ไม่พบผลการค้นหา
จากภาพลักษณ์ของนกแอร์ ล่าสุด 'พาที สารสิน' หลุดจากตำแหน่งของ CEO สายการบินที่มีรอยยิ้มแต่หนี้เพียบแล้ว จุดเปลี่ยนของนกแอร์มาถึงแล้ว

จากภาพลักษณ์ของนกแอร์ ล่าสุด 'พาที สารสิน' หลุดจากตำแหน่งของ CEO สายการบินที่มีรอยยิ้มแต่หนี้เพียบแล้ว จุดเปลี่ยนของนกแอร์มาถึงแล้ว

หากพูดถึงภาพลักษณ์ของแบรนด์นกแอร์ภาพที่ปรากฎคู่กันคือ ชุดแอร์โฮสเตสสีเหลืองสดใสที่จะคอยแนะนำด้วยคำแทนตัวเองด้วยคำว่า "นก" และอีกหนึ่งสิ่งคือซีอีโออารมณ์ดี ยิ้มกว้างที่มักจะปรากฎในเสื้อยืดสีดำและกางเกงยีนส์อย่าง "พาที สารสิน"

ดุ๋ง พาที สารสิน คือภาพลักษณ์และพรีเซนเตอร์กลายๆเมื่อเราพูดถึงนกแอร์ภาพของเขาชัดเจนเสมอ เหมือนเราพูดถึง นาย ตัน  ภาสกรนที ของแบรนด์ "อิชิตัน" หรือแม้กระทั่งคนที่พยายามสร้างภาพลักษณ์ของตัวเองให้คู่แบรนด์ "เถ้าแก่น้อย" อย่าง "วัยรุ่นพันล้าน" ต๊อบ อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ และนี่คือเรื่องราวและการเดินทางของ ดุ๋ง พาที สารสิน

จากหลานนายกฯสู่นักธุรกิจอารมณ์ศิลป์ 

พาที สารสิน คือหลานชายของอดีตนายกรัฐมนตรี พจน์ สารสิน และมีลุงคือ พล.ต.อ.เภา สารสิน อดีตอธิบดีกรมตำรวจ เพราะเป็นลูกชายคนเดียวของ อาสา สารสิน ราชเลขาธิการ และท่านผู้หญิง สุจิตคุณ สารสิน (สกุลเดิม กิตติยากร) ในวัยเด็กของพาทีเติบโตในต่างประเทศทำให้มีลักษณะกล้าคิดกล้าแสดงออกหลังจากเดินทางไปศึกษาระดับมัธยมที่สหราชอาณาจักร ก่อนจะลัดฟ้าไปต่อยังสหรัฐอเมริกาจนจบปริญญาโทด้านสื่อสารมวลชนแล้วจึงเดินทางกลับมาประเทศไทย

งานแรกที่เขาเริ่มจับคือธุรกิจโฆษณากับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างบริษัท สปา แอดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด และยังโลดแล่นอยู่ในธุรกิจโฆษณาอีกหลายปี บุคลิกอารมณ์ศิลป์ของพาทีมักจะมากับไอเดียสนุกๆ เช่น การไปรับเชิญในละครพีเรียดชื่อดังอย่าง "คุณชายรณพีร์" เรามักจะเห็นพาทีไปร่วมแจมกับศิลปินดังๆหลายคน และล่าสุดกับบทบาท "หน้ากากนกอินทรี"ในเวที The Mask Singer หน้ากากนักร้อง

วันที่ "นกแอร์"ทยานบิน ของ "กัปตันดุ๋ง"

2547 คือปีที่ชีวิตของพาทีเปลี่ยนไปตลอดกาล เมื่อเขาบุกเบิกทำ "นกแอร์" สายการบินโลว์คอสต์ในเครือการบินไทยที่การบินไทยถือหุ้น 39.20% ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ และได้ใช้ความรู้จากการเรียนด้านการตลาดมาทำให้ทุกคนจำภาพของนกแอร์ได้อย่างรวดเร็วซึ่งการบริหารค่อนข้างเป็นเอกเทศเพราะตัวแทนการบินไทยได้แค่เข้าไปนั่งเป็นกรรมการเพียงเท่านั้น

ภาพลักษณ์การบริหารที่เป็นกันเองตามคำโฆษณา "ทุกเที่ยวบินมีรอยยิ้ม" ทำให้นกแอร์กลายเป็นสายการบินภายในประเทศขวัญใจชาวไทย รวมถึงพาทีเองก็สร้างแบรนด์ผ่านตัวตน เช่น ไปปรากฎตัวกับกิจกรรมต่างๆของนกแอร์ การใช้ทวิตเตอร์เพื่อรายงานความเคลื่อนไหวของสายการบิน

แต่ผลประกอบการของนกแอร์นั้นไม่ได้สดใสเหมือนภาพลักษณ์ที่ยิ้มแย้ม 3 ปีล่าสุดผลประกอบการของนกแอร์เรียกได้ว่าสาหัส ปี 2557 ขาดทุน 471ล้านบาท ปี 2558 ขาดทุน 726 ล้านบาท และปี2559 ชาดทุนถึง 2,110 ล้านบาท เริ่มมีคำถามถึงฝีมือการบริหารของกัปตันดุ๋ง ว่ามีแต่ภาพลักษณ์ที่ดีแต่บริหารจัดการไม่ได้หรือไม่

 

 2559 วิกฤตศรัทธาพาที และฟ้าผ่าที่วิภาวดีปี60

ปี 2559 ที่ผ่านมาถือว่าเป็นปีแห่งวิกฤตศรัทธาต่อแบรนด์นกแอร์ เริ่มจากเหตุการณ์สไตร์กของนกแอร์ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยได้มีได้ยกเลิกเที่ยวบินภายในประเทศจำนวน 9 เที่ยวบินในเดือนกุมภาพันธ์ พาที สารสิน ถูกตั้งคำถามในการรับมือกับปัญหาในการต่อร้องต่อเถียงกับกลุ่มนักบิน ถึงขั้น "ไล่ให้ไปใส่กระโปรง" จนสุดท้ายข้อพิพาทจบลงที่การไล่ออก 1คนและพักงาน 2คน สะท้อนภาพรอยร้าวความไม่พอใจคนในองค์กรต่อการบริหารของพาที

ยังไม่ทันข้ามปีมิถุนายน 2559 เกิดกรณีอื้อฉาวเมื่อ ผู้ช่วยนักบินของสายการบินนกแอร์ทำแชทไลน์หลุดกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีขึ้นเครื่องบินไปปฏิบัติภารกิจในจังหวัดแพร่ ว่าจะทำการบินโหม่งโลก หรือ CFIT ดีหรือไม่? เกิดกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวาง คนใกล้ชิดน.ส.ยิ่งลักษณ์ เปิดเผยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทราบเรื่องดังกล่าวและรู้สึกเสียใจกับการแสดงออกของนักบินเนื่องจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่ผู้โดยสารคนเดียวในเที่ยวบินนี้  ด้านนายพาทีได้ออกแถลงการณ์ขอโทษน.ส.ยิ่งลักษณ์ในภายหลัง ยิ่งสะท้อนภาพที่ทำให้กระทบกับสโลแกน "ทุกเที่ยวบินมีรอยยิ้ม"

การเปลี่ยนแปลงใหญ่ของการบินไทยได้มาถึงในปี 2560 คณะกรรมการบริษัท การบินไทย เตรียมพิจารณาปรับโครงสร้างยุทธศาสตร์ของบริษัท ด้วยการตั้ง "Thai Group" (ไทยกรุ๊ป)  เพื่อบริหารจัดการ 3 สายการบิน คือ การบินไทย , ไทยสมายล์  และนกแอร์ โดยรวบอำนาจให้การบินไทย บริหารนกแอร์ และเพื่อให้การทำงานประสบความสำเร็จ ทั้งสามสายการบิน จึงต้องวางแผนร่วมกัน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาขาดทุนของนกแอร์ ที่ต้องเปลี่ยนนโยบายบริหารใหม่ รวมถึงการเปลี่ยนซีอีโอคนใหม่ 

ด้านตัวพาทีเอง พูดถึงกรณีข่าวลือดังกล่าวว่า ไม่เคยได้รับแจ้งจากผู้บริหารการบินไทย ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ว่าขอให้ออกจากตำแหน่ง  แต่ได้รับการติดต่อขอให้อยู่ช่วยทำงานต่อไป ส่วนการบินไทยจะเพิ่มทุนในนกแอร์ ไม่มีปัญหา พร้อมทำงานตามนโยบายในฐานะบริษัทลูกของการบินไทย   ซึ่งการเพิ่มทุนกลายเป็นสงครามชักกะเย่อระหว่างการบินไทยในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ กับกลุ่มพาทีที่จะดึงทุนใหม่เข้ามาร่วม

ท้ายที่สุดที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน)  ครั้งที่ 9/2560 เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2560 มีมติรับทราบการลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของนายพาที สารสิน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย.2560 เป็นต้นไป ทั้งนี้ นายพาที สารสิน จะยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัทเช่นเดิม  นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งนายพาที สารสิน กรรมการบริษัท ให้ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการบริษัท โดยแต่งตั้งนายปิยะ ยอดมณี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มีผลตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย.2560 เป็นต้นไป

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog