ผู้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ทั้งดาไลลามะ และมาลาลา ยูซาฟไซ เรียกร้องให้นางอองซานซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐเมียนมา ผู้เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาเดียวกัน ปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาอย่างมีมนุษยธรรม และเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงในรัฐยะไข่ ขณะเดียวกัน มีการโจมตีสถานทูตเมียนมาในอินโดนีเซีย ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการกวาดล้างชาวโรฮิงญา
ดาไลลามะ ผู้นำจิตวิญญาณชาวทิเบตและผู้นำศาสนาพุทธนิกายมหายานสายหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงในโลกตะวันตก ระบุว่านางอองซานซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐเมียนมา แสดงความรับผิดชอบทางจริยธรรมเพื่อยุติความขัดแย้งในรัฐยะไข่ของเมียนมา ที่มีการใช้กำลังอาวุธและความรุนแรงตอบโต้กันระหว่างกองทัพและกลุ่มชาวพุทธ เพื่อกวาดล้างชาวมุสลิมโรฮิงญาในพื้นที่ ส่งผลให้ชาวโรฮิงญากลุ่มหนึ่งจับอาวุธขึ้นตอบโต้ แต่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทั้งหมดคือพลเรือนทุกฝ่าย
ก่อนหน้า นี้ในเดือนเมษายน ดาไลลามะระบุว่าได้พบกับนางอองซานซูจี และได้สนทนากันเรื่องการยุติความรุนแรงในรัฐยะไข่ โดยดาไลลามะแนะนำให้นางซูจีพยายามลดความตึงเครียดระหว่างชาวพุทธและชาว มุสลิมโรฮิงญา ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และเป็นผู้ที่มีอำนาจในรัฐบาลเมียนมา แต่นางซูจีตอบว่าสถานการณ์ในพื้นที่รัฐยะไข่เป็นเรื่องซับซ้อนอย่างมาก
ดาไลลามะได้ออกมาเรียกร้องต่อนางซูจีอีกครั้งในวันนี้ (4 กันยายน) หลังจากที่เหตุการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่ปะทุขึ้นรอบใหม่ เป็นผลจากกองทัพเมียนมาและกลุ่มชาวพุทธใช้กำลังโจมตีและเผาบ้านเรือนชาว มุสลิมโรฮิงญา เพื่อตอบโต้ที่กองกำลังกู้ชาติโรฮิงญาอารกัน (ARSA) ก่อเหตุโจมตีสถานีตำรวจและค่ายทหารเกือบ 30 จุด และการใช้กำลังตอบโต้ของทั้งสองฝ่ายทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้พลัดถิ่นจำนวน มาก แต่ยังไม่อาจระบุจำนวนที่ชัดเจนได้ เพราะผู้สื่อข่าวและองค์กรระหว่างประเทศไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลเมียนมาให้ เข้าไปในพื้นที่
นอกจากนี้ ดาไลลามะกล่าวว่าพระสงฆ์ในเมียนมามีทัศนติเชิงลบต่อชาวมุสลิมโรฮิงญา จึงได้เตือนชาวพุทธในเมียนมาที่มีความคิดดังกล่าวให้ระลึกถึงพระพักตร์ของ พระพุทธเจ้า โดยระบุว่าเมื่อพระองค์ทรงปรากฎ พระองค์จะต้องปกป้องพี่น้องชาวมุสลิมโรฮิงญาอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ดาไลลามะเป็นผู้นำศาสนาพุทธนิกายมหายานสายหนึ่ง ซึ่งไม่ได้มีอิทธิพลในเมียนมามากนัก โดยผู้ที่นับถือศาสนาพุทธเถรวาทมีจำนวนมากที่สุดในเมียนมา และพระวิระทู ซึ่งเป็นพระสงฆ์ชาวพม่าคนสำคัญที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในนามกลุ่มมะบะต๊ะ เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนการใช้กำลังปราบปรามและกวาดล้างชาวโรฮิงญา
(ก่อนหน้านี้ มาลาลา ยูซาฟไซ เคยแถลงประณามทุกรัฐบาลที่ปิดกั้นเสรีภาพของประชาชน ซึ่งอ้างถึงกรณีที่จีนปฏิบัติต่อนักสิทธิมนุษยชน)
ส่วนมาลาลา ยูซาฟไซ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2014 ออกแถลงการณ์เรียกร้องนางซูจีให้ยุติความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา และมอบสัญชาติให้แก่ชาวโรฮิงญาและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่ยังเป็นคนไร้สัญชาติในเมียนมาโดยเร็ว ทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลปากีสถาน ซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดของเธอเอง เปิดรับผู้ลี้ภัยที่หลบหนีสงครามความขัดแย้งจากทุกพื้นที่ด้วย และมาลาลาระบุว่า "ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ฉันประณามการปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างน่าสลดใจและน่าละอายเช่นนี้มาตลอด ฉันยังคงรอคอยให้ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพอย่างอองซานซูจีทำแบบ เดียวกัน"
ด้านนายบอริส จอห์นสัน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ รวมถึงนายเรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ยังได้แถลงเรียกร้องให้นางซูจีและรัฐบาลเมียนมาใช้แนวทางเจรจาโดยสันติวิธี เพื่อยุติความรุนแรงในรัฐยะไข่ ซึ่งจะต้องรวมถึงการคุ้มครองชาวโรฮิงญาในฐานะพลเมืองเมียนมา และนายมาร์ซูดีเตือนว่า การใช้ความรุนแรงกวาดล้างชาวโรฮิงญาจนถึงแก่ความตายเป็นจำนวนมาก จะทำให้พี่น้องชาวมุสลิมทั่วโลกไม่พอใจและกราดเกรี้ยวมากยิ่งขึ้น
สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (3 กันยายน) สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงอินโดนีเซีย ถูกขว้างระเบิดขวดโจมตี ทำให้เกิดไฟไหม้ชั้น 2 ของอาคารหลังหนึ่งในสถานทูต แต่ไม่มีผู้บาดเจ็บ และตำรวจอินโดนีเซียระบุว่าจะเร่งสอบสวนเพื่อนำตัวผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดี อย่างเร่งด่วน และคาดว่าแรงจูงใจในการก่อเหตุครั้งนี้อาจเกี่ยวพันกับการปฏิบัติของรัฐบาลเมียนมาที่มีต่อชาวมุสลิมโรฮิงญา
(นางอองซานซูจี ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าประนีประนอมกับกองทัพเมียนมา แต่ไม่ปกป้องสิทธิมนุษยชน)
ทั้งนี้ องค์กรระหว่างประเทศด้านการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ประเมินว่าชาวโรฮิงญาหนีภัยความรุนแรงจากรัฐยะไข่ไปยังบังกลาเทศประมาณ 73,000 คนนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่นางซูจีกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่บางส่วนขององค์กรระหว่างประเทศให้การสนับ สนุนกลุ่มก่อการร้าย พร้อมทั้งปฏิเสธรายงานข่าวที่ระบุว่ามีการข่มขืนและฆ่าหญิงชาวโรฮิงญา โดยนางซูจีย้ำว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง แต่ไม่ได้ชี้แจงว่ามีการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วหรือไม่ อย่างไร
เรียบเรียงโดย: ตติกานต์ เดชชพงศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: