นอกจากพระปรางค์แล้ว วัดอรุณฯยังมีศิลปกรรมน่าชมอีกมาก เช่น โบสถ์น้อย วิหารน้อย จิตรกรรมในพระอุโบสถ ประตูซุ้มยอดมงกุฎ ยักษ์วัดแจ้ง
ด้านหน้าของพระปรางค์เป็นที่ตั้งเคียงกันของวิหารน้อยกับโบสถ์น้อย หันหน้าไปทางตะวันออกเข้าหาแม่น้ำเจ้าพระยา
สันนิษฐานว่า วิหารน้อย (ซ้ายมือในภาพ) กับโบสถ์น้อย สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาคู่กับพระปรางค์องค์เดิม ก่อนสร้างพระปรางค์ขึ้นใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และสร้างต่อจนแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ 3
โบสถ์น้อยสร้างเป็นรูปทรงเตี้ย ขนาด 5 ห้อง มีมุขทั้งด้านหน้าด้านหลัง หลังคาลด 2 ชั้น ผืนหลังคา 3 ตับ
หน้าบันทำเป็นลายกนก ลงรักปิดทองประดับกระจก ตัวอาคารก่อบนยกพื้นเตี้ย มีประตูหน้า 2 ข้าง
พระประธานในโบสถ์น้อยเป็นพระปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย บนฐานชุกชีมีพระพุทธรูปขนาดน้อยใหญ่หลายองค์
หน้าฐานชุกชีเป็นลับแลก่ออิฐถือปูน มีพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงเครื่องพระมหากษัตริย์ ประทับห้อยพระบาท พระราชพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อจวนสิ้นรัชกาล พระองค์ทรงผนวชและมาประทับ ณ โบสถ์แห่งนี้
ศาลสถิตดวงพระวิญญาณ สร้างขึ้นพร้อมพระบรมรูป เมื่อพ.ศ. 2489
แท่นบูชาแบบจีน
พระแท่นบรรทมรัชกาลที่ 2
วิหารน้อยมีรูปทรงเหมือนโบสถ์น้อย มีประตูด้านหน้า 2 ประตู ด้านหลัง 2 ประตู
บนแท่นกลางวิหารน้อยประดิษฐานพระเจดีย์จุฬามณี สื่อความหมายถึงเจดีย์ที่เก็บรักษามวยพระเกษาของพระพุทธเจ้าบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ที่มุมของเจดีย์ มีเทวดาประจำทิศทั้งสี่ เรียกว่า ท้าวจตุโลกบาล พระเจดีย์และรูปเทพยดาหล่อด้วยโลหะ
พระวิหารของวัดอรุณราชวรารามเริ่มก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ปฏิสังขรณ์เรื่อยมาในรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 เป็นอาคารยกพื้นสูง หลังคาลด 3 ชั้น
หน้าบันเป็นรูปเทวดาถือพระขรรค์ นั่งอยู่บนแท่น ประดับด้วยลายกนก
ภายในพระวิหารประดิษฐานพระประธาน มีนามว่า พระพุทธชัมพูนุทมหาบุรุษลักขณา อสีตยานุบพิตร
พระประธานในพระวิหารแสดงปางมารวิชัย หล่อด้วยทองแดงปิดทองเมื่อสมัยรัชกาลที่ 3
ภาพถ่ายที่นำเสนอนี้บันทึกตั้งแต่เมื่อปี 2558 เวลานี้ พระวิหารอยู่ระหว่างการบูรณะ
ภายในพระวิหารยังมีพระพุทธรูปงามองค์หนึ่ง เรียกกันว่า พระอรุณหรือพระแจ้ง อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์เมื่อพ.ศ.2401
ระหว่างการซ่อมแซมพระวิหารในเวลานี้ ทางวัดนำหลวงพ่อแจ้งออกมาประดิษฐานไว้นอกอาคาร
ระหว่างพระวิหารกับระเบียงคดของพระอุโบสถ เป็นที่ตั้งของมณฑปพระพุทธบาทจำลอง สร้างในรัชกาลที่ 3
พระพุทธบาทจำลอง
พระอุโบสถของวัดอรุณฯเป็นแบบไทยประเพณี สร้างในสมัยรัชกาลที่ 2 เครื่องไม้เดิมถูกเพลิงไหม้ ซ่อมแซมใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5
แผงหน้าบันพระอุโบสถ ประดับรูปเทวดายืนถือพระขรรค์อยู่ในปราสาท มีสังข์และคนโทน้ำวางบนพานข้างละพาน
บนผนังด้านนอกของพระอุโบสถ ระหว่างช่องประตูหน้า มีบุษบกยอดปรางค์ ประดิษฐานพระพุทธรูป
พระพุทธรูปมีนามว่า พระพุทธนฤมิตร เป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 โปรดฯให้หล่อขึ้น
ระหว่างช่องประตูด้านหลังพระอุโบสถ มีบุษบกยอดปรางค์เช่นเดียวกับด้านหน้า เดิมรัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริที่จะหล่อพระพุทธรูปฉลองพระองค์รัชกาลที่ 3 เพื่อนำมาประดิษฐานไว้ แต่งานค้างมามิได้ทำ จึงประดับพานพุ่มไว้แทน
ซุ้มประตูพระอุโบสถด้านหน้าเป็นซุ้มยอดปรางค์ แต่ประตูด้านหลังทำเพียงซุ้มบันแถลง ไม่มียอดปรางค์
พระประธานในพระอุโบสถ มีนามว่า พระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก ปางมารวิชัย เบื้องพระพักตร์มีรูปพระอัครสาวก 2 องค์ หันหน้าเข้าหาพระประธาน
เล่ากันว่า รัชกาลที่ 2 ทรงปั้นหุ่นพระพักตร์ของพระพุทธรูปองค์นี้
กึ่งกลางระหว่างพระอัครสาวกทั้งสอง มีพัดยศของพระประธาน ภายในพระพุทธอาสน์ของพระประธานเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 2
ภายในพระอุโบสถมีจิตรกรรมที่น่าชม บนผนังด้านหลังและด้านหน้าพระประธานเขียนภาพพุทธประวัติ
ระหว่างช่องหน้าต่าง เขียนภาพชาดกตอนต่างๆในเรื่องทศชาติ
มหาชนกชาดก
ภาพพุทธประวัติ ตอน มารผจญ ด้านหน้าพระประธาน
ภาพพุทธประวัติ ตอน มหาภิเนษกรมณ์ (ออกบรรพชา)
จิตรกรรมฝาผนังบางภาพแสดงอิทธิพลจีน เช่น อาคาร เครื่องแต่งกาย ทิวทัศน์
ซุ้มเสมาทำด้วยหินอ่อนเป็นรูปบุษบกยอดเจดีย์
ใบเสมาเป็นเสมาคู่ ทำด้วยหิน สลักลวดลายประณีตเต็มพื้นที่
พระอุโบสถมีระเบียงคดล้อมรอบ เป็นทางเดินยาวมีหลังคาคลุม ตลอดแนวซุ้มเสมามีตุ๊กตาจีนตั้งเรียงแถว
หน้าระเบียงคดมีตุ๊กตาจีนตั้งประดับ ที่มุมทั้งสี่ของระเบียงคดมีเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม ทำด้วยหินอ่อน ส่วนบนมียอดเป็นปล้อง ลดขนาดขึ้นไปตามลำดับ
ที่ส่วนล่างของเจดีย์ มีตุ๊กตาหินแบบจีนอยู่ในซุ้มทั้งแปด เรียกกันว่า โป๊ยเซียน
หน้าระเบียงคดด้านใน มีช้างหล่อโลหะ ประจำทางเข้าทั้งสี่ด้าน รวม 8 เชือก ทุกเชือกหันหน้าเข้าหาพระอุโบสถ
ตลอดแนวระเบียงคด ประดิษฐานพระพุทธรูป บนผนังเขียนรูปซุ้มเรือนแก้ว ลายดอกไม้ใบไม้
หน้าพระอุโบสถทางทิศตะวันออก มีประตูซุ้มยอดมงกุฎ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3
ประตูซุ้มยอดมงกุฎตั้งอยู่หน้าระเบียงคด
ยักษ์วัดแจ้งกับประตูซุ้มยอดมงกุฎ เป็นภาพงามที่ได้ชมเมื่อขึ้นจากเรือที่ท่าน้ำหน้าวัด
เมื่อหันหน้าเข้าหาประตูซุ้ม มองเห็นยักษ์ 2 ตน ตนที่อยู่ทางขวามือ มีกายสีขาว ชื่อว่า สหัสเดชะ
ยักษ์ทางซ้ายมือ มีกายสีเขียว ชื่อว่า ทศกัณฐ์
เวลานี้ พระอารามหลวง ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี ชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา
กำลังบูรณะหลายแห่ง
งานซ่อมแซมเคยเป็นเรื่องของช่างศิลป์ล้วนๆ ถึงพ.ศ.นี้ กรมศิลปากรพึงพิจารณา เปิดรับการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและสาธารณชน.
แหล่งข้อมูล
อนัสพงษ์ ไกรเกรียงศรี. (2535). การศึกษาสถาปัตยกรรม วัดอรุณราชวราราม. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร, กรุงเทพฯ.
ติดตาม ไทยทัศนา ย้อนหลัง
ไทยทัศนา : (1) วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ
ไทยทัศนา : (2) วัดสุวรรณาราม ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (3) วัดราชโอรส ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (4) วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ
ไทยทัศนา : (5) วัดสุวรรณดาราราม อยุธยา
ไทยทัศนา : (6) วัดเสนาสนาราม อยุธยา
ไทยทัศนา : (7) วัดจันทบุรี สระบุรี
ไทยทัศนา : (8) วัดสมุหประดิษฐาราม สระบุรี
ไทยทัศนา : (9) วัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (10) วัดบางขุนเทียนใน ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (11) วัดซางตาครู้ส ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (12) วัดบางขุนเทียนนอก ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (13) วัดบางกะพ้อม สมุทรสงคราม
ไทยทัศนา : (14) วัดนิเวศธรรมประวัติ อยุธยา
ไทยทัศนา : (15) สัตตมหาสถาน กรุงเทพฯ เพชรบุรี
ไทยทัศนา : (16) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ
ไทยทัศนา : (17) วัดตองปุ ลพบุรี
ไทยทัศนา : (18) มหาธาตุ ลพบุรี
ไทยทัศนา : (19) จิตรกรรม วัดพุทไธสวรรย์ อยุธยา
ไทยทัศนา : (20) พระปรางค์มหาธาตุ ราชบุรี
ไทยทัศนา : (21) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ
ไทยทัศนา : (22) วัดพระธาตุลำปางหลวง (ตอนที่หนึ่ง)
ไทยทัศนา : (23) วัดพระธาตุลำปางหลวง (ตอนที่สอง)
ไทยทัศนา : (24) วัดพระธาตุลำปางหลวง (ตอนที่สาม)
ไทยทัศนา : (25) วัดพระธาตุลำปางหลวง (ตอนที่สี่-จบ)
ไทยทัศนา : (26) ประตูโขง วัดกากแก้ว นครลำปาง
ไทยทัศนา : (27) วัดไหล่หิน ลำปาง (ตอนที่หนึ่ง)
ไทยทัศนา : (28) วัดไหล่หิน ลำปาง (ตอนที่สอง-จบ)
ไทยทัศนา : (29) วัดปงยางคก ลำปาง
ไทยทัศนา : (30) วิหารโคมคำ วัดพระธาตุเสด็จ ลำปาง
ไทยทัศนา : (31) วิหารโถงทรงจัตุรมุข วัดปงสนุก ลำปาง
ไทยทัศนา : (32) ‘จอง’ แบบพม่า วัดพระแก้วดอนเต้า ลำปาง
ไทยทัศนา : (33) วัดศรีชุม ลำปาง
ไทยทัศนา : (34) วัดศรีรองเมือง ลำปาง
ไทยทัศนา : (35) วัดไชยมงคล (จองคา) ลำปาง
ไทยทัศนา : (36) วัดม่อนปู่ยักษ์ ลำปาง
ไทยทัศนา : (37) วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพฯ (ตอนที่หนึ่ง)
ไทยทัศนา : (38) วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพฯ (ตอนที่สอง)