ไม่พบผลการค้นหา
ครูแคท นักจิตวิทยาและครูสอนภาษาอังกฤษชื่อดังแนะผู้ปกครองรีบเยียวยาเด็กที่ถูกข่มขืน ชี้ไม่ใช่เวลาถามหาคนผิด

ครูแคท นักจิตวิทยาและครูสอนภาษาอังกฤษชื่อดังแนะผู้ปกครองต้องรีบเยียวยาเด็กที่ถูกข่มขืน บอกไม่ใช่เวลาถามหาคนผิดอาจทำให้หัวใจเด็กล่มสลายกว่าเดิม ด้านสถาบันสุขจิตเด็ก ฯ ชี้หากเกิดเหตุข่มขืนในชุมชนควรรีบนำเด็กไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัยที่สุด ขณะที่มูลนิธิปวีณาเผยจากการเก็บสถิติ 17 ปีพบแนวโน้มเหยื่อที่ถูกข่มขืนมีอายุน้อยลง


เนตรปรียา ชุมไชโยหรือครูแคท นักจิตวิทยาให้คำปรึกษาได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าววอยซ์ทีวีถึงแนวทางการเยียวยาจิตใจเด็กที่ถูกข่มขืนว่า เด็กที่ถูกล้วงละเมิดทางเพศไม่ว่าจะเป็นเด็กหญิงหรือเด็กชาย ชีวิตเขาเหมือนถูกสาปเพราะความทุกข์ทรมานใจที่ฝั่งลงไปในความทรงจำระยะยาว 

ปมข่มขืนฝังลึกรู้สึกด้อยค่า

แม้เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่ยังเป็นปมที่เจ็บปวดมากและคอยปรากฏออกมาพร้อมกับความรู้สึกอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งความรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่าหรือแม้แต่ความรู้สึกผิดซึ่งจะติดตัวจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ทำให้พวกเขาไม่สามารถดำเนินชีวิตอย่างเต็มที่เพราะในใจลึก ๆ ยังมีคำถามว่า เขายังเป็นคนผิดอยู่หรือเปล่า ทำไมพวกเขาจึงถูกกระทำและกลายเป็นความรู้สึกที่เจ็บปวดติดตัวไปเป็นเวลานาน


ครูเคท บอกว่า เด็กส่วนใหญ่อาจถูกบุคคลในครอบครัวเป็นคนกระทำชำเราหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศจากบุคคลใกล้ชิด ขณะที่ส่วนหนึ่งถูกกระทำชำเราโดยบุคคลภายนอก และในหลาย ๆ กรณีที่เด็กมาบอกผู้ปกครองว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง ผู้ปกครองมักไม่เชื่อก่อนเสมอ ซึ่งในมุมมองของเด็กนั้นรู้สึกว่านี้คือเรื่องใหญ่ที่สุดในชีวิตของเขา แต่พอบอกกับคนที่ไว้ใจอย่างผู้ปกครอง กลับไม่เชื่อ ทำให้เขาสูญเสียความมั่นใจในตัวเองและมีความเก็บกดขึ้นมา

“หัวใจของเด็กคงแตกสลาย เด็กคงถูกขู่จากคนร้ายด้วย พอถูกขู่มาแล้วเด็กรู้สึกว่า หาที่พึ่งไม่ได้ เด็กก็จะเก็บกดไว้เอง และคนร้ายอาจจะบอกว่า อย่าไปบอกใครนะ เพราะถ้าบอกพ่อแม่ อาจจะไปฆ่าพ่อแม่ด้วย และด้วยความรักพ่อแม่หรือผู้ปกครอง ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นจากความกลัว” ครูเคทกล่าว


ครูเคทกล่าวเพิ่มเติมว่า บางคนอาจตั้งคำถามว่า ทำไมเวลามีปัญหาแล้วเด็กถึงยอมให้เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำไมไม่ลุกขึ้นมาสู้ ทำไมไม่ไปฟ้องคนอื่น เหตุผลก็คือว่า พวกเขาถูกขู่ว่าบุคคลที่รักที่สุดจะถูกทำร้าย และพอเด็กไปบอกพ่อแม่หรือผู้ปกครองแล้วไม่เชื่อ อาจคิดว่าเด็กคิดมากไปหรือเปล่า อาจจะคิดว่าบุคคลในครอบครัวหรือญาติใกล้ชิดหยอกล้อหรือเปล่าก็เลยทำให้เด็กสับสนและบางที่เขาก็เก็บกด

ปฏิเสธ-ปกป้องทำให้ศรัทธาเด็กล่มสลาย
 

ที่สำคัญการปฏิเสธของคนในครอบครัวหรือปกป้องเด็กมากเกินไปนั้นก็ทำให้ความเชื่อมั่นและความเชื่อถือศรัทธาของเด็กล้มสลายไปด้วยเพราะผู้ใหญ่อาจจะไม่เข้าใจ แต่เด็กมีความรู้สึกว่า ตัวเองเศร้าและทุกข์อย่างที่สุดแล้ว 


“เขากำลัง Crying for help แต่คนอื่นมาบอกว่า ไม่ใช่มั้ง หัวใจเด็กจะสลาย บางทีผู้ใหญ่ไม่ได้เข้าใจความเจ็บปวดเท่ากับที่เด็กเป็น แต่เด็กประสบการณ์ชีวิตเขาน้อย อะไรที่เกิดขึ้นนิดเดียว เป็นประสบการณ์ชีวิตที่ยิ่งใหญ่สำหรับเขา” ครูเคทกล่าว

พ่อแม่ควรเข้าใจ อย่าอับอาย


ในมุมมองของครูเคท พ่อแม่ผู้ปกครองมี 2 ประเภท คือ เข้าใจลูกและปลอบโยนลูก สามารถทำให้ลูกคลายความกังวลได้และทำให้ลูกรู้ว่า ลูกไม่ผิด ที่สำคัญคือต้องทำให้เด็กรู้ว่าเด็กไม่ผิดและเราถูกละเมิด เราต้องลุกขึ้นต่อสู้ ผู้กระทำความผิดจะถูกลงโทษ ถ้าครอบครัวเข้าใจอย่างนี้จะได้รับการแก้ไขปัญหาที่ดีมาก 


แต่ถ้าครอบครัวปฏิเสธ บางทีพ่อแม่เองมีความตกใจและอับอาย กลัวคนอื่นรู้ ถ้ารู้สึกอย่างนี้เด็กจะไม่ได้รับการช่วยเหลือที่ถูกทางหรือบางทีพ่อแม่อาจจะไม่ได้ตกใจ แต่มีความรู้สึกตรงกันข้าม คือ รู้สึกผิด ผิดที่ทำไมทิ้งลูกเอาไว้ พ่อแม่จะตกใจหรือรู้สึกผิดลึก ๆ และก็จะปฏิเสธ พอเหตุการณ์เกิดขึ้นบ่อย ๆ เพราะพ่อแม่ไม่ลงมือทำอะไรเลย เด็กก็ไม่รู้จะทำอะไร เพราะฉะนั้นเวลาที่มีคนมาหยอกล้อบ่อย ๆ ก็อาจจะพัฒนาจากการล่วงละเมิดธรรมดาเป็นการกระทำชำเรา


 “"ไม่ว่าเด็กจะพูดจริงหรือไม่จริง ให้เชื่อไว้ก่อนแล้วค่อยพูดคุย วิธีการพูดคุย ห้ามซักถามเลยว่า ทำไมเป็นอย่างนั้น แล้วเด็กจะตอบไม่ได้ เด็กจะงงมาก ให้ค่อย ๆ คุยว่าเกิดอะไรขึ้น เหมือนชวนคุย แล้วเด็กจะค่อย ๆ ให้ข้อมูลออกมา แต่หากไปตำหนิเด็กก็จะรู้สึกว่า พ่อแม่ไม่ได้อยู่ข้างเดียวกับเขา เด็กจะรู้สึกเก็บกด” ครูเคทกล่าว

ใช้ชีวิตตามปกติ อย่าห่างเหิน

อย่างไรก็ตาม ครูเคทบอกอีกว่า จากประสบการณ์ผู้ที่มาปรึกษาพบว่า ส่วนใหญ่พ่อมักทำใจไม่ได้ ขณะที่แม่จะมีความเข้าใจลูกสาวของตัวเองมากกว่า ส่วนพ่ออาจจะลงโทษตัวเองโดยไม่รู้ตัวบางทีมักมีคำพูดที่ผลักไปใส่ลูกของตัวเองและทำให้เกิดความห่างเหินขึ้นมา เพราะฉะนั้นพ่อกับแม่ต้องให้ความรักต่อลูกมาก และดำเนินชีวิตไปตามปกติซึ่งต้องย้ำว่าเด็กไม่ผิด คนกระทำผิดนั้นละที่มาหลอก ควรสอนให้เขาระวังตัว และให้ความมั่นใจกับเด็ก หากเกิดอะไรขึ้นให้บอกพ่อแม่ โดยที่พ่อแม่ต้องไม่ดุว่า แต่จะอยู่เคียงข้างเด็กเสมอ


“เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นแล้วต้องจำไว้เลยว่าต้องช่วยเหลือเยียวยา มิใช่เวลามาซักว่าใครถูกใครผิด” 

หากเกินเยียวยาควรพบจิตแพทย์

แต่หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาหรือให้คำปรึกษาเด็กได้ ครูเคทแนะนำว่า ควรพาเด็กไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อบำบัดอย่างต่อเนื่อง และควรมองว่าการบำบัดไม่ได้เป็นโรคจิต แต่เป็นการฟื้นฟูทางจิตใจซึ่งบางที่พ่อแม่อาจทำหน้าที่ไม่ได้ดีเนื่องจากมีอคติอะไรบางอย่าง

“เหยื่อเป็นเด็ก เป็นผ้าขาวบริสุทธิ์ อย่าซ้ำเติมเขาและให้ความเชื่อมั่นว่าทุกปัญหาแก้ไขได้” ครูเคทกล่าวย้ำ

ชี้สอบความจริงจากเด็กเป็นเรื่องยาก

ขณะที่ นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี กล่าวว่า ปัญหาของการช่วยเหลือเยียวยาเหยื่อที่ยากที่สุด คือขั้นตอนการสอบถามความจริงจากเด็ก ซึ่งมีความหวาดกลัวและรู้สึกผิดกับครอบครัว หากคนในครอบครัวที่เด็กไว้ใจกลับเป็นผู้ละเมิดเสียเอง รวมถึงขั้นตอนการส่งเด็กกลับไปให้แม่ดูแลก็เป็นเรื่องยากไม่แพ้กัน เนื่องจากแม่ไม่มีความพร้อมและความเข้าใจ อีกทั้งส่วนใหญ่เป็นคุณแม่วัยใส

พบแนวโน้มอายุเด็กถูกข่มขืนน้อยลง

จากการเก็บข้อมูลสถิตการร้องทุกข์กรณีถูกข่มขืนและกระทำชำเราตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบันพบว่า แนวโน้มเหยื่อที่ถูกข่มขืนมีอายุน้อยลง อีกทั้งโลกโซเชียลทำให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์และท้องแต่ไม่พร้อมมากขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาครอบครัวในเวลาต่อมา นอกจากนี้ยังพบว่า 70% ของผู้กระทำผิดคือพ่อเลี้ยง รองลงมาคือคนรอบข้าง ดังนั้นผู้ที่สามารถเยียวยาเหยื่อได้ดีที่สุด คือ "แม่" ที่เด็กให้ความไว้วางใจ

หากเกิดในชุมชน ต้องพาเด็กไปอยู่ที่ปลอดภัย
 

และหากเกิดเหตุการณ์ข่มขืนขึ้นในชุมชนและมีผู้ร่วมกระทำความผิดจำนวนมาก พ.ญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์แนะนำว่า ควรพาเด็กไปอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดให้ก่อน อย่างเช่น ให้ไปอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อตรวจดูว่าติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ มีบาดแผล หรือตั้งครรภ์หรือไม่ เพื่อให้เด็กมีความสงบทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเจ้าหน้าที่จากกรมสุขภาพจิตและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะเยียวยาสภาพจิตใจของผู้ที่ถูกกระทำชำเรา 


หลังจากนั้นประมาณ 1 – 2 อาทิตย์ เจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่อีกครั้ง เพื่อดูว่าชุมชนมีทัศนคติอย่างไร เนื่องจากเจ้าหน้าที่จะเป็นคนกลางเข้าไปพูดคุยและให้ชุมชนได้ระบายถึงความคิดต่าง ๆ โดยเฉพาะกรณีเกิดเหตุการณ์วิกฤตหมู่ เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติให้อยู่ร่วมกันได้ในอนาคต


นอกจากนี้ บทบาทของผู้ปกครองก็มีส่วนสำคัญเช่นกันในการประคับประคองจิตใจ รวมทั้งดูแลและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีกและหากยังเรียนหนังสืออยู่ บทบาทของครูและเพื่อนในการประคับประคองจิตใจก็มีส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน  โดยการยอมรับและมองว่าผู้ที่โดนกระทำไม่ได้มีส่วนผิดอะไรที่ทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น 

สำหรับคนในชุมชน ไม่ควรไปตราหน้าว่าคนนั้นทำผิดทำถูกเพราะต้องอยู่ในชุมชน หลาย ๆ กรณีต้องย้ายชุมชนหรือโรงเรียน เพราะรู้สึกอับอายเพราะทนแรงกดดันไม่ได้ ซึ่งคนในชุมชนต้องให้โอกาสและเฝ้าระวังไม่ให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมาอีก 


“เรามีกฎหมาย เรามีกลไกอยู่ แต่สิ่งที่ทำให้อึดอัดคับแค้นใจคือสิ่งที่เราพูดปากต่อปาก” พ.ญ.มธุรดา กล่าว

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
184Article
76559Video
0Blog