช่วยกระตุ้นยอดขาย แต่ก็มีบางปี ผลตัดสินออกมาว่าไม่มีผู้ชนะ ซึ่งนิวัตมองว่า "ดูแปลกๆ"

"บางรางวัลมันมีกติกาที่ไม่ควรเกิดขึ้น" เขากล่าว "มันอาจอยู่ที่ทัศนคติของกรรมการด้วย แต่ผมนึกไม่ออกเหมือนกันว่าจะไม่มีผู้ชนะ กรรมการก็ไม่ได้เป็นผู้วิเศษอะไรมากมายที่จะมาตัดสินคุณค่าว่าชิ้นนี้ไม่ควรจะได้รับรางวัลที่หนึ่ง"

ส่วนกิตติพลบอกชัดเจนว่า เป็นที่ปัญหาโครงสร้าง

"ส่วนใหญ่ก็บุคลากรหน้าเดิมๆ ถ้าเป็นกวีก็มีคุณลุงคนเนี้ยไปตัดสินเกือบทุกรายการ หรือว่าเป็นอาจารย์คนนี้ที่จะต้องเข้าไปทุกรายการ แต่จริงๆ แล้วมีบุคลากรอีกตั้งเยอะที่ไม่ได้อยู่ในโครงสร้างตรงนี้ แล้วก็มีบุคลากรอีกตั้งเยอะที่อ่านงานตรงนี้ซีเรียสกว่าแค่ฟังบรีฟจากคณะกรรมการคัดเลือกแค่ 20-30 นาที ซึ่งก็มีคนพร้อมที่จะทำงานตรงนี้อีก"

โดยรางวัลปีศาจ จะมีการเปิดเผยรีวิวและความเห็นของคณะกรรมการคัดเลือกด้วยอย่างแน่นอน

"ไม่ควรจะตั้งตนเป็นเหมือนผู้พิพากษาคดีลับ มันควรจะชวนพูดคุยถกเถียงได้ อะไรที่มันน่าสนใจ เราควรจะหยิบมาพูด" กิตติพลกล่าว

 

เนื้อหาที่ "ปีศาจ" จะชอบ

เมื่อชื่อรางวัลยึดโยงกับนิยายฝ่ายเสรี เนื้อหาผลงานที่จะเข้ารอบก็ต้องมีคุณสมบัติในแนวเดียวกัน อาจไม่ถึงกับตีกรอบว่าต้องเป็นวรรณกรรมการเมืองเหมือนกับเวที "พานแว่นฟ้า" แต่อย่างน้อยที่สุด ต้องเป็นนิยายที่นำพาความเปลี่ยนแปลง และความก้าวหน้ามาสู่สังคม

"ทั้งหมดนี้ สำหรับผมมันเป็นมาตรการขั้นต่ำ ไม่ควรจะน้อยกว่านี้ ประชาธิปไตยนี่มันแค่เล็กน้อย ควรจะเป็นแค่ขั้นต่ำ มันควรจะมีอะไรที่ก้าวหน้ายิ่งกว่านี้ ให้สะท้อนออกมาในรูปแบบของการเขียน วิธีนำเสนอ รวมถึงตัวแนวคิดและเนื้อหา ซึ่งเป็นหลักการกว้างๆ ที่เรากำหนดไว้" กิตติพลกล่าว

"ถ้ามันสนับสนุนให้เราอยู่กับที่ แล้วบอกว่าของเดิมก็ดีอยู่แล้ว หรือว่าของเดิมของเราก็มีดีมาตั้งนานแล้ว แบบนี้มันก็คงไม่ใช่อุดมการณ์ที่กำกับแนวคิดของรางวัลนี้"

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog