ไม่พบผลการค้นหา
Voice TV สัมภาษณ์คนต่างเจนเนอเรชั่นที่เกิดและเติบโตบนที่ดินของจุฬาฯ กับประสบการณ์ต่างรุ่น ความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เป็นชุมชนบ้านไม้หลังคามุงจาก ไม่มีน้ำประปา กระทั่งปัจจุบันกำลังเปลี่ยนผ่านจากตึกแถวสู่ตึกสูง

Voice TV สัมภาษณ์คนต่างเจนเนอเรชั่นที่เกิดและเติบโตบนที่ดินของจุฬาฯ กับประสบการณ์ต่างรุ่น ความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เป็นชุมชนบ้านไม้หลังคามุงจาก ไม่มีน้ำประปา กระทั่งปัจจุบันกำลังเปลี่ยนผ่านจากตึกแถวสู่ตึกสูง

 

เทียบสามย่านเมื่อ 70 กว่าปีที่แล้วและสามย่านในปัจจุบันที่ผู้อ่านรู้สึกร่วมสมัย คุยกับคนที่เกิดและเติบโตที่นี่ในปี 2484 กับ ปี 2533 

 

ภัชชภณ ภคเสถียร 27 ปี และ อาจารย์อำพัน เจริญสุขลาภ 76 ปี 

 

อาจารย์อำพัน เจริญสุขลาภ อาจารย์สอนงิ้ววัย 76 ปี ผู้ก่อตั้งศูนย์ศิลปวัฒนธรรมไทย-จีน เคยรับบทเป็น “อาเม้ง” ใน “อาเม้ง ป.ปลา” หนึ่งในโฆษณาจากโครงการ “รวมพลังหาร 2 คิดก่อนใช้”* กระทั่งชื่อตัวละครกลายเป็นฉายาของอาจารย์ในเวลาต่อมา (อ่านรายละเอียดคลิ๊ก!! 
จำได้ไหม ‘อาเม้ง ป.ปลา’ โฆษณาในตำนาน ‘รวมพลังหารสอง’

 

 

ปัจจุบันอาจารย์อำพันยังเป็นผู้อำนวยการด้านศิลปะการแสดง สถานีโทรทัศน์ไทย-จีน (ไทยซีซีทีวี) ผู้ก่อตั้งศูนย์สืบสานและพัฒนาอุปรากรจีนให้เป็นงิ้วไทย ที่ศรีนครินทร์ และก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทยจีนที่ดาวคะนอง เพื่อสอนงิ้ว ซ้อมงิ้ว ซึ่งเป็นผู้สอนงิ้วให้ศิลปินดารา เช่น ณิชา ดาราช่อง 3 แสดงละครเสน่ห์นางงิ้ว  นอกจากนั้น เป็นผู้เขียนบทภาษาจีนและร่วมแปลเป็นไทย รวมถึงเป็นผู้แต่งเพลงและกำกับการแสดงอุปรากรจีนพูดไทยเรื่อง ‘แปดเซียนถวายพระพร’ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสที่สม��ด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา ผู้แสดงอาทิ ‘ผุสชา โทณะวนิก’ ‘นีรนุช ปัทมสูต’ และ ‘บัณฑูร ล่ำซำ’ สำหรับ ‘แปดเซียนถวายพระพร’ จัดโดยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมครูภาษาจีน เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2558 ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ภาพจากหนังสือ 100 ปี การบริหารจัดการที่ดินเขตจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,หน้า 65 

 

อาจารย์อำพันเกิดเมื่อปีค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484) ในครอบครัวชาวจีนที่อาศัยอยู่สามย่าน คุณพ่อเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนจิ้งกวง ในสามย่านบริเวณปากซอยจุฬาฯ 15 (เดิม) ในอดีตซอย 15 จะอยู่ฝั่งจามจุรีสแควร์ในปัจจุบัน คนละจุดกับซอย 15 ที่ติดถนนพระราม4 ในยุคนี้ ต่อมาคุณพ่อของอาจารย์อำพันเป็นกรรมการโรงเรียนสิงฟ้าในสามย่าน ซึ่งปัจจุบันย้ายไปตั้งอยู่คลองเตย 

 

 

“ผมเกิดตรงที่เป็นด้านหลังจามจุรีสแควร์ในปัจจุบัน ตอนนี้ไม่มีแล้ว เมื่อก่อนเป็นบ้านไม้ แบบคนชนบทเขาอยู่กัน เดี๋ยวนี้หายไปหมดแล้ว ถนนซอย 15 เมื่อก่อนจะเป็นดิน แล้วผมโตขึ้นก็มีลาดยาง 

 

 

ตอนที่ผมเด็กๆ บ้านผมเป็นไม้ หลังคามุงจาก แค่ชั้นเดียว พื้นเป็นดิน กลางคืนเวลานอน จะเอาชั้นที่ทำจากไม้มาวางเป็นพื้น ปูเสื่อ กางมุ้ง ก่อนนอนก็ล้างเท้า เหมือนอยู่บ้านนอก 

 

ต่อมาใครมีตังค์ก็มาลาดปูนซีเมนต์ เรียกว่าชีวิตพัฒนาขึ้นแล้ว พอหลังๆ จากหลังคาจากก็พัฒนาอีกก้าวหนึ่ง ซื้อหลังคาสังกะสี มุงหลังคาสังกะสี นี่เรียกว่าคนมีสตังค์แล้วถึงไปซื้อหลังคาสังกะสีมาจ้างเขามุง แล้วยกหลังคาให้สูงขึ้น ทำเป็น 2 ชั้น ส่วนเพื่อนบ้านเมื่อก่อนเป็นบ้านชั้นเดียว ต่อมาก็มีนายทุนมาขอเช่าที่ ขอซื้อสิทธิ แล้วก็รื้อทั้งหมด สร้างเป็นบ้าน 2 ชั้น มี 1 ห้องให้กับเจ้าของเดิม นอกจากนั้น แกก็ปล่อยเช่า แต่ตอนนั้น รู้สึกเขาจะมีแป๊ะเจี๊ยกัน เริ่มจะมีการเซ้ง 5 ปี 10 ปี 

 

เมื่อก่อนจุฬาฯ ไม่ค่อยมายุ่ง จะทำอะไรก็อยู่ที่เราสร้าง ไม่เข้มงวดเหมือนทุกวันนี้ ถ้ามีตังค์จะสร้างอะไรก็สร้างได้แล้ว 

 

ตอนนั้นผมยังเด็กก็ไม่ทราบนะว่าการสร้างบ้านมีการติดต่อจุฬาฯ หรือเปล่า คิดว่าไม่น่าจะมีการติดต่อ คือต่างคนต่างเงียบ เหมือนที่ทุกวันนี้คนมาอยู่แถวริมคลองคลองเตย ใครอยากสร้างอะไรก็สร้าง เพราะมันไม่ถูกกฎหมายอยู่แล้ว 

 

 

เมื่อก่อนไม่มีน้ำประปา ระยะแรกๆ ที่ผมเด็กๆ จำความได้ อายุ 4-5 ขวบมีหาบน้ำคูคลองมาบริโภค พอต่อมา ก็มีน้ำประปา แต่ตั้งอยู่ ซอย 15 ต้องเอาปี๊บไปรองน้ำกลับมาบริโภค พักหลังน่าจะตอนอายุ 8 ขวบ ถึงมีน้ำประปามาถึงบ้าน  

 

ผมอยู่จุฬาฯ ซอย 15 (ซอยเดิมซึ่งเป็นจามจุรีสแควร์ในปัจจุบัน) จนถึงอายุ 15 ปี ตอนนั้นไปเรียนหนังสืออยู่ประเทศจีน ไม่ได้อยู่สามย่าน พออายุเกือบ 20 ปี พ่อได้ส่งจดหมายไปบอกว่าบ้านถูกไฟไหม้ไปแล้ว แล้วก็ย้ายไปอยู่ที่คลองเตย ตอนนั้นในซอย 15 ถูกไฟไหม้ไปเยอะ ส่วนใหญ่ย้ายไปอยู่คลองเตยบ้าง พระโขนงบ้าง แถวซอยอ่อนนุชบ้าง เมื่อก่อนแถวคลองเตยก็ยังไม่เจริญเท่าไหร่          

