ไม่พบผลการค้นหา
การลงนามคำสั่งยกเลิกโครงการ DACA ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งผลให้ 'ดรีมเมอร์' เกือบ 800,000 คน เสี่ยงต่อการถูกเนรเทศ โดยนายทรัมป์เปิดเผยว่า สาเหตุของการลงนามคำสั่งในครั้งนี้ คือ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาวอเมริกัน ซึ่งก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า ชาวอเมริกันจะได้ประโยชน์จากการเนรเทศดรีมเมอร์จริงหรือไม่? และดรีมเมอร์จะได้รับผลกระทบเช่นไร?

การลงนามคำสั่งยกเลิกโครงการ DACA ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งผลให้ 'ดรีมเมอร์' เกือบ 800,000 คน เสี่ยงต่อการถูกเนรเทศ โดยนายทรัมป์เปิดเผยว่า สาเหตุของการลงนามคำสั่งในครั้งนี้ คือ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาวอเมริกัน ซึ่งก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า ชาวอเมริกันจะได้ประโยชน์จากการเนรเทศดรีมเมอร์จริงหรือไม่? และดรีมเมอร์จะได้รับผลกระทบเช่นไร?

เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหาร ยกเลิกโครงการคุ้มครองผู้อพยพวัยเยาว์ที่เดินทางเข้าสหรัฐฯ หรือ DACA ของนายบารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดี ที่ประกาศใช้เมื่อปี 2012 ส่งผลให้ 'ดรีมเมอร์' เกือบ 800,000 คน ที่ลงทะเบียนกับ DACA เสี่ยงต่อการถูกเนรเทศ โดยนายทรัมป์ได้เปิดเผยถึงสาเหตุของการลงนามคำสั่งในครั้งนี้ว่า เพื่อผลประโยชน์ของชาวอเมริกันที่ว่างงาน เผชิญความยากลำบาก และถูกลืม พร้อมระบุว่า การยกเลิก DACA เป็นการแก้ปัญหาในระยะยาวที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม คำสั่งยกเลิก DACA ก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า ชาวอเมริกันจะได้ประโยชน์จากการเนรเทศดรีมเมอร์จริงหรือไม่? และ 'ดรีมเมอร์' จะได้รับผลกระทบเช่นไร?

ดรีมเมอร์ คือ ใคร?

ดรีมเมอร์ หมายถึง กลุ่มผู้อพยพที่เดินทางเข้าสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมายก่อนอายุ 16 ปี และได้ลงทะเบียนกับ DACA ทำให้สามารถพำนัก ศึกษา และประกอบอาชีพในสหรัฐฯ ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นเวลา 2 ปี โดยไม่ต้องเสี่ยงต่อการถูกเนรเทศ และหลังจากที่ใบอนุญาตของ DACA หมดอายุ ก็สามารถยื่นคำร้องขอต่ออายุได้ โดยทางการสหรัฐฯ จะทำการตรวจสอบประวัติอาชญากร ก่อนอนุมัติคำร้องในแต่ละครั้ง

ปัจจุบัน ในสหรัฐฯ มี 'ดรีมเมอร์' เกือบ 8 แสนคน ซึ่งผลสำรวจของสถาบันบรูคกิงส์เมื่อปี 2013 พบว่า 2 ใน 3 ของดรีมเมอร์เหล่านี้ เดินทางมายังสหรัฐฯ ก่อนอายุ 10 ปี ขณะที่อีก 1 ใน 3 เดินทางเข้าสหรัฐฯ ก่อนอายุ 6 ปี โดยขณะนี้ ดรีมเมอร์ส่วนใหญ่มีอายุไม่เกิน 31 ปี และประมาณ 3 ใน 4 ของดรีมเมอร์ทั้งหมดมาจากเม็กซิโก รองลงมา คือ เอลซัลวาดอร์ และกัวเตมาลา ส่วนมลรัฐที่มีดรีมเมอร์พำนักมากที่สุด คือ แคลิฟอร์เนีย รองลงมา คือ เท็กซัส และนิวยอร์ก

ข้อมูลของสถาบันนโยบายผู้อพยพในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อปี 2014 พบว่า ร้อยละ 24 ของดรีมเมอร์มีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย สูงกว่าสัดส่วนของประชากรชาวอเมริกันในวัยเดียวกัน ที่เข้ารับการศึกษาในมหาวิทยาลัย ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 20 ส่วนข้อมูลของสถาบัน Cato และศูนย์เพื่อความก้าวหน้าอเมริกันพบว่า ในปัจจุบัน ดรีมเมอร์ร้อยละ 91 มีงานทำ และร้อยละ 6 เป็นเจ้าของกิจการ ขณะที่ดรีมเมอร์ถึงร้อยละ 55 มียานพาหนะเป็นของตนเอง

นอกจากนี้ ดรีมเมอร์ยังเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที��มีบทบาทสำคัญต่อภาคธุรกิจและเทคโนโลยีของสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก โดยร้อยละ 27 ของบริษัทยักษ์ใหญ่ 25 อันดับแรก จาก 500 บริษัทชั้นนำที่ได้รับการจัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์จูน มีการว่าจ้างดรีมเมอร์เป็นพนักงานประจำ ส่วนบริษัทแอปเปิลมีพนักงานประจำที่เป็นดรีมเมอร์ 250 คน และบริษัทไมโครซอฟต์มีพนักงานที่เป็นดรีมเมอร์ 39 คน


ชาวอเมริกันได้รับประโยชน์จากการเนรเทศ 'ดรีมเมอร์'?

ผลสำรวจของสถาบันนโยบายทางภาษีและเศรษฐกิจเมื่อปี 2016 พบว่า ในแต่ละปี ผู้อพยพผิดกฎหมายในสหรัฐฯ จ่ายภาษีรวมกันถึง 12,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 4 แสนล้านบาท ขณะที่ศูนย์เพื่อความก้าวหน้าอเมริกันเปิดเผยว่า หากดรีมเมอร์ถูกเนรเทศออกจากสหรัฐฯ จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจถึง 460,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 15 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ภาคธุรกิจต้องมีรายจ่ายในการว่าจ้างพนักงาน ทดแทนตำแหน่งงานของดรีมเมอร์รวมกันถึง 3,400 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ การที่ดรีมเมอร์เกือบ 800,000 คนหายไปจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังหมายความว่าในแต่ละสัปดาห์ จะมีตำแหน่งงานที่ว่างลงถึง 7,234 ตำแหน่ง ขณะที่โฆษกองค์กรการสอนเพื่ออเมริกา ซึ่งเป็นองค์กรด้านการศึกษายังเปิดเผยว่า จะมีนักเรียนราวๆ 10,000 คนใน 11 มลรัฐ ที่ได้รับผลกระทบจากการที่ครูซึ่งเป็นดรีมเมอร์ถูกเนรเทศ


'ดรีมเมอร์' ได้รับผลกระทบอย่างไร?

การลงนามคำสั่งยกเลิกโครงการ DACA ส่งผลให้กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ ต้องปิดรับคำร้องขอเข้าร่วมโครงการ DACA โดยทันที อย่างไรก็ตาม สำหรับดรีมเมอร์ที่ลงทะเบียนกับ DACA ไว้แล้ว และใบอนุญาตกำลังจะหมดอายุภายใน 6 เดือน หรือก่อนวันที่ 5 มีนาคม 2018 ประมาณ 200,000 คน จะยังสามารถยื่นคำร้องเพื่อขอต่ออายุใบอนุญาตได้ แต่สำหรับผู้อพยพที่ใบอนุญาตหมดอายุหลังวันที่ 5 มีนาคม 2018 จะต้องรอว่า สภาคองเกรสจะมีการลงมติออกกฎหมายคุ้มครองผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกโครงการ DACA หรือไม่

ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ที่สภาคองเกรสไม่มีการออกมาตรการเพื่อคุ้มครองดรีมเมอร์ จะส่งผลให้ดรีมเมอร์เกือบ 300,000 คน ต้องสูญเสียสถานะและอาจถูกเนรเทศภายในปี 2018 จากนั้นระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2019 จะมีดรีมเมอร์อีกราวๆ 320,000 คน ที่ต้องสูญเสียสถานะและอาจถูกเนรเทศ และภายในเดือนมีนาคม 2020 ดรีมเมอร์ 800,000 คนจะสูญเสียสถานะและถูกเนรเทศทั้งหมด ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ดรีมเมอร์ ซึ่งเติบโตในสหรัฐฯ เหล่านี้จะสามารถปรับตัวเข้ากับประเทศต้นทางได้มากน้อยเพียงใด

ส.ส.และส.ว.พรรคเดโมแครตร่วมแถลงข่าวต่อต้านคำสั่งยกเลิกโครงการ DACA

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเป็นไปได้ว่า สมาชิกสภาคองเกรสทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน อาจจับมือกันผ่านกฎหมายแห่งความฝัน (Dream Act) หรือกฎหมายคุ้มครองดรีมเมอร์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่รัฐบาลที่ผ่านมาพยายามผลักดันหลายครั้งนับตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา แต่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรส โดยครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2008 กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาและตกไป จนเป็นเหตุให้นายโอบามา ต้องลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารโดยไม่ผ่านสภาคองเกรส เพื่อให้มีโครงการ DACA เพื่อคุ้มครองดรีมเมอร์แทน

ภายหลังจากที่นายทรัมป์ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารยกเลิกโครงการ DACA นายดิก เดอร์บิน ส.ว. มลรัฐอิลลินอยส์ พรรคเดโมแครต และนายลินด์ซีย์ เกรแฮม ส.ว. มลรัฐเซาท์แคโรไลนา พรรครีพับลิกัน ได้แถลงข่าวแสดงความไม่เห็นด้วยต่อคำสั่งของนายทรัมป์ร่วมกัน พร้อมระบุว่า สมาชิกสภาคองเกรสพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันจะจับมือกัน ผ่านกฎหมายอนุญาตให้ดรีมเมอร์สามารถพำนักในสหรัฐฯ ได้อย่างถาวร รวมไปถึงได้รับสถานะความเป็นพลเมือง

นอกจากนี้ ก่อนที่นายทรัมป์จะลงนามคำสั่งยกเลิกโครงการ DACA อัยการสูงสุดจาก 10 มลรัฐได้ออกมาขู่ว่า จะยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อให้มีคำพิพากษาระงับคำสั่งฝ่ายบริหารของนายทรัมป์ เนื่องจากขัดรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ และกฎหมายของมลรัฐ ซึ่งทำให้การลงนามคำสั่งยกเลิกโครงการ DACA ของนายทรัมป์ในครั้งนี้ อาจถูกยื่นฟ้องศาลคัดค้านเช่นเดียวกับคำสั่งห้ามพลเมืองจาก 6 ประเทศมุสลิมเข้าสหรัฐฯ ก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม
ภาคเอกชนและการศึกษาสหรัฐฯ สนับสนุน"ดรีมเมอร์"
โอบามาประณามทรัมป์เลิกคุ้มครองผู้อพยพเด็ก
ทรัมป์ยกเลิกโครงการคุ้มครองผู้อพยพวัยเยาว์กว่า 8 แสนคน

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog