ไม่พบผลการค้นหา
นับเป็นเวลากว่า 41 ปีที่ชุมพล ทุมไมยข้าราชการเกษียณวัย 68 ปีต้องทนทรมานอยู่กับความทุกข์ที่สูญเสียน้องชายไปในเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองในปี 2519 

นับเป็นเวลากว่า 41 ปีที่ชุมพล ทุมไมยข้าราชการเกษียณวัย 68 ปีจากหมู่บ้านผักแว่น อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานีต้องทนทรมานอยู่กับความทุกข์ที่สูญเสียน้องชายไปในเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองในปี 2519 


นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญสำหรับครอบครัวทุมไมยหลังทราบข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ว่า ชุมพร ทุมไมย น้องชายวัย 24 ปี (อายุขณะนั้น) ซึ่งเป็นพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนครปฐมถูกฆ่าแขวนคอหลังจากติดโปสเตอร์ประท้วงการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร (ขณะนั้นบวชเป็นพระ) 


ศพของชุมพรถูกแขวนที่ประตูทางเข้าที่ดินจัดสรรบริเวณบ้านหมู่ 2 ต.พระประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม พร้อมกับศพของนายวิชัย เกศศรีพงษา อดีตนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทำงานอยู่ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขตนครปฐม


 “ความระลึกถึงมันไม่หายหรอก จนกว่าเราจะตายเพราะเป็นน้องชายในสายเลือดท้องแม่เดียวกัน มันไม่ลืมหรอก ยังฝังอยู่ตลอดไป ไม่ลืม วันลืมไม่มี ถ้าตายก็จะเป็นอีกคนหนึ่ง สิ้นลมหายใจแล้ว” ชุมพลกล่าวกับวอยซ์ทีวีในระหว่างร่วมงานเปิดตัวภาพยนตร์สารคดี “สองพี่น้อง” (The Two Brothers)” จัดทำโดยโครงการบันทึก 6 ตุลา
ภาพยนตร์ดังกล่าวบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของครอบครัวทุมไมยและเกศศรีพงษาที่ต้องสูญเสียสมาชิกครอบครัวไปในเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง 

 


ภัทรภร ภู่ทอง ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ บอกว่า แรงบันดาลใจของการจัดทำภาพยนตร์ชุดนี้ เนื่องจากโครงการบันทึก 6 ตุลา มีความพยายามที่จะเผชิญหน้ากับความเงียบ เผชิญหน้ากับความพยายามทำให้ลืมกับเหตุการณ์ 6 ตุลา โดยศาตราจารย์กิตติคุณธงชัย วินิจจะกูลได้พูดไว้เมื่อปีที่แล้วว่าในแง่ของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ เขาถูกพรากศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไป การที่จะนำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขากลับมาก็คือการทำความรู้จักพวกเขาในขณะที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่ ทำความรู้จักกับประสบการณ์ของเขา ความหวังของเขา ความตั้งใจของเขา ทำความรู้จักเขาในแง่ที่เขาเป็นพี่ชายเป็นน้องชาย เป็นลูก เป็นพี่สาวเป็นน้องสาวเป็นเพื่อน โดย 41 ปีที่ผ่านมาให้เขามีตัวตนขึ้นมา รู้จักเขาในแง่ที่เขาเป็นมนุษย์เหมือนกับเรา เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งเขาเคยมีชีวิตอยู่


แม้รายงานข่าวระบุว่ามีการจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ 5 รายที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของชุมพรและวิชัย แต่ต่อมาทั้งหมดถูกปล่อยตัวและคดีก็เงียบหายไป


ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ สำหรับครอบครัวของชุมพลยังไม่ได้รับการเยียวยาใด ๆ ทั้งสิ้นจากหน่วยงานของรัฐหรือแม้แต่กระบวนการยุติธรรมที่จะนำเอาคนผิดหรือคนที่เกี่ยวข้องกับความตายของน้องชายเขามาลงโทษก็ดูเหมือนจะจางหายไปพร้อมกับวันเวลา


“กระบวนการยุติธรรมก็ดำเนินคดีแต่ว่ามันก็ยังเป็นคดีอยู่ ผู้เสียหายคือใคร เจ้าหน้าที่รัฐทำเอง เขาเจาะจงเลยใช่ไหม เหตุเกิดอยู่ที่ไหนยังไง ก็รู้เห็นอยู่ จากที่เกิดเหตุมาที่บ้าน มาที่นี้ต่อจะทำยังไง เขาก็เสียชีวิตนะครับ ถูกฆาตกรรมฆ่าตาย หลายคดีก็ยังไม่จับตำรวจ ถ้าหากตำรวจฆ่าใช่ไหม ตัวเองจับตัวเอง ฆ่าเอง ทำเอง ก็สูญไปแล้ว มีแค่นั้นเองง่าย ๆ”ชุมพลกล่าว


ไม่เพียงแต่ชุมพลเท่านั้นที่ยังรู้สึกเจ็บปวดกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น ผู้ร่วมเข้าชมภาพยนตร์รายหนึ่งซึ่งเคยอยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาเปิดเผยว่า เธอเองก็ไม่สามารถลืมภาพในอดีตได้ แม้เหตุการณ์นั้นผ่านมาแล้ว 41 ปีก็ตาม แต่สำหรับ เด็กอายุ 17 ปีอย่างเธอในตอนนั้นเจอเหตุการณ์แบบนี้ครั้งแรกในชีวิตและทำให้ทุกอย่างในชีวิตเปลี่ยนไปหมดเลยไม่สามารถกลับเป็นเหมือนเดิมได้อีก


“ รู้สึกว่า จริง ๆ ไม่เคยดูได้นะ รูปพวกนี้ หนังก็ดูไม่ได้ แต่มีคนบอกว่า ถ้าคนที่เขาก่อให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้เขาขอโทษมันจบไหม พี่ว่ามันไม่จบ จะให้จบก็คือว่าเหตุการณ์แบบนี้ การที่ปลุกปั่นให้คนมีความรู้สึกฆ่ากันได้แบบนี้มันไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกไม่ว่าที่ไหนก็ตาม” หญิงวัย 58 ปีผู้ไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อและนามสกุลกล่าว


เธอเล่าว่า ตอนที่เธออยู่ในเหตุการณ์วันนั้น เธอรู้สึกว่ามันเกินกว่าที่มนุษย์ด้วยกันจะทำแบบนี้ได้ เพียงแค่คิดไม่เหมือนกัน เพราะมีการปลุกปั่น แม้กระทั่งสื่อที่เมื่อก่อนไม่ได้มีความทันสมัยอะไรมากมาย แต่ก็ทำให้ผู้คนฆ่ากันได้ 


อย่างไรก็ตาม เธอก็ยังมีความหวังเล็ก ๆ สำหรับการเรียกร้องประชาธิปไตย โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ เพราะเธอเชื่อว่าโดยเนื้อหาเนื้อแท้ของมนุษย์แล้วไม่ได้มีความโหดร้ายขนาดนั้นเพียงแต่ว่า เราต้องไม่ควรอนุญาตให้การปลุกปั่นหรืออะไรก็ตามที่ทำให้คนเกลียดกันได้ขนาดนี้ ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกเพียงแค่ว่า “เราคิดไม่เหมือนกัน”

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog