ไม่พบผลการค้นหา
แม่น้ำโขงมีความสำคัญต่อประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 30 ล้านคนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำ และพึ่งพิงแม่น้ำโขงในการเลี้ยงชีพ ซึ่งขณะนี้กำลังถูกทางการจีนควบคุมด้วยการสร้างเขื่อนเพื่อควบคุมปริมาณน้ำและยังต้องการระเบิดเกาะแก่งตามลุ่มน้ำโขงเพื่อให้เรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ล่องผ่านได้ 

แม่น้ำโขงมีความสำคัญต่อประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 30 ล้านคนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำ และพึ่งพิงแม่น้ำโขงในการเลี้ยงชีพ ซึ่งขณะนี้กำลังถูกทางการจีนผลักดันการสร้างเขื่อนเพิ่มเพื่อควบคุมปริมาณน้ำ และยังต้องการระเบิดเกาะแก่งตามลุ่มน้ำโขงเพื่อให้เรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ล่องผ่านได้ 

จีนกำลังเร่งกดดันประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ปลายลุ่มแม่น้ำโขงให้เข้าร่วมแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศ ซึ่งจีนต้องการให้ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งเวียดนาม, ลาว, ไทย และกัมพูชา ระเบิดเกาะแก่งต่างๆ ที่อยู่ตามลุ่มน้ำโขงเพื่อขยายร่องน้ำให้เรือพาณิชย์ขนาด 500 ตัน สามารถล่องผ่านได้ โดยเริ่มตั้งแต่มณฑลยูนนานของจีน ออกไปถึงทะเลจีนใต้ เป็นระยะทางกว่า 890 กิโลเมตร

แผนการดังกล่าวก็ถูกเครือข่ายชุมชนและหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมในไทยคัดค้านมานานกว่า 10 ปีแล้ว เนื่องจากการระเบิดแก่งหินตามพรมแดนไทย-ลาว แถวจังหวัดเชียงราย จะเป็นการทำลายพื้นที่อยู่อาศัยและเพาะพันธุ์ปลาท้องถิ่นที่มากถึง 74 ชนิด และเป็นการทำลายแหล่งอาหารของนกท้องถิ่นด้วย โดยเฉพาะ แก่งคอนผีหลง กลุ่มหินผาบริเวณตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งขณะนี้ความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำและพันธุ์ปลาก็ลดจำนวนลงเรื่อยๆ อยู่แล้ว ตั้งแต่ทางการจีนได้สร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าในจีน 9 แห่ง ที่สามารถควบคุมปริมาณและเส้นทางน้ำของแม่น้ำโขงได้ จนทำให้ระบบนิเวศน์เกิดความเปลี่ยนแปลง 

โครงการขยายร่องน้ำโขงเคยถูกระงับไปแล้วครั้งหนึ่งในสมัยของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แต่กลับถูกนำมารื้อฟื้นอีกครั้ง ในสมัยรัฐบาล คสช.ที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ปีที่แล้ว (2016) ให้พิจารณาแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศ ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมต่อจากจีนมาถึงไทยและเชื่อมต่อไปยังลาว ซึ่งก็ทำให้เกิดเสียงคัดค้านในหลายภาคส่วน เพราะนอกจากจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนและทรัพยากรธรรมชาติ โครงการขยายร่องน้ำโขง อาจเปิดทางให้จีนเข้ามาขยายอิทธิพลในภูมิภาคได้

การเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านโครงการขยายร่องน้ำโขงอาจได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนบ้าง แต่ภายใต้การปกครองของรัฐบาล คสช.ที่ห้ามไม่ให้มีการชุมนุม ทำให้การเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านโครงการนี้ไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ กับรัฐบาล นอกจากนี้ รัฐบาล คสช.ก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มความร่วมมือกับรัฐบาลจีนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากรัฐบาลจีนไม่ได้มีปัญหาที่จะสานสัมพันธ์กับรัฐบาลที่ได้อำนาจมาจากการก่อรัฐประหารและกดขี่เสรีภาพของประชาชน 

​แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหิมาลัย ไหลผ่านบริเวณที่ราบสูงทิเบตผ่านประเทศจีน เข้าสู่เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และออกสู่ทะเลจีนใต้ผ่านเวียดนาม มีความยาวทั้งหมด 4,880 กิโลเมตร ถือว่าเป็นแม่น้ำที่ใช้ร่วมกันของทุกประเทศที่แม่น้ำไหลผ่าน แต่ตอนนี้ดูเหมือนจีนจะได้ประโยชน์อยู่ฝ่ายเดียว แม้จีนจะอ้างว่าการขยายร่องน้ำโขงจะเกิดผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่ายจากการส่งสินค้าระหว่างกัน แต่ เสาวรัจ รัตนคำฟู นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยมองว่าโครงการขยายร่องน้ำโขงจะเป็นประโยชน์แต่จีนเพียงฝ่ายเดียวที่จะสามารถพัฒนาการค้าบริเวณภาคใต้ของจีน และบริษัทจีนที่ได้สัมปทานเดินเรือในแม่น้ำโขง แต่ประชาชนนับล้านที่อาศัยอยู่บริเวณสองฟากฝั่งแม่น้ำโขงต้องได้รับผลกระทบโดยตรง

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog