ไม่พบผลการค้นหา
ในขณะที่นานาชาติกำลังเรียกร้องให้ผู้นำทั่วโลกจัดการปัญหาโรฮิงญา ในเมียนมา นักข่าวกลับเรียกร้องให้สื่อทั่วโลกเสนอข่าวอย่างเป็นกลาง พร้อมกับระบุว่าที่ผ่านมา มีการนำเสนอข้อมูลด้านเดียวเพื่อเรียกร้องความเห็นใจต่อโรฮิงญาและขายดราม่ามากเกินไป

ในขณะที่นานาชาติกำลังเรียกร้องให้ผู้นำทั่วโลกจัดการปัญหาโรฮิงญา ในเมียนมา นักข่าวกลับเรียกร้องให้สื่อทั่วโลกเสนอข่าวอย่างเป็นกลาง พร้อมกับระบุว่าที่ผ่านมา มีการนำเสนอข้อมูลด้านเดียวเพื่อเรียกร้องความเห็นใจต่อโรฮิงญาและขายดราม่ามากเกินไป

นับตั้งแต่นายอันตอนิอู กูแตร์รีช เลขาธิการสหประชาชาติ และนายเซอิด ราอัด อัล-ฮุสเซน เลขาธิการคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ต่างออกมายืนยันว่าชาวโรฮิงญาในเมียนมากำลังเผชิญกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทั่วโลกก็หันมาให้ความสนใจกับปัญหาโรฮิงญามากขึ้น และสื่อทุกสำนักต่างก็ใช้คำว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือลบล้างชาติพันธุ์ ในการนำเสนอประเด็นนี้อย่างกว้างขวางขึ้น หลังจากที่ผ่านมา ไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการจากยูเอ็น ทำให้ไม่มีการใช้ถ้อยคำนี้อย่างแพร่หลาย

อย่างไรก็ตาม เมียนมายังคงปฏิเสธที่จะเรียกกระบวนการจัดการกับชาวโรฮิงญาว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ก่อนหน้านี้นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการยูเอ็น ซึ่งรับหน้าที่จากรัฐบาลเมียนมาในการเป็นหัวหน้าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุรุนแรงในยะไข่ เคยเตือนแล้วว่าไม่ควรกล่าวหารัฐบาลเมียนมาด้วยข้อหาร้ายแรงเช่นนี้โดยไม่มีหลักฐานเพียงพอ และนางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา ก็ยืนยันเช่นกันว่าไม่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา มีเพียงการปราบปรามผู้ก่อการร้ายเท่านั้น

ล่าสุด เอย์ เอย์ วิน ผู้สื่อข่าวอาวุโสซึ่งเคยทำงานให้กับสำนักข่าวเอพีในเมียนมานานถึง 26 ปี และได้รับรางวัลระดับนานาชาติมาหลายครั้ง ก็ตำหนิสื่อต่างชาติ รวมถึงเอพี ว่านำเสนอข่าวโรฮิงญาอย่างไม่รอบด้าน และเข้าข้างชาวโรฮิงญามากเกินไป โดยเธอตั้งข้อสังเกตว่าสำนักข่าวเอพีไม่ได้นำเสนอข่าวชาวอาระกันพุทธที่เสียชีวิตโดยคาดว่าเป็นฝีมือของกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญา และสื่อนานาชาติยังไม่นำเสนอข่าวความยากลำบากของชาวอาระกัน ทั้งที่พวกเขาเองก็ต้องหลบหนีภัยจากความรุนแรงในบ้านเกิดตนเองเช่นกัน

ไม่เพียงแต่เอพีเท่านั้น สื่อใหญ่ระดับโลกอีกเจ้าอย่างบีบีซีก็ถูกวิจารณ์จากชาวพม่าเช่นเดียวกัน สำนักข่าวบีบีซีภาพภาษาพม่า เคยได้รับคำชื่นชมจากประชาชนในเมียนมามาตลอด ว่าเสนอข่าวเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย ยืนหยัดเคียงข้างฝ่ายเสรีนิยม ในยุคที่ทหารแทรกแซงสื่อและปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความเห็นของพลเมืองตนเอง แต่ในกรณีโรฮิงญา บีบีซีพม่าถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าเข้าข้างโรฮิงญาโดยไม่นำเสนอความทุกข์ยากของคนพุทธ ฮินดู และคนกลุ่มน้อยอื่นๆในรัฐยะไข่ บีบีซีถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงในเฟซบุ๊กจนต้องมีการประกาศขอความร่วมมือผู้ใช้อินเทอร์เน็ตให้งดแสดงความคิดเห็นประณามบีบีซี

ผู้สื่อข่าวอาวุโสอีกคนของเมียนมาที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในทำนองเดียวกัน ก็คืออ่อง ลา ทุน อดีตผ้สื่อข่าวรอยเตอร์สประจำเมียนมา ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานสมาคมสื่อเมียนมา ที่กล่าวกับสำนักข่าวอิระวดีว่าสื่อต่างชาติตีไข่ใส่สีมากเกินไปเวลานำเสนอเรื่องโรฮิงญา มีการใช้คำว่า "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" หรือ "ลบล้างชาติพันธุ์" เพื่อเรียกร้องความเห็นใจ โดยอ่อง ลา ทุนระบุว่า สื่อต่างชาติรู้ว่าถ้าเข้าข้างโรฮิงญา ก็จะขายข่าวได้มากกว่า และได้สมาชิกเพิ่มขึ้นในตะวันออกกลาง

ไม่ว่าสื่อจะนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ แต่ในความเป็นจริงขณะนี้ตามที่สหประชาชาติยืนยัน ชาวโรฮิงญากว่า 1 ใน 3 หรือ 4 แสนคน ได้อพยพออกจากเมียนมามายังค่ายผู้ลี้ภัยชายแดนบังกลาเทศ ที่ซึ่งขาดแคลนทั้งอาหาร น้ำดื่ม และที่พัก องค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งยืนยันตรงกันว่า ชาวโรฮิงญาจำเป็นต้องออกจากบ้านเกิดเพราะพวกเขาเผชิญกับการเผาไล่ที่ สังหาร ทรมาน และข่มขืน รวมถึงถูกปฏิเสธสิทธิในการเดินทางออกนอกพื้นที่ การศึกษาและสวัสดิการจากรัฐทุกชนิด

เรียบเรียง: พรรณิการ์ วานิช

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog