ไม่พบผลการค้นหา
การก่อเหตุของกลุ่มติดอาวุธชาวมุสลิมทั่วโลก ทำให้เกิดกระแสเกลียดกลัวอิสลามขึ้นในหลายประเทศ แต่ชาวมุสลิมที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงก็พยายามต่อต้านแนวคิดสุดโต่งที่แอบอ้างศาสนา และการสร้างสรรค์แอนิเมชั่นก็เป็นหนทางหนึ่งในนั้น

การก่อเหตุของกลุ่มติดอาวุธชาวมุสลิมทั่วโลก ทำให้เกิดกระแสเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia) ขึ้นในหลายประเทศ แต่กลุ่มชาวมุสลิมที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงก็พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อต่อต้านแนวคิดสุดโต่งที่แอบอ้างศาสนา และการสร้างสรรค์แอนิเมชั่นก็เป็นหนทางหนึ่งในนั้น

'บูรกา อเวนเจอร์' การ์ตูนแอนิเมชั่นสามมิติจากปากีสถาน เป็นเรื่องราวของซูเปอร์ฮีโรหญิงภายใต้ผ้าคลุมบูรกาของมุสลิม ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ในประเทศติดต่อกันนับตั้งแต่ออกฉายเมื่อปี 2013 เป็นต้นมา และนิตยสารไทม์ของสหรัฐฯ เคยรายงานว่าบูรกา อเวนเจอร์ เป็นการ์ตูนที่มีอิทธิพลต่อเยาวชนเรื่องหนึ่งในเอเชีย ทั้งยังมีการซื้อลิขสิทธิ์ไปเผยแพร่ต่อในอีกหลายประเทศ เช่น อัฟกานิสถาน อินโดนีเซีย และอินเดีย

ตัวละครเอกของแอนิเมชั่นเรื่องนี้ คือ 'จีญา' ซึ่งออกต่อสู้กับผู้ร้ายเพื่อขจัดความไม่เป็นธรรมในสังคม และการกดขี่จากกลุ่มผู้ใช้ความรุนแรง โดย 'แอรอน ฮารูน ราชิด' นักร้อง-นักดนตรีชาวปากีสถาน และ CEO ของบริษัท 'ยูนิคอร์นแบล็ค' ซึ่งเป็นผู้ผลักดันให้เกิดแอนิเมชั่นเรื่องนี้ ให้สัมภาษณ์กับวอยซํทีวีระหว่างเดินทางเข้าร่วมโครงการรณรงค์ของ UN Women ในประเทศไทย โดยเขาระบุว่า ตัวตนที่แท้จริงของจีญาคือครูสาวชาวปากีสถาน ซึ่งจะสวมผ้าคลุมปิดบังใบหน้าขณะออกปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ 'บูรกา อเวนเจอร์' และมีอาวุธที่สำคัญคือ 'ตำรา' กับ 'ปากกา' 

"จีญาโจมตีคนด้วยหนังสือ ตอบโต้ด้วยปากกา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่จะบอกว่า 'ความรุนแรงไม่ใช่คำตอบ' แต่การศึกษาต่างหากที่เป็นคำตอบ ผมไม่อยากให้บูรกา อเวนเจอร์ ใช้ปืนหรือระเบิด เพราะผมไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง"

แอรอนอธิบายว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่มครูที่รวมตัวต่อต้านกลุ่มตอลิบานในปากีสถาน ซึ่งมักก่อเหตุโจมตีโรงเรียน เพราะต้องการจำกัดพื้นที่และบทบาทของผู้หญิง ประเด็นหลักของบูรกา อเวนเจอร์ จึงเป็นการพูดถึงความสำคัญของการศึกษาในการต่อสู้กับแนวคิดสุดโต่ง แต่ขณะเดียวกันก็พูดถึงประเด็นปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมด้วย เช่น การต่อสู้กับอคติทางเพศ การใช้แรงงานเด็ก การทุจริตคอร์รัปชั่น และอันตรายจากการใช้อาวุธ

แม้จะมีเสียงวิจารณ์จากสื่อตะวันตกอยู่บ้างว่าการสร้างตัวละครซูเปอร์ฮีโร่หญิงที่สวมผ้าคลุมศีรษะและใบหน้า อาจทำให้ถูกตีความได้ว่าแอนิเมชั่นเรื่องนี้สนับสนุนการจำกัดบทบาทของผู้หญิงไม่ต่างจากกลุ่มตัวร้ายที่บูรกา อเวนเจอร์ ต้องต่อกรด้วย แต่แอรอนระบุว่า บูรกาเป็นเครื่องมือที่ตัวเอกของเรื่องใช้ในการปิดบังตัวตน ไม่ต่างจากตัวละครซูเปอร์ฮีโรในโลกตะวันตกที่ต้องสวมชุดหรือหน้ากากในการปฏิบัติภารกิจ ซึ่งคนทีวิจารณ์เรื่องนี้อาจจะไม่ได้ดูบูรกา อเวนเจอร์ เพราะที่จริงแล้วตัวละครจีญาไม่สวมผ้าคลุมหน้าหรือผ้าคลุมศีรษะในชีวิตประจำวัน 

"กลุ่มสุดโต่งบังคับไม่ให้ผู้หญิงไปโรงเรียน ให้อยู่แต่ในบ้าน และสวมผ้าคลุมหน้า จีญาจึงสวมบูรกา เพราะคิดว่าถ้าอยากให้ปิดหน้าก็จะปิด ซึ่งช่วยให้เธอสามารถปิดบังตัวตนที่แท้จริงไม่ให้ใครรู้ เพื่อที่จะได้ต่อสู้กลับไปได้"

ปัจจุบัน หลายองค์กรในปากีสถาน รวมถึงโครงการระหว่างประเทศอย่าง UN Women ประจำเอเชียแปซิฟิก นำแอนิเมชั่นเรื่องนี้ไปใช้รณรงค์ต่อต้านแนวคิดสุดโต่ง โดยคาดหวังว่าเสียงหัวเราะและประเด็นทางสังคมในสื่อสร้างสรรค์จะช่วยผลักดันให้เกิดความอดทนอดกลั้น และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันโดยไม่ใช้ความรุนแรงได้

"องค์กร 'ซาบาอูน' ในปากีสถาน ซึ่งทำงานกับเด็กที่เคยเข้าร่วมกับกลุ่มสุดโต่ง เปิดบูรกา อเวนเจอร์ ให้เยาวชนดู เพื่อโน้มน้าวให้พวกเขาเปลี่ยนความคิดเรื่องการใช้ความรุนแรง เพราะองค์กรนี้พยายามเยียวยาให้เด็กกลับคืนสู่สังคม"

ผู้ปกครองอีกเป็นจำนวนมากบอกกับแอรอนด้วยว่า บูรกา อเวนเจอร์ เป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องเดียวที่พวกเขาอนุญาตให้เด็กๆ ในปกครองดูได้โดยไม่รู้สึกเป็นกังวล ส่วนกลุ่มคนดูซึ่งมีทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายก็ชื่นชอบตัวละครบูรกา อเวนเจอร์ไม่ต่างกัน และไม่รู้สึกว่าตัวละครซูเปอร์ฮีโรหญิงเป็นเรื่องที่แปลกแต่อย่างใด แม้คนดูส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่เติบโตมาในประเทศมุสลิมก็ตาม

"ข้อดีของการสร้างตัวละครสมมติอย่างบูรกาอเวนเจอร์ขึ้นมาก็คือ ตัวละครเหล่านี้สมบูรณ์แบบ และไม่ถูกทำลายด้วยกาลเวลา เป็นแบบอย่างทางคุณธรรมและจริยธรรมที่เหนือกว่าคนจริงๆ เพราะหลายครั้งบุคคลตัวอย่างก็ทำตัวตกต่ำลงอย่างน่าเสียดาย" แอรอนกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
184Article
76559Video
0Blog