ไม่พบผลการค้นหา
ผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่า หมึกที่ใช้สักร่างกายบางประเภทมีอนุภาคขนาดเล็กที่สะสมในต่อมน้ำเหลืองได้ และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว แต่หลายประเทศยังไม่มีการควบคุมหรือตรวจสอบหมึกที่ใช้สักร่างกายอย่างจริงจัง

ผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่า หมึกที่ใช้สักร่างกายบางประเภทมีอนุภาคขนาดเล็กที่สะสมในต่อมน้ำเหลืองได้ และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว แต่หลายประเทศยังไม่มีการควบคุมหรือตรวจสอบหมึกที่ใช้สักร่างกายอย่างจริงจัง

คณะนักวิจัยจากสถาบันสำรวจความเสี่ยงด้านสุขภาพในกรุงเบอร์ลินของเยอรมนี เปิดเผยรายงานสรุปผลการวิจัยผลกระทบของหมึกที่ใช้สักร่างกายที่มีต่อสุขภาพของมนุษย์ โดยเป็นการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์วารสารวิทยาศาสตร์ Scientific Report เมื่อวานนี้ (12 กันยายน) ซึ่งผลวิจัยบ่งชี้ว่าอนุภาคนาโนของหมึกสักสามารถเคลื่อนย้ายไปสะสมในต่อมน้ำเหลืองซึ่งเป็นระบบภูมิคุ้มกันได้ และอาจส่งกระทบต่อร่างกายในระยะยาว

งานวิจัยระบุด้วยว่ากระแสความนิยมสักร่างกายเกิดขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่แทบจะทั่วโลก และมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดเรื่องความสะอาดของเข็มและอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้สัก เพื่อป้องกันโรคติดต่อ แต่กลับไม่ค่อยมีผู้คำนึงถึงว่าส่วนประกอบของหมึกที่ใช้สักร่างกายจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง และผลวิจัยครั้งนี้เป็นการทดสอบกับหนูในห้องทดลองและตรวจสอบผู้บริจาคร่างกายเพื่อการศึกษาทางการแพทย์ พบว่าอนุภาคระดับนาโนของหมึกที่ใช้สักสามารถเคลื่อนที่และเกิดการสะสมในต่อมน้ำเหลืองได้ อีกทั้งส่วนประกอบที่ใช้ในหมึกหลายชนิดเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น นิกเกิล โครเมียม แมงกานีส และโคบอลต์

ด้านเว็บไซต์เดอะการ์เดียน สื่อของอังกฤษ รายงานว่า หมึกที่มีผู้นิยมใช้สักร่างกายเป็นจำนวนมากคือหมึกคาร์บอนสีดำกับหมึกสีขาวที่ผสมไทเทเนียมไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดอาการคันและระคายเคืองต่อผิวหนัง รวมถึงทำให้ผิวหนังฟื้นตัวจากการเป็นแผลได้ช้ากว่าปกติ แต่หมึกที่ใช้สักร่างกายไม่ถือเป็นสารเคมีควบคุมแต่อย่างใด เพราะหลายประเทศจัดให้หมึกสักอยู่ในกลุ่มเครื่องสำอางถาวร โดยให้เหตุผลว่าการสักร่างกายเป็นทางเลือกส่วนบุคคล จึงยังไม่มีการกำกับดูแลเหมือนสารเคมีประเภทอื่นๆ

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมาธิการด้านสุขภาพของสหภาพยุโรปเคยประกาศเตือนว่า หมึกสักร่างกายที่พบในหลายประเทศ มีส่วนผสมของโลหะหนักที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพหากเกิดการสะสมในร่างกายเป็นเวลานาน ส่วนประเทศที่เป็นผู้ผลิตหมึกสักร่างกายรายใหญ่ที่สุดของโลก คือ สหรัฐอเมริกา และผลสำรวจความเห็นคนอเมริกันรุ่นใหม่บ่งชี้ว่า ร้อยละ 40 ของกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามต่างมีรอยสักบนร่างกาย และหลายรายตอบว่ามีรอยสักบนร่างกายมากกว่าหนึ่งแห่งด้วย

อย่างไรก็ตาม สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ จะตรวจสอบหมึกที่ใช้ร่างกายในขั้นตอนก่อนการผลิตเท่านั้น โดยจะพิจารณาว่าส่วนผสมที่ใช้เป็นสารควบคุมหรือไม่ แต่ไม่ได้ตรวจสอบถึงผลกระทบของหมึกที่จะส่งผลต่อร่างกาย แต่ในบางมลรัฐมีการออกกฎระเบียบควบคุมการใช้หมึกประเภทนี้บ้างแล้ว โดยเมื่อปี 2005 ศาลในมลรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ตัดสินให้ผู้ผลิตหมึกสักร่างกายต้องระบุส่วนประกอบที่ใช้บนฉลากของผลิตภัณฑ์อย่างละเอียด และต้องมีคำเตือนอย่างชัดเจนว่าการใช้หมึกอาจมีผลให้เกิดมะเร็ง กระทบต่อการตั้งครรภ์และภาวะเจริญพันธุ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog