สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสเข้าร่วมนำเสนอบทความในการประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 11 จัดโดย มศว.ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นอกจากได้ขึ้นเวทีนำเสนอวิทยานิพนธ์ที่กำลังเขียนอยู่ ยังได้มีโอกาสร่วมฟังการนำเสนอบทความที่น่าสนใจอีกหลายชิ้น
หนึ่งในชิ้นที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์วัฒนธรรมโดยตรง คือ งานของ ดร.เวฬุรีย์ เมธาวีวินิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนำเสนอบทความในชื่อ“มองการปฏิวัติสยาม 2475 ผ่านเรื่องเล่าและผู้หญิงในละครโทรทัศน์”
ข้อเสนอของงานชิ้นนี้ช่วยให้เข้าใจสิ่งที่ผู้มีอำนาจกำลังพยายามทำอยู่ในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี พวกเขากำลังพยายามปรับภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม โดยการสร้างให้ฝ่ายประชาธิปไตยเป็นตัวร้ายไปจนถึงทำให้ประชาธิปไตย เป็นอุดมการณ์อันไม่พึงปรารถนาของสังคมนี้
“ผู้ก่อการ 2475” จึงไม่เพียงเป็นตัวร้ายในทางประวัติศาสตร์ แต่เป็นตัวร้ายในโลกละครไปด้วยการเป็นตัวร้ายในทางวัฒนธรรม เป็นของที่น่ากลัวอย่างยิ่งเพราะความพยายามในการผลิตซ้ำภาพเช่นนี้ จะช่วยทำให้อุดมการณ์บางชุดซึมลึกในความรู้สึกนึกคิดของคนไทยไปอีกนาน แม้ว่าจะมีงานวิชาการหลายชิ้นทำลายมายาคติของการปฏิวัติ 2475 ลงไปแล้ว โดยเฉพาะมายาคติที่ว่าด้วยการชิงสุกก่อนห่าม
อ.เวฬุรีย์ ศึกษาภาพของ “คณะราษฎร” ในละครโทรทัศน์ เธอหยิบบทละครหลายชิ้นขึ้นมาวิเคราะห์ได้น่าสนใจ เช่น เธอพบว่า การปฏิวัติ 2475 และกบฎ ร.ศ.130 ถูกนำเสนอในฐานะตัวร้ายอยู่เป็นระยะในละครโทรทัศน์ คนเหล่านี้ “ไม่เข้าใจอุดมการณ์อย่างแท้จริง” “คนหัวใหม่” “ไม่เข้าใจสังคมไทยดีพอ” “ต้องการเปลี่ยนแปลงผลประโยชน์เพื่อตนและพวกพ้อง” ละครเหล่านี้ช่วยตอกย้ำวาทกรรมชิงสุกก่อนห่ามให้เข้มข้นขึ้น
ละครหลายเรื่องที่เธอศึกษา แม้จะเป็นละครที่มีบริบทอยู่ในยุค 2475 หรือได้รับอิทธิพลจากการปฏิวัติ 2475 แต่เมื่อถูกสร้างในยุคร่วมสมัย ก็มักมีเสียงของคนเสื้อแดง เสียงของการเมืองสีเสื้อ เสียงของการประณามนักการเมืองฝั่งประชาธิปไตยเสียงของการโจมตีคนที่ล้มเจ้า อยู่ในละครเหล่านั้นเสมอ
เช่น สี่แผ่นดิน (2546) หรือฉบับหม่อมน้อย ที่โจมตีระบอบประชาธิปไตย ผ่านบทสนทนาของตัวละครว่าเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว บ้านเมืองกลับไม่ได้มีความเท่าเทียมกันอย่างที่คิด ระบบพวกพ้องเส้นสายยังเข้มข้นแม้ในหมู่ผู้ก่อการ , สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล (2553,2557,2560) เล่าเรื่องคณะราษฎรในฐานะ “กบฎร้ายแรง” “คนเนรคุณ” และไม่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ละครเวทีเรื่องนี้จึงไปไกลมากกว่าการประณามผู้ก่อการ 2475 เพราะมันมีนัยกระทบกลุ่มการเมืองบางกลุ่มในยุคร่วมสมัยโดยตรง
มาลัยสามชาย (2553) มีการโจมตีนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยผ่านบทสนทนาของตัวละคร เช่น กรณีหยิบคำตอบของ “เฉลิม อยู่บำรุง” เรื่อง “ไอ้ปี้ด”ขึ้นมาล้อเลียนในละคร ,เพชรกลางไฟ (2560) จัดวางภาพของ กบฎร.ศ.130 ว่าตรงข้ามกับความจงรักภักดี ความกตัญญูกตเวที คนหัวนอกที่ไม่เข้าใจสังคมไทยดีพอ แบบที่ผู้ก่อการ 2475 เป็นอยู่
ละครบางเรื่องเมื่อกลับไปอ่านตัวบทนวนิยายจะพบว่าไม่ปรากฎฉากที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติ 2475 แต่กลับมีการเพิ่มฉากที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวเข้าไปในละครเช่น ขมิ้นกับปูน (2559) ใช้ลานพระบรมรูปทรงม้าเป็นฉากเริ่ม ตามด้วยเสียงของผู้ก่อการ 2475 ก่อนที่ตัวละครหลักจะอธิบายถึงเหตุการณ์นั้นว่า “มัน(พระที่นั่งอนันตสมาคม) ไม่ใช่ที่ของพ่ออีกแล้ว พ่อไม่อยากเข้าไปรับรู้อะไรทั้งสิ้น มันแปรไปจนสิ้นราก”, แต่ปางก่อน (2560) เพิ่มฉากบทสนทนาระหว่าง “เสด็จในกรมฯ” และ “ทหาร” รายหนึ่งซึ่งเป็นภาพตัวแทนของการปฏิวัติ บทสนทนานี้ มีคำว่า “ล้มเจ้า” และพูดถึงการยึดวังโดยพวกทหาร สอดคล้องกับการโจมตีคณะราษฎรในโลกออนไลน์ในช่วงเวลานั้น เรื่องการยึดวังวินด์เซอร์ และทุบสร้างใหม่เป็นสนามกีฬาศุภชลาศัย เมื่อฟังการนำเสนองานชิ้นนี้ ทำให้ผมคิดถึงแนวโน้มของการผลิตงานวัฒนธรรมในสังคมไทยที่อาจจะเกิดต่อไปในระยะยาวได้สองเรื่อง
(หนึ่ง) ผู้ก่อการ และการปฏิวัติ 2475 จะถูกประณามหนักขึ้นในอนาคต แต่ยังคงเปิดโอกาสให้ผู้พลั้งผิดได้สำนึกผิดอยู่เสมอ , เมื่อพิจารณา สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล (2560) ฉบับที่ทำการแสดงอยู่ในขณะนี้ แม้จะยังคงมีการประณามผู้ก่อการ 2475 ด้วยวาทกรรมชิงสุกก่อนห่าม แต่ก็มีการเพิ่มประเด็นเรื่องระบบดีแล้ว แต่คนไม่ดีเอง หรือนัยหนึ่ง ระบอบประชาธิปไตยที่ “อั้น” และพวก นำเข้ามาเป็นของดีจริงอยู่ แต่เพราะได้ผู้ปกครองที่เป็นคนโลภ คนมีกิเลสเข้ามาอยู่ในอำนาจ และใช้ระบบในการแสวงหาผลประโยชน์ บ้านเมืองจึงเละเทะ และการปฏิวัติจึงล้มเหลวในที่สุดสำคัญจึงอยู่ที่การหาคนดีเข้ามาปกครองบ้านเมือง
ระบอบประชาธิปไตย จึงเป็นระบอบการปกครองที่ยอมรับได้ ที่เป็นไปได้ในสังคมไทย แต่ต้องพ่วงด้วยเงื่อนไขการเลือกคนดีเข้ามาสู่ระบบ
บทพูดทำนองนี้ เปิดโอกาสให้ตัวร้าย หรือ ผู้ก่อการ 2475 มีที่ยืนในสังคม มีที่ให้กลับตัวกลับใจ กลับมาเป็นคนไทยที่พึงปรารถนา ถึงที่สุดแนวโน้มการสร้างละครในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับ 2475 ตัวละครฝั่งร้ายทั้งหลายจึงมีทิศทางที่จะถูกประณามหนักหน่วงขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็จะยิ่งเปิดช่องให้ผู้ก่อการทั้งหลายได้สำนึกผิดง่ายขึ้น เพราะเมื่อการตัดสินใจเลือกปฏิวัติ 2475 เป็นสิ่งผิดพลาดจะมีอะไรดีกว่า ให้ผู้มีอำนาจ มอบช่วงเวลาให้คนผิดทั้งหลายได้ตัดสินใจเลือกใหม่ การเขียนบทละครแบบนี้ยิ่งทำให้ผู้มีอำนาจ หรือตัวละครฝ่ายดีทั้งหลายมีความชอบธรรมในการปกครองมากยิ่งขึ้น
คิดไปคิดมาก็เหมือนกระบวนการปรองดองที่พยายามดึงผู้เห็นต่างทางการเมืองเข้ามาสู่อ้อมกอดในนามความเป็นไทยอย่างที่ปรากฎอยู่ขณะนี้
(สอง) อุตสาหกรรมเพื่อผลิตซ้ำความเป็นไทย : อ.เวฬุรีย์ชี้ว่าที่ภาพของคณะราษฎรเป็นเช่นนี้ก็คงเป็นเพราะละครไทยถูกสร้างโดยผู้ผลิตละครที่สนับสนุนฝั่งอนุรักษ์นิยม,เทคนิค การทำละครที่ต้องสร้างฝั่งร้าย ฝั่งดีให้ชัด เมื่อสังคมไทยมีหน้าตาเช่นนี้ คณะราษฎรจึงถูกผลักให้เป็นตัวร้ายอย่างชัดเจน ไปจนถึง ความเกรงกลัวในเรื่องการเซ็นเซอร์และการแบนละคร ที่ทำให้ผู้ผลิตเลือกเซ็นเซอร์ตัวเอง
จริงอยู่ว่ากฎหมายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตละครต้องผลิตงานแบบที่ได้ไล่เรียงไป แต่ผมอยากชวนคิดต่อว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว อุตสาหกรรมเพื่อผลิตซ้ำความเป็นไทย ได้ไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ลงตัวกับผู้มีอำนาจ และโครงสร้างอำนาจ ซึ่งมีทุนและรางวัลอยู่ในมืออย่างไม่จำกัด และของเหล่านี้เองที่ทำให้ภาพของคณะราษฎร รวมถึงฝ่ายประชาธิปไตยในสังคมนี้้ออกมาร้ายอย่างที่ปรากฎอยู่