ไม่พบผลการค้นหา
คำถามที่น่าสนใจของกรณี 9/11 คือสังคมควรใช้เวลานานแค่ไหนกับการ ‘ทำใจ’ เสพสื่อที่เกี่ยวข้องกับโศกนากฏรรมใดๆ ขณะที่ไทย เรายังไม่มีหนังที่ว่าด้วย 6 ตุลา 2519, สึนามิ 2547, หรือการสลายการชุมนุม 2553 อย่างตรงไปตรงมานัก

ประเทศหนึ่งจะจดจำประวัติศาสตร์บาดแผลของตนไว้อย่างไร? อย่างละมุนละม่อมหรือตรงไปตรงมาต่อความสูญเสีย หรือเพียงแกล้งลืม? ในวาระครบรอบ 11 กันยายนของชาวสหรัฐฯ คอลัมน์สำส่อนทางความบันเทิงของ "คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง" ถ่ายทอดประสบการณ์เยือนพิพิธภัณฑ์ว่าด้วย 9/11 ถึงกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา


คุณผู้อ่านยังจำเหตุการณ์ 11 กั���ยายน 2001 ที่เครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์กันได้ไหมครับ? จำได้หรือไม่ว่าคุณทำอะไรอยู่ ทราบข่าวจากไหน มีปฏิกิริยาอย่างไร และบรรยากาศช่วงนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

แน่นอนว่ามวลอารมณ์ของชาวอเมริกันและผู้คนทั้งโลกเต็มไปด้วยความโศกเศร้า ตามมาด้วยการไว้อาลัย รวมถึงการเลื่อนและชะลอสื่อต่างๆ ที่ดูไม่เหมาะสมในช่วงเวลาอันละเอียดอ่อน อาทิ หนังเรื่อง Collateral Damage นำแสดงโดย อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ ต้องเลื่อนฉายไปเป็นปี เพราะมีพล็อตเรื่องเกี่ยวกับการวางระเบิดตึก หรือปกอัลบั้มชุด Live Scenes from New York ของวง Dream Theater เดิมเป็นรูปวิวทิวทัศน์ของนิวยอร์กพร้อมไฟลุก ก็ต้องรีบเปลี่ยนปกเป็นภาพจากคอนเสิร์ตแทน

คำถามที่น่าสนใจคือสังคมควรใช้เวลานานแค่ไหนกับการ ‘ทำใจ’ เสพสื่อที่เกี่ยวข้องกับโศกนากฏรรมใดๆ อย่างกรณีของ 9/11 ถือว่าน่าสนใจมาก เพราะเพียงแค่หนึ่งปีหลังจากนั้นก็มีหนังเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวออกฉายมากมาย อย่างเช่น 25th Hour (2002) มีฉากที่ถ่ายให้เห็น Ground Zero (ซากของตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์) อย่างชัดเจน แต่เมื่อย้อนกลับมามองประเทศไทย เรายังไม่มีหนังที่ว่าด้วย 6 ตุลา 2519, สึนามิ 2547, หรือการสลายการชุมนุม 2553 อย่างตรงไปตรงมานัก จะมีเพียงแต่การพูดเชิงอุปมาหรือเป็นฉากหลังของเรื่อง

การตอบรับต่อโศกนากฏรรมมิได้ทำผ่านภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังมีรูปแบบของอนุสรณ์สถานหรือพิพิธภัณฑ์ ซึ่งพิพิธภัณฑ์ว่าด้วย 9/11 ในนิวยอร์กนั้นมีชื่อว่า National September 11 Memorial & Museum (หรือมักเรียกกันอย่างย่อว่า 9/11 Memorial & Museum) ที่เปิดเมื่อปี 2014 นี่เอง และเป็นจังหวะเหมาะเจาะที่ผู้เขียนเพิ่งเดินทางไปนิวยอร์กตรงกับช่วง 11 กันยายนพอดี

 

11 กันยายน 2017

เอาเข้าจริงแล้ว 11 กันยายนที่ผ่านมา ชาวนิวยอร์กใช้ชีวิตกันปกติมาก อาจเพราะเหตุการณ์ได้ผ่านมานานถึง 16 ปีแล้ว โทรทัศน์นำเสนอข่าวแบบพอเป็นพิธี เหล่าดาราเซเล็บโพสต์รูปตึกเวิลด์เทรดบ้างธงชาติอเมริกาบ้าง พร้อมแฮชแท็ก #WeWillNeverForget ส่วนการจัดงานรำลึกเกิดขึ้นเพียงบริเวณ 9/11 Memorial & Museum เท่านั้น

พื้นที่ของ 9/11 Memorial & Museum แบ่งเป็นสองส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือ Memorial (อนุสรณ์) ที่ออกแบบเป็นสระน้ำขนาดใหญ่สองแห่ง แทนที่บริเวณเดิมมีเคยมีตึกเวิลด์เทรด North Tower และ South Tower นั่นเอง ลักษณะรูเปิดกว้างของสระน้ำเป็นสัญลักษณ์แทนถึงความสูญเสียว่างเปล่าที่ไม่อาจมีอะไรมาเติมเต็ม ส่วนน้ำตกที่เปิดไว้ตลอดเวลาก็เพื่อกลบเสียงของเมือง ทำให้บริเวณนี้เป็นสถานศักดิ์สิทธิ์

ทุกวันที่ 11 กันยายน บรรดาญาติของผู้เสียชีวิตจะเอาดอกไม้หรือธงชาติอเมริกามาวางบริเวณแผ่นป้ายที่สลักชื่อของผู้เสียชีวิตจาก 9/11 แต่สิ่งที่ผู้เขียนประทับใจคือข้อความที่เขียนไว้ว่า “ขอเชิญชวนให้ผู้เยี่ยมชมสัมผัสป้ายชื่อของอนุสรณ์” ดังนั้นบริเวณป้ายจึงเต็มไปด้วยรอยมือและรอยนิ้วมือ

 

พื้นที่ส่วนที่สองของ 9/11 Memorial & Museum คือส่วนของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งตามปกติแล้วในวันที่ 11 กันยายนจะเปิดให้ญาติของผู้เสียชีวิตเข้าชมฟรี ผู้เขียนเลยไปพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ในวันถัดมา แม้จะไม่ได้มีขนาดใหญ่โตนัก แต่ผู้เข้าชมสามารถใช้เวลากับที่นี่ราวสองชั่วโมงได้ไม่ยาก ตัวมิวเซียมมีรูปถ่ายกว่า 23,000 รูป วัตถุหลักฐานกว่า 2000 ชิ้น และวิดีโอความยาวกว่า 500 ชั่วโมง

ช่วงแรกของนิทรรศการจะเป็นการย้อนความถึงเหตุการณ์ว่า 9/11 ว่าวันนั้นเกิดอะไรขึ้น ต่อด้วยพวกเศษซากทั้งหลาย ไม่ว่าจะซากบันไดที่ผู้คนวิ่งหนีตายออกมาจากตึกเวิลด์เทรด หรือซากรถดับเพลิงที่เข้าไปช่วยชีวิตผู้คน และไฮไลท์สำคัญคงนี้ไม่พ้น The Last Column หรือชิ้นส่วนตึกชิ้นสุดท้ายที่กู้ออกมาจากนึกเวิลด์เทรดและกลายสถานะเป็นอนุสาวรีย์แห่งการรำลึก ด้านบนของแท่งเหล็กนี้จะมีเขียนตัวเลข 2427 อันหมายถึงจำนวนคนเสียชีวิตที่นับได้ ณ เวลานั้น

 

"การเบือนหน้าจากพวกเขาก็คงเป็นเรื่องผิด"

แต่ที่ว่าไปยังไม่ใช่ความน่าเศร้าสูงสุดของมิวเซียมแห่งนี้ บริเวณที่ทำใจได้ยากที่สุดเป็นห้องวิดีโอ มีทั้งภาพข่าวเครื่องบินชนตึก ความสับสนอลหม่านของชาวเมือง หรือกระทั่งผู้คนที่ทรุดตัวร้องไห้ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากนั้นยังมีห้องที่ฉายวิดีโอคนโดดลงมาจากตึกเวิลด์เทรดแบบวนลูปไปเรื่อยๆ อย่างที่ทราบกันว่าไฟได้ไหม้ลุกลามจนคนที่อยู่ชั้นบนๆ ไม่สามารถลงมาจากตึกได้ หลายคนจึงเลือกโดดลงมาทั้งที่รู้แก่ใจว่าคงไม่รอด

ภาพจากวิดีโอก็ชวนหดหู่แล้ว รอบกำแพงยังเต็มไปด้วยบทสัมภาษณ์ของคนที่เห็นเหตุการณ์ อย่างรายหนึ่งกล่าวว่า “ฉันรู้สึกว่าถูกบังคับให้มองพวกเขาอย่างไม่ให้เกียรติ พวกเขาถูกจบชีวิตลงอย่างไม่มีทางเลือก และการเบือนหน้าจากพวกเขาก็คงเป็นเรื่องผิด”

บรรยากาศของห้องวิดีโอเต็มไปด้วยความตึงเครียด ผู้ชมบางคนถึงกับร้องไห้ออกมา แต่น่าสนใจที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้นำเสนอถึงสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่ประนีประนอม ชวนให้นึกถึงเมื่อครั้งผู้เขียนไปเยือน Hiroshima Peace Memorial Museum ที่เมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเต็มไปภาพบาดแผลพุพองจากกัมมันตภาพรังสี ทว่าผู้เข้าชมส่วนใหญ่กลับเป็นเด็กประถมที่โรงเรียนพามาทัศนศึกษา ราวกับว่าเป็นการฝึกฝนให้เยาวชนเรียนรู้ประวัติศาสตร์อันโหดร้าย

อีกจุดที่น่าสนใจของ 9/11 Museum คือการที่นิทรรศการหลักจบลงด้วยเรื่องราวของปฏิบัติการหอกเนปจูน (Operation Neptune Spear) หรือการตามล่าสังหาร โอซามา บินลาเดน ผู้อยู่เบื้องหลัง 9/11 นั่นเอง ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าการจบนิทรรศการด้วยสิ่งนี้เป็นถ้อยแถลงทางการเมืองที่รุนแรงอยู่ไม่น้อย ราวกับกำลังจะบอกว่าประวัติศาสตร์แห่ง 9/11 คลี่คลายจบสิ้นก็เมื่อบินดาเลนถูกสังหาร แถมสิ่งที่โชว์อยู่ในตู้ยังเป็นก้อนอิฐจากบ้านพักของบินลาเดน (!?) ถึงกระนั้นข้อความบรรยายก็เขียนป้องกันตัวไว้สองบรรทัดสั้นๆ ทำนองว่า “หลายฝ่ายแสดงความห่วงใยว่าการสังหารบินลาเดนไม่ได้ทำให้การก่อกายร้ายหมดไป”

ภาพประกอบจาก https://www.911memorial.org

 

ทุกวันที่ 11 กันยายนยังมีอีเวนต์พิเศษที่ชื่อว่า Tribute in Light อันเป็นการยิงไฟแนวสูงขึ้นไปบนฟ้า เป็นลำแสงสองเส้นแทนค่าถึงตึกคู่เวิลด์เทรดในอดีต แน่นอนว่ามีชาวเมืองและเหล่านักท่องเที่ยวออกมาถ่ายรูปกันมากมาย หรือเมื่อลองค้นกูเกิลด้วยคำว่า Tribute in Light ก็จะพบข้อมูลประมาณว่าถ่ายแสง Tribute in Light จากมุมไหนของนิวยอร์กถึงจะสวยที่สุด

เดาได้ไม่ยากว่าตลอดคืนของวันที่ 11 กันยายนจนถึงวันรุ่งขึ้น หน้าฟีดอินสตาแกรมเต็มไปด้วยภาพลำแสง Tribute in Light สวยงาม แต่ก็ชวนให้คิดว่าผู้คนได้ตระหนักถึงที่มาของลำแสงทั้งสองหรือไม่

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog