ไม่พบผลการค้นหา
กรมบัญชีกลางออกหลักเกณฑ์ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนสำหรับข้าราชการและพนักงานของรัฐ 'เจ็บป่วยฉุกเฉิน มีสิทธิทุกที่' ให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องทดรองจ่ายเงินในระยะ 72 ชั่วโมงแรก มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 

กรมบัญชีกลางออกหลักเกณฑ์ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนสำหรับข้าราชการและพนักงานของรัฐ 'เจ็บป่วยฉุกเฉิน มีสิทธิทุกที่' ให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องทดรองจ่ายเงินในระยะ 72 ชั่วโมงแรก มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 

นางสาวอรนุช ไวนุสิทธิ์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า เพื่อให้การเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการและพนักงานของรัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP)” 

กรมบัญชีกลางจึงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยใน สถานพยาบาลของเอกชนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน พ.ศ. 2560 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 1 เมษายน 2560

ทั้งนี้ การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตจะแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ กรณีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนที่ไหนก็ได้ที่ใกล้ที่สุด โดยไม่ต้องทดรองจ่ายเงินในระยะ 72 ชั่วโมงแรก และหากต้องเข้ารับการรักษาเกินกว่า 72 ชั่วโมง ให้ทดรองจ่ายในส่วนที่เกินกว่า 72 ชั่วโมงไปก่อน แล้วนำใบเสร็จเบิกกับต้นสังกัดในภายหลัง 

โดยการเบิกค่ารักษาพยาบาลจะแบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1.กรณียังไม่พ้นภาวะวิกฤต และไม่สามารถย้ายไปโรงพยาบาลของรัฐได้ จะเบิกได้ครึ่งหนึ่งของเงินที่จ่ายไปจริง 2.กรณีพ้นภาวะวิกฤตและสามารถย้ายกลับไปยังโรงพยาบาลของรัฐได้แล้ว แต่โรงพยาบาลของรัฐไม่มีเตียงรองรับนั้น กรมบัญชีกลางจะให้เบิกได้ครึ่งหนึ่งของเงินที่จ่ายไปจริงแต่ไม่เกิน 8,000 บาท 

โดยทั้ง 2 กรณี อนุญาตให้เบิกค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าอวัยวะเทียม และอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค ได้ในอัตราของทางราชการ หากแพทย์วินิจฉัยว่าพ้นภาวะวิกฤตและสามารถย้ายไปยังโรงพยาบาลรัฐได้ แต่ปฏิเสธการย้าย ผู้ป่วยจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหลังจากพ้นภาวะวิกฤตเอง

โฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าวด้วยว่า สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีเหลือง) และผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง (สีเขียว) สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ครึ่งหนึ่งของเงินที่จ่ายไปจริง แต่ไม่เกิน 8,000 บาท และสามารถเบิกค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค ได้เช่นเดียวกับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ โดยนำใบเสร็จและใบประเมินผลคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินมาเบิกกับต้นสังกัดในภายหลัง ซึ่งในกรณีฉุกเฉินนั้นจะต้องเป็นผู้ป่วย
ที่บาดเจ็บ หรือป่วยกะทันหัน และต้องผ่านการพิจารณาจากระบบคัดแยกของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จึงสามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้ 

ทั้งนี้ การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีฉุกเฉิน จะไม่รวมการนัดมาตรวจรักษาพยาบาล หรือการนัดมาทำหัตถการ

"การกำหนดหลักเกณฑ์ในครั้งนี้ กรมบัญชีกลางได้คำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวจะได้รับ และเพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณด้านสุขภาพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และเหมาะสม"นางสาวอรนุชกล่าว

รายงานโดย อังศุมาลิน บุรุษ

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog