หลังจากรัฐบาลคสช.เข้ามายึดอำนาจเคยชูไอเดียจะจัดเก็บภาษีที่ดินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่ผ่านไปแล้ว 3 ปียังไม่เห็นผลเกิดอะไรขึ้นกันแน่?
ภาษีที่ดิน กลายเป็นปัญหาโลกแตกทุกครั้งที่เคยหยิบยกมาคุย สัญญาหนึ่งหลังการทำรัฐประหารของคสช. เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557จะมีการผลักดันภาษีที่ดินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่ในความเป็นจริงในปัจจุบันยังติดอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของสนช. 3 ปีเลยล่วงมาแล้ว หรือจะกลายเป็นแบบภาษีมรดกที่สุดท้ายผ่านแต่ไม่สามารถจัดเก็บได้จริง?
ล่าสุด 'Land Watch THAI จับตาปัญหาที่ดิน' ได้ยกข้อมูลจาก 'สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ' โดยเปิดเผยตัวเลขมูลค่าที่กินรวมของสนช. ในฐานะที่สนช.เป็นคนชี้ขาด ภาษีที่ดิน ว่า ไม่แน่ใจว่าคำพูดนี้จะเกิดขึ้นจริงๆอีกครั้งหรือไม่ กับกรณีของการ พิจารณากฎหมาย “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ...” ของ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในขณะนี้ ที่กำลังอยู่ในระหว่างการแก้ไขร่างโดยกรรมาธิการ พบว่าเหตุสำคัญคือเพราะสมาชิกสนช.เองก็ถือครองที่ดินจำนวนมาก หรือว่าเรื่องนี้จะเจอตอ?
ชนชั้นใดออกกฎหมาย ก็เพื่อประโยชน์ของชนชั้นนั้น
ผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวีพูดคุยกับ นายสุร แก้วเกาะสะบ้า เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อ องค์กร Land Watch Thai ผู้ออกมาเปิดเผยเรื่องการถือครองที่ดินของสนช. กล่าวว่าเมื่อต้นปีที่ผ่านมาองค์กร Oxfam ได้เปิดเผยว่าประเทศไทยนั้นติดอันดับประเทศความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินอันดับที่3 ในโลก สุรกล่าวว่าตามข้อมูลการถือครองนั้นมีมีคนแค่ 15 ล้านคนที่สามารถถือครองที่ดินได้ และผู้ที่มีที่ดินมากกว่า 1,000 ไร่เพียง 0.01% หรือประมาณ 359คนกับ 478นิติบุคคล ดังนั้นหัวใจของกลไกภาษีที่ดินก็คือการบีบให้ผู้ที่ถือครองที่ดินจำนวนมากได้ปล่อยที่ดินที่เกินความจำเป็นออกมาเพื่อกระจายทรัพยากร โดยรัฐเป็นผู้บังคับใช้กลไกภาษีในการจัดการ
สุร ยังเสริมว่าการถือครองที่ดินของไทยเป็นลักษณะกระจุกตัว จากงานวิจัยของมูลนิธิวิจัยที่ดิน พบว่าที่ดินส่วนมากที่ถือครองกลับถูกที่ให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า เป็นไปเพื่อเป็นการเก็งกำไร ทั้งที่มีผู้เข้าไม่ถึงที่ดินจำนวนมากภาครัฐเองก็เคยบอกว่ามีผู้บุกรุกที่ดินของรัฐมากกว่า10ล้าน ที่ไม่ได้มีโฉนดหรือเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้อง ก่อนหน้านี้ภาคประชาชนเคยผลักดันข้อเสนอ "ธนาคารที่ดิน" ที่จะให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินเพื่อนำไปซื้อที่ดินรกร้างว่างเปล่า แล้วให้เกษตรกรเข้ามาเช่าซื้อที่ดินไปทำเกษตรในราคาถูกได้ แต่แนวคิดดังกล่าวก็ไม่ถูกสนช.หยิบยกเข้าไปพิจารณาในหลักการภาษีที่ดินของสนช.
เมื่อพูดถึงข้อมูลสนช. ที่ทางองค์กร Land Watch Thaiเปิดประเด็น สุรกล่าวว่าตอนนี้อยู่ในวาระที่ 2 ของสนช.คือการตั้งคณะกรรมาธิการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่โดยปรกติจากวาระ2ไปวาระที่3 ที่เป็นการพิจารณาประกาศใช้จะไม่เกิน 2 เดือน แต่ในกรณีดังกล่าวผ่านวาระที่2 ไปเมื่อ มีนาคม 2560 หรือเกินระยะเวลาปรกติไปแล้วจึงคิดว่าน่าจะติดขัดบางประการ ส่วนเนื้อหาที่เป็นที่ถกเถียงก็คือเพดานของการจัดเก็บภาษีที่แต่เดิมวางไว้ที่จัดเก็บผู้มีที่ดินมูลค่า 50 ล้านบาทขึ้นไปและเป็นราคารายแปลง ซึ่งหากจัดเก็บจริงอาจมีผู้เข้าข่ายไม่ถึง 10,000คน หรือในสมาชิกสนช.เองอาจจะมีเพียงไม่ถึง 20 คนที่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีที่ดิน
สุร เป็นห่วงว่าสุดท้ายจะซ้ำรอบภาษีมรดกหรือไม่ ที่ถึงแม้ประกาศใช้แล้วแต่ก็ไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอนนี้กมธ.กำลังพิจารณาว่าอาจจะลดเพดานให้เหลือระดับ 20ล้านบาทซึ่ก็ยังเป็นอัตราที่สูงอยู่ดี และบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับชาติก็เตรียมความพร้อมด้วยการจดบริษัทลูกจำนวนมากๆในการถ่ายโอนที่ดินเพื่อกระจายการถือครองที่ดินเพื่อหลบเลี่ยงการจ่ายภาษีอีกด้วย