 

 

คนจีนมักจะจับกลุ่มกัน ไปอยู่ด้วยกันก็ไปสร้างบ้านจับกลุ่มกันเพราะพึ่งพาอาศัยได้ มีอะไรช่วยเหลือกัน   

 

หลังจากซอย 15 ถูกไฟไหม้ไปแล้ว ซอย 16 ยังอยู่ มีร้านสมบูรณ์และร้านอาหารอยู่แถวนั้นเยอะ พวกเราก็ไปบ่อย ผมสอนงิ้วอยู่ที่เยาวราช กลางคืนเลิกงิ้วหรือวันหยุดก็ไปกินอาหารที่ซอย 16 เมื่อก่อนมีธุรกิจโรงงานทอผ้า โรงงานทำขนม แล้วอยู่ดีๆ ก็ไปทำร้านอาหาร กลายเป็นแหล่งขายอาหารเพราะค่อยๆ ขายแล้วก็ดัง คนจะกินก็ไปตรงนั้น เหมือนสวนหลวง ซึ่งเดี๋ยวนี้สวนหลวงเดิมก็หายไปหมดแล้ว(หัวเราะ)

 

ซอย 15 ปัจจุบัน ติดถนนพระราม 4

 

เราก็มีความผูกพัน เราก็ไปที่นั่นบ่อย ไปที่นั่นก็คิดถึงว่าเมื่อก่อนตอนเราเด็กเราอยู่ตรงนี้นะ ไปถึงก็ไปเยี่ยมบ้านเกิดของเรา”  

 

 

“เซียงกง เมื่อก่อนก็เป็นบ้านไม้ธรรมดาที่คนอยู่ เป็นชุมชนแออัดเป็นสลัม ส่วนจุดเริ่มต้นของเซียงกงสวนหลวง คือ สมัยนั้นมีโรงหนังโอเดียน เรียกวงเวียนโอเดียน ตรงเยาวราช โอเดียนจะมีร้านค้าเครื่องเก่า เรียกเซียงกง พื้นที่คับแคบ มีข่าวว่าจะย้าย จะพัฒนา คนทำการค้าก็หาที่ใหม่ที่ใกล้กับโอเดี้ยนที่สุด ก็มาตั้งที่สวนหลวง สวนหลวงจึงเป็นเซียงกง2 พอคนหนึ่งย้ายไป มีลูกค้าไปถึง ร้านอื่นๆ ก็ย้ายตาม ตอนนั้นค่าเช่ายังถูกอยู่ คนจนมีกำไรก็เซ้งต่อ  

 

 

พอมีตังค์ก็ไปตั้งศาลเจ้าชื่อเจ้าแม่ทับทิม เพื่อตอบแทนบุญคุณที่ให้โชคให้ลาภ ทุกปีจะมีการแสดงงิ้ว เพื่อตอบแทนบุญคุณ ก็มีคนบริจาคเยอะ มีการแสดงงิ้ว 9 วัน ทุกครั้งที่แสดงจะมีคณะกรรมการเพื่อเชิญงิ้วมาแสดง งิ้วผมเมื่อก่อนชื่อไท้ตง ตอนนั้นดังมาก ได้รับเชิญมาแสดง คณะงิ้วไท้ตงเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว เวลาได้รับเชิญ จะได้ค่าตอบแทน 4 หมื่นบาทต่อคืน ขณะที่ปกติงิ้วทั่วไปจะได้ 1 หมื่นบาท เราได้สูงตั้ง 3 เท่า คนมาดูเยอะ

 


 

แล้วกรรมการอีกชุดก็รู้จักงิ้วอีกคณะ เพื่อไม่ให้ขัดแย้งก็เลยเชิญ 2 คณะประชันกันทุกปี แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว... 

 

ล่าสุดไปดูตรงนั้นถึงรู้ว่า บริเวณศาลเจ้าแม่ทับทิม บ้านหายไปหมดแล้ว” อาจารย์อำพันกล่าว
 

เมื่อถามถึงความเปลี่ยนแปลง อาจารย์อำพัน บอกว่า “มันก็ตามยุคตามสมัย พูดตรงๆ นะ พื้นที่ไม่ใช่ของเรา เราไปเช่าจุฬาฯ จุฬาฯ เขาก็ต้องมีการพัฒนา แต่แน่นอนเราเกิดมาตรงนั้น มีผูกพันไหม ก็ผูกพันมากๆ อยากอยู่ยุคแบบนั้น เป็นบ้านไม้แบบเก่า แต่อยู่ได้ไหม มันต้องโต มันต้องแก่ สังคมต้องพัฒนา ต้องเดินหน้า อันนี้เราต้องเข้าใจ ต้องทำใจ เป็นสิทธิของเขา

 

สิ่งที่พัฒนาดีไหม มันก็ดี แม้ส่วนตัวผมอยากอยู่ธรรมชาติเหมือนเดิมมากกว่า ผมอยากอยู่แบบสมัยก่อน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่คือฝืนไม่ได้ไง ธรรมชาติฝืนไม่ได้” อาจารย์อำพันกล่าว 

 

*“รวมพลังหาร 2 คิดก่อนใช้” เป็นโครงการที่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2539 โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ โดยภาพยนตร์โฆษณาชุด อาเม้ง ป.ปลา เป็นผลงานโฆษณาของบริษัท ลีโอ เบอร์เน็ทท์ (ประเทศไทย) จำกัด กำกับภาพยนตร์โฆษณาโดย สุธน เพ็ชรสุวรรณ หรือ ม่ำ บริษัท แม็ทชิ่ง สตูดิโอ จำกัด (มหาชน)

 

 

ภัชชภณ ภคเสถียร หรือ ปลั๊ก พนักงานบริษัท วัย 27 ปี ศิษย์เก่าจุฬาฯ ผู้เกิด เติบโต และใช้ชีวิตบนที่ดินของจุฬาฯ ตั้งแต่ปี 2533 เคยเดินจากบ้านที่สามย่านไปเรียนจุฬาฯ เมื่อครั้งเป็นนิสิต ระหว่างปี 2552-2556 

 

 

คุณพ่อคุณแม่มาเซ้งตึกแถวหนึ่งห้อง 3 ชั้น เพื่อประกอบกิจการอยู่บริเวณจุฬาฯ ซอย 5 ซึ่งเป็นซอยยาวจากถนนพระราม 1 ถึง พระราม 4 ตั้งแต่ช่วงเกือบ 40 กว่าปีก่อน น่าจะเป็นช่วงที่ตึกซึ่งเป็นอาคารที่อยู่ในปัจจุบันเพิ่งเริ่มสร้างใหม่ เดิมคุณพ่อคุณแม่เกิดและเติบโตแถวๆ ย่านเจริญผล ตรงโลตัสพระราม 1 ก่อนย้ายมาเริ่มกิจการอยู่ที่จุฬาฯ ซอย 5 ปัจจุบันครอบครัวอาศัยอยู่ทั้งหมด 3 เจนเนอเรชั่นตั้งแต่ อากง พ่อแม่ และลูกๆ

 

ตอนแรกครอบครัวเปิดกิจการให้เช่าวิดีโอและรับซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งกิจการช่วงแรกดำเนินไปได้ดีมาก แต่พอถึงช่วงวิดีโอซบเซา ก็เริ่มเปลี่ยนเป็นขายเครื่องเกมแฟมิคอน เกมเพลย์1 เพลย์ 2 ปรับเปลี่ยนไปตามสมัยนิยม สมัยก่อนเป็นร้านเดียวในระแวกนี้ที่ขายเกม แต่พอสักช่วง 20 ปีก่อน ช่วงตลาดเกมซบเซาบวกกับมีห้างเพิ่มขึ้นคนไม่มาเดินเหมือนเมื่อก่อน และคนในบ้านมีจำนวนคนเพิ่มขึ้น ที่บ้านจึงมีแนวคิดเปิดกิจการใหม่โดยเช่าห้องแถวเพิ่มเพื่อเปิดมินิมาร์ท บังเอิญห้องข้างๆ ย้ายออก จึงเช่ารวมทั้งหมดเป็น 4 ห้องแถว 

 

 

ช่วงนั้นทำ 2 กิจการควบคู่กัน โดยมีบรรดาญาติๆ มาช่วยกันดูแล ตอนนั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นมินิมาร์ทเจ้าแรกในบริเวณนี้ เพราะเมื่อก่อนร้านเซเว่นยังไม่เปิดสาขามากมายเหมือนในปัจจุบัน


กระทั่งเมื่อประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมาตึกที่บ้านปลั๊กเช่าอยู่ (2 ห้อง จาก 4 ห้อง) และบริเวณตึกรอบๆ ทั้งสำนักงานเขต และโรงเรียนปทุมวัน หมดสัญญา และทางสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ มีแผนจะปรับปรุงพื้นที่ โดยรอบ จึงโดนให้ย้ายออก 2 ห้อง ตอนนี้ที่บ้านจึงเหลืออยู่เพียง 2 ห้อง ส่วนห้องที่ย้ายออกถูกทุบกลายเป็นพื้นที่โล่ง และเพิ่งมาปรับให้เป็นที่จอดรถให้ตลาดสามย่านชั่วคราว รอสร้างโครงการใหม่ โดยที่บ้านปลั๊กเลิกขายเกมกับซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า เหลือแต่กิจการมินิมาร์ท 

 

 

ปลั๊ก เล่าว่า โตมาในยุคที่ตรงนี้คือใจกลางเมือง มีสาธารณูปโภคครบถ้วน ห้าง โรงเรียน มหาวิทยาลัย สถานีตำรวจ สถานีดับเพลิง ตลาด เป็นที่ที่ครบ ใครเห็นก็ต้องบอกว่าเป็นย่านที่ดี คนเยอะ คึกคัก เหมาะแก่การทำการค้าขาย ส่วนการเช่าตึกแถวมีค่าเซ้ง คือซื้อสิทธิเพื่อเช่าเป็นสัญญาระยะยาว โดยช่วงแรกก็เป็นสัญญาระยะยาว 20-30 ปี ต่อมาก็ค่อยหลดหลั่นมาเรื่อย เป็น 10 ปี, 5 ปี และล่าสุดคือสัญญาแบบปีต่อปี ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะอยู่ที่นี้ต่อได้อีกนานแค่ไหน แต่เบื้องต้นก็มีการเตรียมรับมือ หาที่หาทางที่อื่นไว้แล้ว

 


ปลั๊กยังเล่าว่าอีกว่า จุดที่เป็นอาคาร I’m park ในปัจจุบัน ด้านหน้าเคยเป็นตลาดสวนหลวงขายของกินที่ดังมาก และของกินเด็ดๆ เยอะ “ร้านเจ๊โอ, ร้านเช็งซิมอี้” และร้านอาหารร้านดังหลายเจ้าก็เกิดมาจากย่านสวนหลวงแห่งนี้ เวลาเทศกาลกินเจจะปิดถนนขายของเจทั้งตลาดเพราะเป็นตลาดคนจีน ของเจก็ขึ้นชื่อเพราะเป็นคนจีนทำเอง มีคนจีนเยอะมาค้าขาย เวลาที่ไม่ใช่เทศกาลก็เป็นตลาดสดตอนเช้าและตอนเย็นขายอาหาร ส่วนตลาดสามย่านเดิมอยู่หัวมุมซอย 15 ตอนนี้กำลังสร้างสามย่านมิตรทาวน์ ตลาดเดิมย้ายมาจุดใหม่เป็นตลาดที่ขายของค่อนข้างดี มีระดับ คนข้างนอกจะมาซื้อ 

 

 

ขณะที่ตลาดสวนหลวง ตลาดสะพานเหลือง เป็นตลาดเล็กๆ เหมือนเป็นตลาดสำหรับชุมชน มีศาลเจ้าเจ้าแม่ทับทิม ศาลเจ้าสวนหลวง เวลามีไหว้เจ้า จะมีหนังฉาย มีเล่นงิ้ว มีงานเทกระจาด บริเวณข้างๆ ก็มีย่านค้าอะไหล่เก่าเซียงกง มีคนอยู่มากมาย คึกคัก นั่นหมายความว่าธุรกิจย่านนี้อยู่ได้ด้วยคนแถวนี้ และคนนอกพื้นที่ที่รู้ว่าแถวนี้มีดีอะไร 

 

 

 

แต่พอตอนนี้ไม่มีตึก ไม่มีร้านค้า ไม่มีคนเดิมๆ อยู่แล้ว เมื่อโครงการใหม่ๆ เข้ามาเปิด จึงอยู่อย่างเงียบๆ ขาดคนในชุมชนที่จะช่วยมาช่วยสนับสนุน

 

 

“ตอนเขารื้อ เริ่มมาจากตลาดสามย่านเก่าค่อยๆ รื้อมาเรื่อยๆ บริเวณสวนหลวง สนามกีฬา ส่วนบ้านผมตอนนี้ยังไม่โดน แต่คงจะเร็วๆ นี้” ปลั๊กกล่าว

 

 

สำหรับการเปลี่ยนแปลงในย่านสามย่านและสวนหลวง ปลั๊ก มองว่า การปรับใหม่นี้น่าจะช่วยทำให้ย่านนี้ดูเป็นระเบียบขึ้น เพราะอาคารพาณิชย์ ตลาดต่างๆ ที่สร้างมากว่า 40 ปี ค่อนข้างเก่า ทรุดโทรม และไม่ค่อยได้มีการปรับปรุง เนื่องจากเป็นอาคารเช่า คนที่เช่าอยู่ก็ไม่ใช่เจ้าของ มีการต่อเติม และใช้งานอาคารผิดประเภท นอกจากนี้การปรับปรุงน่าจะส่งผลดีกับเจ้าของพื้นที่ เพราะจะได้มีการนำพื้นที่มาทำให้เกิดประโยชน์มากขึ้น และทำให้พื้นที่มีมูลค่าสูงขึ้น

 

 

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ปลั๊กก็มองว่าการปรับปรุงนี้ ส่งผลเสียกับผู้ที่ยังอยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวอยู่เหมือนกัน เนื่องจากช่วงที่เริ่มไล่ผู้อยู่อาศัยออก มีการทุบตึก และปรับปรุงถนนหนทาง ส่งผลให้ย่านนี้เงียบเหงาลงอย่างชัดเจน เรียกได้ว่าแทบจะกลายเป็นเมืองร้าง คนที่ยังเช่าอยู่ก็ไม่สามารถจะค้าขายได้ตามปกติ ลูกค้าน้อยลงจนเห็นได้ชัดเจน เพราะเดิมแถวนี้คนอยู่กันเป็นชุมชน เป็นครอบครัวใหญ่ ส่วนใหญ่มีเชื้อสายมาจากจีน แต่ละครอบครัวส่วนใหญ่ก็ทำกิจการค้าขาย เปิดร้านค้าแทบจะทุกวัน ร้านค้าแบ่งเป็นโซนชัดเจนว่าย่านนี้ขายอะไร ลูกค้าซึ่งเป็นทั้งคนในและคนนอกพื้นที่จะรู้ว่าตรงไหนขายอะไร ขายอาหาร ขายอะไหล่ ขายชุดกีฬาฯ รู้ว่าต้องมาแถวนี้เพื่อมาหาอะไร

 

 

แต่ตอนนี้ ภาพเหล่านั้นไม่มีแล้ว ไม่รู้ว่าที่นี่คืออะไร บางคนผ่านมาก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ายังมีบางร้านเปิดกิจการอยู่ ส่วนสำหรับตึกที่สร้างและปรับปรุงใหม่ในปัจจุบัน มีการเปิดให้คนที่สนใจมาเช่าเพื่อการค้า แต่จะไม่ให้อยู่อาศัยแบบเดิมแล้ว 

 

 

ส่วนตัวปลั๊กเข้าใจได้กับการเปลี่ยนแปลง เพราะในอดีตก็มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด และในอนาคตการพัฒนาก็อาจจะทำให้ย่านนี้ดีขึ้นมาก แต่คงต้องใช้เวลาพอสมควรเพื่อให้ทั้งโครงการทั้งหมดเสร็จโดยสมบูรณ์ 

 

 

แต่ในช่วง 5-6 ปีมานี้ ปลั๊กยังไม่เห็นความสำเร็จของโครงการแบบชัดเจน โดยส่วนตัวคิดว่าสาเหตุมาจากการทยอยรื้อสร้างโครงการยังไม่เป็นระบบพอ เช่น เมื่อไม่ต่อสัญญาแล้วให้คนเช่าออกไปแล้ว ก็ปล่อยให้เป็นที่รกร้างกินเวลาเป็นปี มีการปิดถนนเต็มไปหมด คนนอกก็ไม่อยากมา อีกทั้งการดำเนินการดังกล่าวยังสร้างปัญหาให้กับคนในชุมชนเดิม และร้านค้าในโครงการที่เกิดมาใหม่ๆ เพื่อรองรับคนรุ่นใหม่ด้วย เพราะกว่าจะรื้อ กว่าจะสร้างแต่ละโครงการใช้เวลายาวนาน สร้างตรงโน้นไปปิดตรงนี้ สร้างตรงนี้ไปปิดตรงโน้น โครงการโดยรอบก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ทำให้การเดินทางยากลำบาก ไม่มีคนมาเดิน การพัฒนากลายเป็นรูปแบบที่ไม่มีความยูนีค มีการให้ร้านค้าดังๆ ที่มีสาขาอยู่ทั่วไปมาเปิด เพื่อช่วยดึงลูกค้า แต่กลับกลายเป็นว่าทำให้เอกลักษณ์ของย่านนี้ขาดหายไป ไม่มีจุดเด่น

 

 

“การเปลี่ยนควรมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ ตรงไหนเปลี่ยนแปลงก่อน-หลัง และให้ร้านเดิมที่เป็นหน้าเป็นตาของย่านเดิม เข้ามามีส่วนร่วมกับร้านใหม่ ช่วยเป็นจุดขาย ดึงคนให้มาใช้บริการ ช่วยชุมชนใหม่ เพราะร้านเดิมมีเอกลักษณ์ จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อโครงการใหม่และคนที่อยู่มาแต่เดิม ดีกว่าเลิกให้เช่าแล้วปล่อยให้ย้ายไปที่อื่นโดยขาดจุดเด่นที่มีอยู่เดิม ทำให้คนที่โหยหาสิ่งเดิม หาสิ่งเดิมไม่ได้ 

 

 

ถ้าจะบอกว่าสร้างสิ่งนี้มาเพื่อคนรุ่นใหม่ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าคนรุ่นใหม่ปัจจุบัน ก็มีหนทางอื่นให้ไปเที่ยวให้ไปค้นหา อาจไม่จำเป็นต้องมาที่นี่ ส่วนตัวคิดว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ควรทิ้งของเก่าเสียทีเดียว การให้คนเดิมมาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเปลี่ยนแปลงก็อาจจะช่วยให้ดีมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน” ปลั๊ก ภัชชภณกล่าว
 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 


จำได้ไหม ‘อาเม้ง ป.ปลา’ โฆษณาในตำนาน ‘รวมพลังหารสอง’

รับใช้ 'จุฬาฯ' มา100 ปี ร้านรองเท้าในตำนานสามย่าน ประวัติศาสตร์คนธรรมดา

วิบากกรรมผู้ค้า เช่าที่ 'ทรัพย์สินจุฬาฯ' เจอคำโฆษณาสวนทางความจริง?

ทวงหนี้ 4.0’ จุฬาฯ แจงหลังผู้ค้าโวยผิดหวังลงทุนเช่าที่สวนหลวงสแควร์

สร้างเมืองใหม่ ‘8 หมื่นล้าน’ โรดแมป ‘จุฬาฯ’ ธุรกิจเพื่อการศึกษา

เรื่องของผู้ใหญ่ไม่เกี่ยวนิสิต ‘เนติวิทย์’ เผยจุฬาฯ ห้ามฟังเสียงผู้ค้า

หนึ่งในเหตุที่‘เนติวิทย์’ถูกสอบ!! ชมคลิปเวทีรับฟังผู้ค้าเช่าที่ ‘ทรัพย์สินจุฬาฯ’

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog