การรถไฟแห่งประเทศไทย ชี้แจงกรณีผู้ค้ารายเล็กแผงค้าตลาดนัดจตุจักรร้องเรียนถูกเรียกเก็บค่าเช่าเพิ่ม
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ชี้แจงกรณี นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป เปิดเผยว่าผู้ค้ารายเล็กแผงค้าตลาดนัดจตุจักร ได้ให้ข้อมูลและมีการเรียกร้องกรณีถูกเจ้าหน้าที่ระดับสูงของการรถไฟแห่งประเทศไทยกลั่นแกล้ง สร้างความเดือดร้อน โดยมีกระบวนการหาประโยชน์ในทางมิชอบ เรียกเก็บค่าเช่าที่ดินการรถไฟฯ แพงขึ้น 10 เท่า กว่าราคาเดิมที่ทาง กทม.เคยเก็บ ตลอดจนจ่ายค่ารักษาความปลอดภัย ค่าทำความสะอาด สูงกว่าค่าใช้จ่ายที่ กทม. บริหารตลาดนัดจตุจักร ในปี 2554 จึงเรียกร้องให้นายกฯ ช่วยเหลือประชาชนผู้ค้าขายรายเล็ก และช่วยปราบเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริต นั้น
นายอานนท์ ชี้แจงว่า อัตราค่าเช่าแผงค้าตลาดนัดจตุจักร มีที่มาจากการคำนวณราคาประเมินที่ดิน รวมกับค่าใช้จ่ายการว่าจ้างดูแลรักษาความสะอาด และความปลอดภัย ตลอดจนค่าใช้จ่ายดำเนินการของการรถไฟฯ โดยคณะกรรมการรถไฟฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนจากภาครัฐ และผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ได้มีมติกำหนดให้การรถไฟฯ ใช้เรียกเก็บมาตั้งแต่เข้ามาบริหารจัดการในปี 2555 จนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ เมื่อการรถไฟฯ ต้องเข้าบริหารจัดการพื้นที่ตลาดนัดจตุจักรในภาวะจำเป็นเร่งด่วน จึงต้องว่าจ้างเอกชนในการดูแลรักษาความสะอาด ตั้งแต่การทำความสะอาด จัดเก็บขยะ ขนย้ายและนำไปทำลายอย่างครบวงจร รวมถึงการจ้างเอกชนดูแลรักษาความปลอดภัย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 69 ไร่ เนื่องจากกรุงเทพมหานครหยุดดำเนินการทันทีเมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่ากับการรถไฟฯ ปัจจุบันการรถไฟฯ มีค่าใช้จ่ายในส่วนของการดูแลรักษาความสะอาด เดือนละ 4.3 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายการรักษาความปลอดภัย เดือนละ 5.2 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายที่การรถไฟฯ ว่าจ้างเอกชน แตกต่างจากกรุงเทพมหานครนั้น อาจเป็นเพราะกรุงเทพมหานครมีหน่วยงานภายในที่ดำเนินการในภารกิจดังกล่าวอยู่แล้ว
สำหรับประเด็นเรื่องอำนาจการดำเนินการบริหารตลาดนัดจตุจักรนั้น ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อ.261/2557 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.529/2560 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2560 กรณีผู้ค้าในตลาดนัดจตุจักรฟ้องการรถไฟฯ ในประเด็นเรื่องการเรียกเก็บค่าเช่า และอำนาจในการประกอบกิจการตลาดนัดจตุจักร ว่า การรถไฟฯ มีอำนาจในการนำที่ดินที่เป็นที่ตั้งของตลาดนัดจตุจักร ซึ่งเป็นทรัพย์สินของการรถไฟฯ ออกให้เช่า หรือดำเนินงานอื่นใดเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าว รวมถึงการจัดทำตลาดนัดจตุจักรได้ ตามมาตรา 6 ประกอบกับมาตรา 9 (2) แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 เนื่องจากเป็นการดำเนินการเพื่อสร้างรายได้ให้กับการรถไฟฯ เพื่อประโยชน์ในการนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำภารกิจด้านบริการสาธารณะเกี่ยวกับการคมนาคมขนส่งให้บรรลุผล
การร้องเรียนดังกล่าวเกิดจากการที่การรถไฟฯ ติดตามทวงถามค่าเช่าค้างชำระและบอกเลิกสัญญา ซึ่งสะสมมานานกว่า 6 ปี และขณะนี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีการติดตามเรื่องดังกล่าวอยู่