ครม.ไฟเขียวมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 60/61 วงเงิน 8.72 หมื่นลบ.
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 60/61 ด้านการตลาด จำนวน 3 โครงการ วงเงินงบประมาณ 87,216.17 ล้านบาท เป็นวงเงินสินเชื่อ 33,510 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 53,706.17 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการที่ดำเนินการโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 2 โครงการ วงเงิน 86,276.17 ล้านบาท
คือ 1.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เป้าหมาย 2.5 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินงบประมาณ 12,906.25 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อ 12,500 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 406.25 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 1 ต.ค.60 - 30 ก.ย.61 โดยจะเป็นการสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ย MLR -1 ซึ่งปัจจุบัน MLR อยู่ที่ประมาณ 5% ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรจะรับภาระดอกเบี้ยเพียงแค่ร้อยละ 1 ต่อปี และรัฐจะสนับสนุนร้อยละ 3 ต่อปี
และ 2.โครงการสินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี กลุ่มเป้าหมายคือเกษตรกรที่ปลูกทั้งข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเหนียว ข้าวเจ้า ข้าวปทุมธานีทั่วประเทศ เป้าหมาย 2 ล้านตันข้าวเปลือก กำหนดอัตราสินเชื่อข้าวเปลือกแต่ละชนิดที่ความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 ในอัตราร้อยละ 90 ของราคาตลาดของข้าวเปลือกแต่ละชนิดเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง โดยข้าวเหนียวจะกำหนดราคาเท่ากับข้าวหอมมะลิ เนื่องจากที่ผ่านมาราคาข้าวเหนียวสูงกว่าข้าวหอมมะลิแบบไม่ปกติ ราคาที่จะให้สินเชื่อ ข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเหนียวอยู่ที่ ตันละ 10,800 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 7,200 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 8,500 บาท โดยมีค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าว ตันละ 1,500 บาท โดยจ่ายพร้อมสินเชื่อก่อนตันละ 1 พันบาท และจ่ายภายหลังนำเงินมาชำระหนี้อีก 500 บาท ระยะเวลาโครงการ 1 พ.ย.60-30 ธ.ค.61 และระยะเวลาการทำสัญญาเงินกู้ 1 พ.ย.60-28 ก.พ.61 ยกเว้นภาคใต้ ถึง 31 ก.ค.61 กำหนดระยะเวลาคืนเงินกู้ไม่เกิน 5 เดือนนับจากเดือนที่รับเงินกู้
นอกจากนี้จะช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ไร่ละ 1,200 บาท ตามพื้นที่ปลูกข้าวจริงแต่ไม่เกินรายละ 10 ไร่ ใช้วงเงินงบประมาณ 73,369.92 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินสินเชื่อ 21,010 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 52,359.92 ล้านบาท
ส่วนอีก 1 โครงการซึ่งจะดำเนินการโดยกระทรวงพาณิชย์ คือ โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก วงเงิน 940 ล้านบาท
ที่มา : สำนักข่าวอินโฟเควสท์