ไม่พบผลการค้นหา
พบคนงานย้ายถิ่นในอุตสาหกรรมประมงไทยกว่า 1 ใน 3 ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ ค่าจ้างต่ำ ถูกทำร้าย ต้องทำงานปลดหนี้ มีแค่ร้อยละ 13 พอใจสภาพงานบนเรือ

พบคนงานย้ายถิ่นในอุตสาหกรรมประมงไทยกว่า 1 ใน 3 ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ ค่าจ้างต่ำ ถูกทำร้าย ต้องทำงานปลดหนี้ มีแค่ร้อยละ 13 พอใจสภาพงานบนเรือ

 

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 กันยายน องค์กรเอกชนต่อต้านการค้ามนุษย์ อินเตอร์เนชันแนล จัสติส มิชชัน (ไอเจเอ็ม) ออกผลสำรวจระบุว่า คนงานต่างชาติบนเรือประมงไทยราว 1 ใน 3 ต้องทำงานใช้หนี้ ได้รับค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมายกำหนด และถูกทำร้ายร่างกาย

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ภาคอาหารทะเลของไทย มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ฯ ถูกวิจารณ์ว่าใช้แรงงานทาสอย่างกว้างขวาง คนงานตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ มีการใช้ความรุนแรงบนเรือประมงและในโรงงานแปรรูปอาหารบนชายฝั่ง ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารให้คำมั่นที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยได้ออกกฎหมายเพื่อปฏิรูปอุตสาหกรรมดังกล่าว

 

กลุ่มไอเจเอ็มศึกษาคนงานประมง 260 คนจากเมียนมาและกัมพูชา พบว่า คนงานร้อยละ 38 มาจากการค้ามนุษย์อย่างชัดเจน และร้อยละ 49 เข้าข่ายตกเป็นเหยื่อ และพบว่า คนงานที่บอกว่าสภาพการทำงานบนเรืออยู่ในขั้นยอมรับได้ และตัวเองไม่ต้องจ่ายเงินก้อนโตเพื่อให้ได้ทำงาน มีแค่ร้อยละ 13

 

คนงานหนึ่งในสาม บอกว่า ตนทำงานวันละอย่างน้อย 16 ชั่วโมง และมีเพียงร้อยละ 11 ที่บอกว่าตัวเองได้ค่าจ้างเกินเดือนละ 9,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายของไทย

 

แรงงานประมงคนหนึ่งบอกเล่าในรายงานฉบับนี้ว่า ตนติดหนี้พี่ชายอยู่ 20,000 บาท เขาเป็นคนคุมเรือ “ผมกลัวตาย เขาเคยฆ่าคนต่อหน้าผม ผมไม่กล้าหนี เขาจะฆ่าลูกๆของผม”

 

นักวิจัยภาคสนามลงพื้นที่แหล่งอุตสาหกรรมประมงในไทยรวม 20 แห่งเมื่อปี 2559 เก็บข้อมูลเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลอย่างต่อเนื่องตลอดห้าปีที่ผ่านมา

 

ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่อันดับสามของโลก มีเรือประมงใช้งานกว่า 42,000 ลำนับเมื่อปี 2557 และมีการจ้างงานลูกเรือกว่า 172,000 คน

งานสำรวจครั้งนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิวอลมาร์ท องค์กรการกุศลของยักษ์ค้าปลีกในสหรัฐฯ วอล-มาร์ท สโตร์ อิงก์.

 

โฆษกหญิงของวอลมาร์ท มาริลี แม็กคินนิส บอกว่า การกำจัดการบังคับใช้แรงงานถือเป็นงานท้าทายของโลก ไม่ว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นตรงไหนในห่วงโซ่อุปทาน วอลมาร์ทมุ่งมั่นที่จะช่วยกำจัดแรงงานบังคับตามหลักการประสานความร่วมมือและหลักความโปร่งใส

 

แกรี เฮาเกน ผู้บริหารของไอเจเอ็ม บอกว่า ไม่ควรมีใครมีชีวิตภายใต้การกดขี่ขูดรีดหรือมีคนอื่นเป็นเจ้าชีวิต ในฐานะผู้บริโภค ไม่น่าสงสัยเลยว่าผลิตภัณฑ์ที่เราซื้อนั้นมาจากความอยุติธรรมหรือเปล่า.

 

Source: Thompson Reuters Foundation via Bangkok Post

Photo:  AFP

 

 

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog