ไม่พบผลการค้นหา
'พรรณิการ์ วานิช' ผู้สื่อข่าวของวอยซ์ทีวี พูดคุยกับ 'พุทธณี กางกั้น' นักวิจัยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนโรฮิงญา จากกลุ่ม Fortify Rights หนึ่งในองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศซึ่งทำวิจัยและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับชาวโรฮิงญา เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่

สถานการณ์ความรุนแรงรอบใหม่ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ของเมียนมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ที่ต้องอพยพลี้ภัยออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก แต่รัฐบาลเมียนมามีคำสั่งห้ามไม่ให้คนภายนอกเข้าไปในพื้นที่ 

'พรรณิการ์ วานิช' ผู้สื่อข่าวของวอยซ์ทีวี ได้พูดคุยกับ 'พุทธณี กางกั้น' นักวิจัยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนโรฮิงญา จากกลุ่ม Fortify Rights หนึ่งในองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศซึ่งทำวิจัยและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับชาวโรฮิงญา เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ในครั้งนี้

+ ทำไมข้อมูลความเสียหายในสถานการณ์ล่าสุดถึงมีหลายกระแส ไม่สามารถยืนยันตัวเลขต่างๆ ได้อย่างชัดเจน

เรื่องเก็บข้อมูลทำได้ยาก เพราะรัฐบาลเมียนมาไม่อนุญาตให้คนภายนอกเข้าไปในพื้นที่รัฐยะไข่ บางเมืองเข้าไปได้ แต่เมืองที่เกิดปัญหาจะเข้าไม่ได้ คนโรฮิงญาก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเดินทางออก ถ้าจะเดินทางออกต้องทำเรื่องขอ ทั้งที่เขาก็อยู่ในประเทศของตัวเอง ซึ่งแม้จะไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้ แต่เราสามารถเข้าถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบได้โดยตรง เพราะฉะนั้นข้อมูลที่ได้จะมาจากข้อมูลรอบๆ ที่ใกล้ที่สุดคือชายแดนบังกลาเทศ ที่เมืองค็อกซ์บาซาร์ ซึ่งมีแค่แม่น้ำสายเล็กๆ กั้นระหว่างชายแดนในยะไข่ และเป็นที่ตั้งของค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา 

ข้อมูลที่ฟอร์ติฟายไรท์ได้มาส่วนใหญ่จะมาจากคนที่หนีภัยออกมาจากพื้นที่เกิดเหตุ และก็อาจจะมีข้อมูลในเรื่องของภาพถ่ายทางอากาศ รวมถึงนักข่าวพลเมืองในพื้นที่ แต่ก็มีปัญหาอยู่บ้างเรื่องความแน่นอนชอบธรรมของข้อมูล เพราะมีทั้งภาพจริง ภาพไม่จริง มีการเอาเหตุการณ์หลายๆ เหตุการณ์มารวมกัน แต่กรณีของฟอร์ติฟายไรท์ จะไม่โพสต์และส่งต่อภาพที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ เพราะฉะนั้นภาพที่เราเผยแพร่ส่วนใหญ่จะเป็นภาพที่ได้มาเอง และต้องตรวจสอบทุกขั้นตอน 

ส่วนระเบียบวิธีที่จะได้ข้อมูลมา ต้องไปสัมภาษณ์คนถูกกระทำ ซึ่งทางเราต้องสร้างความชัดเจนว่าเขาถูกละเมิดสิทธิ์จริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่เขาคิดไปเอง เพราะฉะนั้นต้องถามเขาว่าเกิดอะไรขึ้น ต้องให้เล่าตั้งแต่หนึ่งถึงสิบ เล่าจบแล้วก็ยังต้องถามซ้ำอีกว่าเห็นจริงหรือไม่ เหตุการณ์เกิดขึ้นตัวเขาเองหรือว่าได้ฟังมา เพราะฉะนั้นการพิสูจน์ความจริงจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

+ มีคนกล่าวว่าสื่อตะวันตกและองค์กรระหว่างประเทศร่วมมือกันใส่ร้ายรัฐบาลเมียนมากรณีรัฐยะไข่

อยากให้แยกว่าสิ่งที่เราทำ ไม่ได้จะบอกว่าคนผิดคือใคร เราไม่ได้จะบอกว่าคนพม่าเลวร้าย หรือรัฐบาลคือผู้กระทำการอันเลวร้าย แต่เราบอกเล่าว่า "มันกำลังเกิดอะไรในพื้นที่" เราเล่าจากสิ่งที่เราได้เก็บข้อมูลมา เพราะฉะนั้นมันปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือการกระทำของเจ้าหน้าที่ฝั่งรัฐ ซึ่งเราเข้าใจว่าฝ่ายรัฐพยายามจะแก้ปัญหาที่มีผู้ใช้ความรุนแรง แต่รัฐบาลก็ต้องไม่ทำพลเรือน 

หน้าที่ของรัฐบาลพม่าก็คือ ถ้ารัฐบาลเชื่อว่ามีการใช้ความรุนแรงในพื้นที่โดยกลุ่มติดอาวุธ ก็จะต้องไปดูว่าใครที่เป็นผู้ติดอาวุธ และนำเขาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ไม่ใช่วิธีการทำร้ายพลเรือนที่เขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

+ เบงกาลีกับโรฮิงญา ต่างกันอย่างไร ทำไมรัฐบาลเมียนมาไม่ยอมให้เรียกโรฮิงญา 
คำว่าโรฮิงญากลายเป็นคำทางการเมือง และมีนัยยะทางการเมืองในฝั่งพม่า ถ้าพูดถึงเรื่องของชาวโรฮิงญา โดยประวัติศาสตร์ เขาก็คือกลุ่มคนที่มาพร้อมกับกองทัพอังกฤษ ซึ่งก็เหมือนกับในไทยที่มีคนมาพร้อมกับกองทัพอังกฤษ ซึ่ง ณ วันนี้เขาก็มีลูกมีหลานและทุกคนเป็นคนไทย แม้ว่าพ่อแม่เขาอาจจะมาจากปากีสถานหรืออะไรก็ตาม ซึ่งเป็นเหตุการณ์เดียวกันกับไทย แต่พม่ามีความซับซ้อนกว่า เพราะอย่างกรณีของไทย ไม่ว่าคุณจะเป็นลาหู่ ลีซู หรืออะไร ในบัตรประชาชนทุกคนคือคนไทย แต่ในพม่า ในบัตรประชาชน คุณจะต้องระบุว่าคุณเป็นหนึ่งใน 135 ชาติพันธุ์ เพราะฉะนั้นชาติพันธุ์กลุ่มย่อยเป็นเรื่องสำคัญกับคนพม่า 

ความเป็นโรฮิงญามีความสำคัญ และก็เคยถูกยอมรับมาก่อน จนกระทั่งปี 1982 ที่ทางอดีตรัฐบาลเนวินของเมียนมาได้ยกเลิกจาก 140 ชาติพันธุ์เหลือเพียง 135 ชาติพันธุ์ และโรฮิงญาเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ถูกตัดออกไป มีความพยายามที่จะบอกว่าไม่ใช่ ไม่มี แต่ถ้าถามคนโรฮิงญาเอง เขาก็อยากให้เรียกตัวเขาเองว่าโรฮิงญา และเขาก็คือพลเมืองประเทศเมียนมา ถ้าเราผลักเขาไปเป็นเบงกาลี ซึ่งหมายถึงคนบังกลาเทศ ก็ต้องถามไปว่าบังกลาเทศจะยังรับเขาอยู่ไหม ซึ่งบังกลาเทศก็ไม่รับ เพราะพวกเขาไปอยู่นานตั้งหลายชั่วอายุคน เหมือนวันนี้คนจีนที่มาอยู่ในไทยหลายชั่วอายุคนก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกลับถิ่นฐาน และคนไทยเองก็ต้องคิดเหมือนกันว่าจริงๆ แล้วมีกี่เปอร์เซ็นต์ที่เกิดในเมืองไทย ในแผ่นดินไทย หรือเป็นคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ 

+ คนไทยหลายคนรู้สึกว่าไม่ควรยุ่งกับปัญหานอกประเทศ และถามว่า "เอาตัวเองให้รอดก่อนไหม?"
ทำไมเราถึงต้องสนใจเรื่องโรฮิงญา ก็อยากให้ย้อนกลับไปมองว่าเมื่อสองสามปีก่อน เรื่องค้ามนุษย์โรฮิงญาเป็นเรื่องที่กระทบกับไทยโดยตรงใช่หรือไม่? มีชาวโรฮิงญาพันกว่าคนที่เข้ามา เพราะฉะนั้นจะบอกว่าเราไม่ต้องสนใจคงทำไม่ได้ คนโรฮิงญาที่ต้องหนีตายก็ต้องข้ามมาฝั่งที่เขาเดินทางมาสะดวกที่สุด ซึ่งถ้าย้อนกลับไปมองเหตุการณ์เมื่อปี 2012 ชาวโรฮิงญาถูกกระทำความรุนแรงจนต้องหนีออกจากพื้นที่ในเมียนมา ต่อมาในปี 2015 เราก็เจอหลุมฝังศพ เจอเรือ เจอคนโรฮิงญาที่ถูกกักตัวเอาไว้ในบ้านเรา ก็อาจจะต้องรอดูว่าอีกสักสองสามปีจะเกิดอะไรขึ้น

+ คนไทยบางส่วนก็สงสารชาวโรฮิงญา มีการแชร์ข้อมูลการสังหารหมู่และการเสียชีวิตของชาวโรฮิงญาในโซเชียลมีเดีย แต่จะทำอย่างไรต่อไปกับความสนใจเหล่านี้

การที่คนไทยเห็นใจชะตากรรมชาวโรฮิงญาก็เป็นเรื่องทีดี แต่อยากให้พัฒนาไปมากกว่านั้น อยากให้เราคิดว่าจะทำอย่างไรได้อีกบ้าง การช่วยเหลือด้านมุนษยธรรมเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่เราจะทำอย่างไรให้แก้รากเหง้าของปัญหาได้ ซึ่งปัญหาหลักๆ คือความเป็นพลเมืองที่ถูกพรากออกไป เราพอจะถามผู้นำไทยได้หรือไม่ เพราะไทยกับพม่าก็เป็นสมาชิกอาเซียน ทำอย่างไรให้ประเทศสมาชิกอาเซียนช่วยกัน คิดว่าเมียนมาก็สนใจให้ความเคารพกับชุมชนอาเซียน แต่ทำอย่างไรเราถึงจะมีความผูกพันอย่างสร้างสรรค์ในชุมชน

+ เพื่อนบ้านในอาเซียนที่เป็นประเทศมุสลิมมีท่าทีชัดเจนต่อกรณีโรฮิงญา เช่น อินโดนีเซีย ที่ออกมาประท้วงรัฐบาลเมียนมา คิดว่าประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ รวมถึงไทย จะทำอะไรได้บ้าง

คงต้องดูในหลายมิติของความเป็นผู้นำ และความสัมพันธ์ของแต่ละประเทศที่มีต่อพม่า ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์ ก็เป็นประเทศหนึ่งที่เราน่าจะจับตามองว่าควรจะมีท่าทีอะไรหรือไม่ เพราะว่าสิงคโปร์เองก็มีความสัมพันธ์ในเชิงเศรษฐกิจกับพม่าเยอะมาก และสิงคโปร์ก็เป็นสมาชิกอาเซียน และมีเงิน แต่ที่เราเห็นบทบาทของอินโดนีเซียหรือมาเลเซียในระดับหนึ่ง รวมถึงประเทศไทยบ้าง สาเหตุหลักเป็นเพราะสามประเทศนี้คือประเทศที่จะต้องรองรับ แต่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนก็น่าจะต้องมีบทบาทเพิ่มขึ้นมาบ้าง อย่างบรูไน น่าจะต้องคิดว่าความสัมพันธ์ในเชิงเศรษฐกิจหรือในเชิงการเมืองจะทำอย่างไรได้บ้าง

สัปดาห์ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าคุณอองซานซูจี (ผู้นำพรรครัฐบาลและเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ) เงียบมาก แต่เหตุการณ์ปัญหามันจะแก้ไขได้ต้องอยู่ที่การขยับของผู้นำ แล้วถามว่าเราทำอะไรได้บ้าง เราก็อยากจะมีความหวังกับผู้นำของเราเช่นกัน ในการที่จะแสดงบทบาทนำในภูมิภาค ที่จะกระตุ้นเตือนประเทศเพื่อนบ้านของเราว่าทำอย่างไรจะช่วยกันแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดอย่างนี้ขั้นมาอีก ทำอย่างไรที่จะให้สิทธิพลเมือง ทำให้พวกเขาสามารถอยู่ได้ในประเทศของเขา ก็คิดว่าเป็นสารที่อยากจะส่งให้ผู้นำ 

+ ใน change.org มีการล่ารายชื่อถอดถอนรางวัลโนเบลคืนจากซูจี เพราะคนคาดหวังกับซูจีไว้สูงในฐานะผู้นำประเทศ แต่ผ่านมาเกือบสองปี ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมากนัก

โดยส่วนตัวไม่ได้มีความคาดหวังกับเธอสูงอยู่แล้ว เพราะมองคุณซูจีว่าเป็นผู้นำทางการเมือง ถ้ามองอย่างพยายามทำความเข้าใจ ก็น่าจะเป็นบทบาทที่อึดอัดเหมือนกัน เพราะว่า ถ้าเรามองสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมพม่าตอนนี้ มีเรื่องของโรฮิงญา ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ความเชื่อของศาสนาด้วย เพราะฉะนั้นซูจีเองคงจะมีความลำบากเหมือนกันว่าจะทำอย่างไรที่จะสร้างความสมดุล แต่ก็ยังคิดว่าความเป็นผู้นำ บทบาทผู้นำ ก็ยังต้องแสดงอยู่ เอาคำถามง่ายๆ ว่าผู้นำไม่ควรปล่อยให้พลเรือนของตัวเองถูกเข่นฆ่า ล้มตาย และต้องหนีออกจากประเทศ น่าจะวันละประมาณ 20,000 คนที่เดินเท้าออก เพราะฉะนั้น "ความเป็นผู้นำคือจะต้องคิดว่าจะทำยังไงถึงจะหยุดสิ่งเหล่านี้"

+ มีคนกล่าวว่าโรฮิงญาฆ่าประชาชนพม่าก่อน รัฐบาลก็เลยต้องปกป้องประชาชน เพราะฉะนั้น "อย่าชักศึกเข้าบ้าน" ด้วยการช่วยเหลือโรฮิงญา

ข่าวล่าสุดที่บอกว่ามีกลุ่มติดอาวุธบุกเข้าโจมตีจุดตรวจของตำรวจ มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต และถ้าเราตัดตอน มองเห็นเฉพาะเรื่องนี้ แต่วิธีแก้ปัญหาของรัฐบาลพม่าก็ไม่น่าจะเป็นการไปกวาดฆ่าพลเมือง แล้วบอกว่าทุกคนคือสมาชิกร่วมกับผู้ติดอาวุธ เพราะที่จริงจะต้องดูว่าใครเป็นผู้กระทำ และเชื่อว่ารัฐบาลเมียนมามีศักยภาพพอที่จะนำผู้กระทำผิดเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมได้ 

เราอาจจะได้รับสื่อหรือได้ยินข่าวเกี่ยวกับอิสลามที่เกี่ยวกับการก่อการร้าย ทำให้เราสรุปว่าเรื่องนี้จะต้องเชื่อมโยงกับเรื่องนี้ แต่คิดว่าจะต้องไปดูว่าความเป็นจริงคืออะไร แล้วเราจะแก้ปัญหาจากความจริงได้อย่างไร ซึ่งจากที่เราทำวิจัย ยังไม่เห็นข้อเชื่อมต่อที่ชัดเจน แต่สิ่งที่เราเห็นชัดเจน คือ "เมื่อสิทธิทางพลเมืองถูกพรากไป มันทำให้เกิดเหตุการณ์หลายอย่างตามมา" ทำไมก่อนปี 2012 ถึงไม่เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ หรือก่อนปี 1982 ไม่มีเหตุการณ์เหล่านี้? 

จากที่ได้คุยกับคนโรฮิงญาที่อยู่ที่นี่หลายๆ คน รวมถึงคนที่อยู่ชายแดนก็จะบอกว่าเมื่อก่อนเขาอยู่กันได้ และพื้นที่ในรัฐยะไข่ก็ไม่ได้มีเฉพาะมุสลิม แต่มีคนฮินดู พุทธ ทุกคนอยู่กันได้ แต่หลังจากปี 1982 ถึงเริ่มเกิดปัญหา อยากให้กลับไปดูที่รากของมันมากกว่า และไม่อยากให้มองเรื่องโรฮิงญาว่าเป็นเรื่อง "พุทธหรือไม่พุทธ" แต่อยากให้มองว่าเป็น "เรื่องของมนุษย์" ไม่ว่าใครก็ตาม คงไม่อยากเจอสถานการณ์แบบนี้ ถามว่าตัวเราอยากเจอไหม เราคงไม่อยากเจอ ถ้าเราเจอสถานการณ์นี้ เราคงต้องการอยากได้รับความช่วยเหลือตามสมควร 

+ ทำไมไม่เป็นหน้าที่ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในการช่วยเหลือโรฮิงญา

ยูเอ็นก็ทำหน้าที่ได้ในระดับหนึ่ง อย่างค่ายพักพิงผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่ค็อกซ์บาซาร์ในบังกลาเทศก็อยู่ในความดูแลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ ที่เข้าไปช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่ต้องยอมรับว่าปัญหาโรฮิงญาไม่ใช่เรื่องของศาสนา แต่เป็นเรื่องของมนุษยธรรม ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือโรฮิงญาเป็นมนุษย์ และเราต้องช่วยเหลือกัน

ในการรับโรฮิงญาเข้ามา โดยเฉพาะในไทย ต้องมีกรอบกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าหนีภัยสงคราม หนีการประหัตประหาร เข้าข่ายผู้ลี้ภัยแน่นอน แต่ไทยไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ก็ต้องช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกันไป และไม่ใช่ว่ารัฐบาลไทยจะต้องรับภาระเพียงฝ่ายเดียว แต่องค์กรระหว่างประเทศจะเข้ามาช่วยเหลืออยู่แล้ว

"ผู้ลี้ภัยไม่ได้จะอยู่กับเราตลอดไป ถ้าบ้านเขาปลอดภัย เขาก็จะกลับไป เราแค่ต้องช่วยคนที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น"

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
184Article
76559Video
0Blog