นิตยสารฉลาดซื้อสุ่มตรวจเฉาก๊วย 30 ตัวอย่างใน กทม. พบเกือบ 50% ไม่เจอสารกันบูด แต่พบ 4 ยี่ห้อที่แจ้งข้อมูลบนฉลากไม่ตรงกับความจริง
นิตยสารฉลาดซื้อ โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สุ่มตรวจตัวอย่างเฉาก๊วยจากพื้นที่ในกรุงเทพมหานครจำนวน 30 ตัวอย่าง พบว่า เกือบ 50% ไม่พบสารกันบูด (เบนโซอิก และซอร์บิก)
เฉาก๊วย 14 ยี่ห้อ ไม่พบสารกันบูดในการทดสอบ ได้แก่
1.เฉาก๊วย อาม่า
2.ละออ
3.เมจิกฟาร์ม ดีเซิ้ดทคัพ
4.แฮปปี้เฉาก๊วย (สั่งซื้อออนไลน์)
5.หวานเย็น
6.ตลาดคลองเตย ไม่มียี่ห้อ ไม่มีชื่อร้าน
7.เฉาก๊วยเกาลูน
8.เฉาก๊วยยูเทิร์น (สั่งซื้อออนไลน์)
9.ตราศรีลำทับ (SRI-LAM-THAP)
10. เฉาก๊วยในน้ำเชื่อม
11.น้ำเฉาก๊วย ตรากรีนเมท
12.เฉาก๊วยชากังราว
13.เฉาก๊วยในน้ำเชื่อม
14.เฉาก๊วยเต็งหนึ่ง
เฉาก๊วย 6 ยี่ห้อ พบสารกันบูดเบนโซอิก น้อยกว่า 1.5 - 1.75 มิลลิกรัม/1 กิโลกรัม ได้แก่
1.ตลาดอมรพันธ์ ไม่มียี่ห้อ ไม่มีชื่อร้าน
2.เฉาก๊วยตราจริงใจ แบบก้อนใหญ่
3. ตลาดบางกะปิ ไม่มียี่ห้อ ไม่มีชื่อร้าน
4.เฉาก๊วยเกาลูน บางกอกเกาลูน (แบบถุง)
5.นายอุ๋ย เฉาก๊วยโบราณ
6.ตลาดบางกะปิ ไม่มียี่ห้อ ร้านข้าวเหนียวมูลแม่สุวิมล
เฉาก๊วย 2 ยี่ห้อ พบสารกันบูดไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/1 กิโลกรัม ได้แก่
1.เมจิกฟาร์ม ดีเซิ้ดทคัพ ถั่วแดงฯ
2. เฉาก๊วย นายอ๋อง
เฉาก๊วย 2 ยี่ห้อ พบสารกันบูดไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/1 กิโลกรัม ได้แก่
1.เฉาก๊วยดอนเมือง (แบบถัง) (68.85 มิลลิกรัม)
2.เฉาก๊วยดอนเมือง (แบบถุง) (79.41 มิลลิกรัม)
เฉาก๊วย 2 ยี่ห้อ พบสารกันบูดไม่เกิน 400 มิลลิกรัม/1 กิโลกรัม ได้แก่
1.เฉาก๊วยตลาดบางแค ไม่มียี่ห้อ (124 มิลลิกรัม)
2. เฉาก๊วยปุ้น & เปา (399.73 มิลลิกรัม)
เฉาก๊วย 3 ยี่ห้อ พบสารกันบูดเกิน 500 มิลลิกรัม/1 กิโลกรัม ได้แก่
1. เฉาก๊วย (jelly glass) (523.08 มิลลิกรัม)
2. แม่ปิงเฉาก๊วย (581.34 มิลลิกรัม)
3. คิด+ เฉาก๊วยธัญพืช (627.91 มิลลิกรัม)
เฉาก๊วย 1 ยี่ห้อ พบสารกันบูดเบนโซอิก 1,387.37 มิลลิกรัม/1 กิโลกรัม คือ เฉาก๊วยอาโก ศูนย์การค้าบางประกอก ที่พบปริมาณเบนโซอิกเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม
นอกจากนี้ยังพบว่าการแสดงฉลาก มีข้อสังเกตดังนี้
- ตัวอย่างที่พบสารกันบูดเบนโซอิกและหรือซอร์บิก จำนวน 16 จาก 30 ตัวอย่าง มีเพียง 4 ตัวอย่างที่แจ้งข้อมูลบนฉลาก ว่า มีการใช้สารกันบูด ประกอบด้วย
1.ยี่ห้อ ปุ้น & เปา แจ้งว่า ใช้วัตถุกันเสีย INS202, 211 หรือ โปแตสเซียม ซอร์เบต และ โซเดียม เบนโซเบต ซึ่งเป็นสารในกลุ่มสารกันเสีย เบนโซเอต ทั้ง 2 ชนิด โดยผลทดสอบพบ เบนโซอิก 219.56 มก./กก. และพบซอร์บิก 180.17 มก./กก.
2.เฉาก๊วย (jelly glass) ของ นิตยาวุ้นมะพร้าว แจ้งว่า ใช้วัตถุกันเสีย โซเดียมเบนโซเอท (INS211) ผลทดสอบพบ เบนโซอิก 292.03 มก./กก. และพบซอร์บิก 231.05 มก./กก.
3.ยี่ห้อ แม่ปิงเฉาก๊วย แจ้งว่า ใช้วัตถุกันเสียโซเดียมเบนโซเอท (INS211) ผลทดสอบพบ เบนโซอิก 321.05 มก./กก. และพบซอร์บิก 260.19 มก.กก.
4.เฉาก๊วยอาโก ศูนย์การค้าบางปะกอก แจ้งว่า มีโซเดียมเบนโซเอท 0.02% ผลทดสอบพบ เบนโซอิก 1,387.37 มก./กก.
- ฉลากสินค้าที่แจ้งว่าไม่มีวัตถุกันเสีย แต่จากผลทดสอบพบว่า มีการปนเปื้อน มีกลุ่มตัวอย่างที่แจ้งว่า “ไม่มีวัตถุกันเสีย” บนฉลากแต่จากผลทดสอบพบว่า มีการปนเปื้อน ได้แก่
1. ยี่ห้อ นายอุ๋ย เฉาก๊วยโบราณ ผลทดสอบพบ เบนโซอิก น้อยกว่า 1.50 มก./กก.
2. ยี่ห้อ เมจิกฟาร์ม ดีเซิ้ดทคัพ ขนมเยลลี่คาราจีแนน ผสมบุกผง ถั่วแดงและน้ำเฉาก๊วย 15% ผลทดสอบพบ เบนโซอิก 6.53 มก./กก. และพบซอร์บิก 3.74 มก./กก.
3. ยี่ห้อ เฉาก๊วยดอนเมือง (แบบถัง) ผลทดสอบพบ เบนโซอิก 68.85 มก./กก.
4. ยี่ห้อ เฉาก๊วยดอนเมือง (แบบถุง) ผลทดสอบพบ เบนโซอิก 79.41 มก./กก.
ตัวอย่างเฉาก๊วยที่ถูกนำมาตรวจสอบ
สำหรับมาตรฐานการใช้สารกันบูดใน เฉาก๊วย นั้นเฉาก๊วย จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับผลิตภัณฑ์ เยลลี่ เพราะมีกรรมวิธีในการผลิตในลักษณะเดียวกัน ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 213) พ.ศ. 2543 เรื่อง แยม เยลลี่ และมาร์มาเลด ในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท นิยามความหมายของ เยลลี่ ไว้ว่า ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากน้ำผลไม้ล้วนที่ได้จากการคั้นสดหรือสกัดจากผลไม้ หรือทำจากน้ำผลไม้ล้วนที่ผ่านกรรมวิธี หรือทำให้เข้มข้น หรือแช่แข็ง ซึ่งผ่านการกรองและผสมกับ น้ำตาลทำให้มีความข้นเหนียวพอเหมาะ (ส่วนเฉาก๊วยทำจากพืชที่เรียกว่า หญ้าเฉาก๊วยหรือGrass Jelly )
สำหรับข้อกำหนดเรื่องการใช้สารกันบูด กรดเบนโซบิก และ กรดซอร์บิก ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 4) กำหนดไว้ อาหารกลุ่ม แยม เยลลี่ และมาร์มาเลด สามารถใช้ กรดเบนโซอิก ได้สูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัม ส่วน กรดซอร์บิก สามารถใช้ได้สูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัม เช่นกัน
ทั้งนี้หากมีการใช้วัตถุเจือปนอาหารในกลุ่มหน้าที่เดียวกันรวมกันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป ปริมาณรวมที่ใช้ต้องไม่เกินปริมาณสูงสุดที่กฎหมายอนุญาตของสารตัวใดตัวหนึ่ง (อิงตัวที่ปริมาณน้อยที่สุด) ซึ่งในกรณีของ เฉาก๊วย อนุญาตให้ใช้สารกันเสีย กรดเบนโซบิก และ กรดซอร์บิก รวมกันสูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม
สำหรับอันตรายของ เบนโซอิก และ ซอร์บิก เป็นกลุ่มสารกันเสียที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้ในอาหาร ซึ่งนิยมใช้ใน แยม เยลลี่ ผักผลไม้ดอง เครื่องดื่ม น้ำหวาน น้ำอัดลม แต่หากได้รับสารทั้ง 2 ชนิดจากการรับประทานอาหารในปริมาณสูง อาจส่งผลเสียต่อร่างกายทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย วิงเวียน และปวดศีรษะ